อาหารเสริมเด็ก วัย 1 ปีขึ้นไป สำคัญอย่างไร? พร้อมตัวอย่างเมนู
อาหารเสริมสำหรับเด็กวัย 1 ปีมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากนมแม่แล้ว เด็กๆ ควรได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ เพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามวัย ซึ่งความจริงแล้วการให้อาหารเสริมกับเด็กนั้น คุณแม่สามารถเริ่มต้นให้อาหารเสริมได้ตั้งแต่ อายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ในกรณีที่เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ อาจให้อาหารเสริมแก่ทารกได้ก่อน 6 เดือน แต่ไม่ควรให้อาหารเสริมก่อน 4 เดือน เพราะในช่วงระยะแรกนั้น นมแม่เพียงอย่างเดียว ก็มีสารอาหารครบถ้วน เหมาะกับวัยของเด็กทารกอยู่แล้ว
ความสำคัญของอาหารเสริมเด็กวัย 1 ปีขึ้นไป
ความสำคัญของอาหารเสริมโภชนาการเด็กวัย 1 ขึ้นไป ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้เพราะในช่วงวัย 1 ปีขึ้นไป อวัยวะแต่ละส่วนของเด็ก ๆ เริ่มที่จะยืด ขยาย และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับช่วงวัย ด้วยเหตุนี้นมแม่เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยอีกต่อไป คุณแม่ควรให้อาหารเสริมโภชนาการแก่ลูกน้อย ด้วยการเพิ่มอาหารหลัก 5 หมู่ (คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน) โดยเน้นหนักที่อาหารหลัก 3 มื้อ ซึ่งในแต่ละวันเด็กๆ วัยนี้จะใช้พลังงานในการเรียนรู้ ด้วยวิธีการเล่น และทำสิ่งต่างๆ เป็นจำนวนถึง 1,000 กิโลแคลอรีทีเดียว ซึ่งถ้าเด็กๆ ได้รับพลังงานจากสารอาหารน้อยกว่าพลังงานที่สูญเสียไป ก็จะทำให้ร่างกายของเด็กๆ เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นอาหารเสริมโภชนาการเด็กจึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ อาหารเสริมโภชนาการ ที่เด็กๆ ควรได้รับในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วย
ข้าว
ประมาณ 1 ทัพพี
เนื้อสัตว์
ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ช้อนโต๊ะครึ่ง
ไข่
ควรเพิ่มไข่เป็นหนึ่งในเมนูอาหารหลักในแต่ละมื้อด้วยเช่นกัน
บทความเกี่ยวกับเมนูไข่ที่น่าสนใจ >> เมนูไข่ ลูก 6 เดือน – 1 ขวบ ทำง่าย ได้รสอร่อย ได้ลูกฉลาด
ผักต่าง ๆ
เช่น ผักใบเขียว และผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ ฯลฯ ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ สลับกันในแต่ละมื้อ
ผลไม้ต่าง ๆ
เด็ก ๆ สามารถกินผลไม้ที่มีเนื้อนิ่ม เคี้ยวง่าย ได้หลากหลายชนิด เช่น อะโวคาโด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ องุ่น แตงโม กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ มะละกอสุก มะม่วงสุก สตรอว์เบอร์รี่ แก้วมังกร ฯลฯ โดยอาจให้เป็นอาหารว่าง หลังอาหารมื้อหลัก เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณแม่ควรให้ลูกน้อยดื่มนมเป็นอาหารเสริมอีกด้วย โดยในแต่ละวันเด็กๆ ควรดื่มนม (นมผงสูตร 3 ซึ่งมีส่วนผสมของสารอาหารโคลีน ดีเอชเอ และวิตามินบี 12 เพื่อช่วยในการพัฒนาการเจริญเติบโตของร่างกาย และสมอง) อย่างน้อยวันละ 600 cc. โดยอาจจะแบ่งเป็นระยะ 3 มื้อ มื้อละ 200 cc. เช่น ในตอนเช้าและบ่าย หลังการรับประทานอาหารมื้อหลักแล้ว และก่อนนอน เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ >> 8 เมนูอะโวคาโด สำหรับลูกวัย 6 เดือนขึ้นไป บำรุงสมอง และการมองเห็น
เมนูอาหารเสริม เด็กวัย 1 ปี ขึ้นไป
เมนูอาหารเสริมโภชนาการเด็กวัย 1 ปี ด้วยรักจากรสมือแม่ ที่วิธีการทำแสนจะง่ายดาย ไม่ยุ่งยาก แต่ลูกน้อยสามารถได้รับสารอาหารครบถ้วน มีตัวอย่างดังนี้
ข้าวสวย แกงจืดตำลึง + ผลไม้ต่างๆ + นม
เมนูนี้นอกจากลูกจะได้พลังงานจากข้าวแล้ว ยังได้แคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ได้วิตามินเอที่ช่วยในการมองเห็น และยังได้วิตามินซีที่ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟันได้ดีอีกด้วย ที่สำคัญ คุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมก็สามารถทานได้ค่ะ เพราะตำลึงมีส่วนช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมได้ดีอีกด้วยค่ะ
โจ๊กข้าวกล้อง ใส่ไข่ + ผลไม้ต่างๆ + นม
ลูกน้อยจะได้รับประโยชน์จากไข่ไปเต็ม ๆ ค่ะ ในไข่อุดมไปด้วยโปรตีน แคลเซียม โอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการการทำงานของสมอง
ซุปมักกะโรนีไก่ และไข่ + ผลไม้ต่างๆ + นม
นอกจากประโยชน์ที่ได้จากไข่แล้ว ลูกยังจะได้รับโปรตีนจากเนื้อไก่ ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้แข็งแรงค่ะ
ข้าวคลุกไข่ต้ม แกงจืด + ผลไม้ต่างๆ + นม
เมนูนี้คุณแม่อาจเติมผักนึ่งสุกอย่างแครอทหั่นเต๋าเล็กเพิ่มเข้าไปในข้าวก็ได้นะคะ เพราะในแครอทจะมีสารที่ช่วยบำรุงสายตาได้ดีค่ะ
ข้าวต้มปลา + ผลไม้ต่างๆ + นม
เมนูนี้ ลูกจะได้ทั้งโปรตีน และโอเมก้า 3 จากเนื้อปลา เป็นเมนูที่บำรุงสมอง และบำรุงสารสื่อประสาทในสมองได้ดีทีเดียว
ข้าวคลุกปลาทู แกงจืดไข่น้ำ + ผลไม้ต่างๆ + นม
เมนูที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 จากปลาทู และได้โปรตีน แคลเซียม ลูทีน โคลีน ฯลฯ จากไข่ เป็นเมนูที่เรียกได้ว่าบำรุงร่างกายลูกน้อยได้ครบถ้วนเลย
ผัดมักกะโรนีหมูหรือไก่ น้ำซุปผัก + ผลไม้ต่างๆ + นม
เมนูสำรองเผื่อลูกน้อยเบื่อข้าว แต่ยังได้ประโยชน์และสารอาหารครบถ้วนอยู่ค่ะ มีทั้งโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต
ข้าวสวย ผัดฟักทองใส่ไข่ น้ำต้มกระดูกไก่ (หรือหมู) + ผลไม้ต่างๆ + นม
ฟักทองเป็นอีกหนึ่งเมนูที่สามารถให้ลูกน้อยทานได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่จะต่างกันที่ความละเอียดและความหยาบของอาหารเท่านั้ ฟักทองโดดเด่นในเรื่องการบำรุงสายตา ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก และป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้
ข้าวสวย เนื้อปลาและผักนึ่ง + ผลไม้ต่างๆ + นม
เมนูที่เน้นการบำรุงสมอง เพราะจะได้โอเมก้า 3 จากเนื้อปลา และได้รับวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ จากผัก
ข้าวสวย ไข่ตุ๋น แกงจืด + ผลไม้ต่างๆ + นม
คุณแม่อาจเพิ่มแครอทหั่นเต๋า หรือเนื้อกุ้งหั่น ลงไปในเนื้อไข่ตุ๋นด้วยก็ได้ค่ะ ก็จะได้สารอาหารที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
เมื่อเจ้าตัวเล็กอายุย่างเข้า 1 ขวบปี ก็จะเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยการใช้มือสัมผัส หยิบ จับสิ่งของ และพบว่ามีอยู่บ่อยครั้งทีเดียว ที่คุณแม่กำลังจะป้อนอาหารให้ลูกน้อย เจ้าตัวเล็กกลับคว้าช้อนไปจากมือคุณแม่ และพยายามจะตักอาหารกินเองเสียอย่างนั้น ซึ่งนี่ถือเป็นโอกาสดี ที่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้การกินอาหารจากถ้วย หรือชาม โดยการตักอาหารกินเอง และเพื่อฝึกวินัยในการกินอาหารไปด้วยพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี สำหรับการเตรียมเมนูอาหารเสริมโภชนาการให้ลูกน้อยวัย 1 ปีขึ้นไป คุณแม่ไม่จำเป็นต้องบดอาหารให้ละเอียด แต่ควรให้อาหารมีความหยาบ เช่น ข้าวสวย ผักต้ม ผัดผัก ไม่จำเป็นต้องบด หรือปั่นให้ละเอียด เหมือนการให้อาหารเสริมแก่ทารกในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อฝึกให้เด็กๆ รู้จักการใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารด้วยตนเอง เป็นต้น
อ้างอิง meadjohnsonni.com, rakluke.com, beabathailand.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- 7 เมนูไข่ ง่าย ๆ สำหรับลูกน้อย อร่อยดี มีประโยชน์
- 6 เมนูไข่ ง่ายๆ สำหรับลูกวัย 3 ขวบขึ้นไป