สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่แม่ท้องทานได้ ข้อดี ข้อเสีย
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่มีความต้องการควบคุมอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีรสชาติออกหวานมาก ๆ เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปเยอะ ๆ เข้าจะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะที่ตั้งครรภ์ได้จึงต้องหันมาใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือเรียกอีกอย่างว่า “น้ำตาลเทียม” นั่นเองสารชนิดนี้เป็นสารที่นำมาใช้ทดแทนน้ำตาล สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มได้ แต่คุณแม่หลาย ๆ ท่านต่างก็มีความกังวลว่าสารที่นำมาใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นจะปลอดภัยต่อลูกในท้องหรือไม่ วันนี้เราข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากแม่ ๆ ค่ะ
สารให้ความหวาน คืออะไร?
สารให้ความหวาน (Artificial Sweetener) คือสารที่สามารถทดแทนความหวานจากน้ำตาลได้ ซึ่งเป็นสารที่ได้มาจากการสังเคราะห์และได้จากธรรมชาติ เป็นสารกลุ่มที่ให้พลังงานกับร่างการน้อยหรือไม่ให้พลังงานเลย ถูกนำมาใช้ปรุงแต่งอาหารเช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หมากฝรั่ง เป็นต้น
ชนิดของสารให้ความหวานทั่วไป
รู้หรือไม่ว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
แอสปาแตม (Aspartame)
รสชาติหวานกว่าน้ำตาล (ซูโครส) ประมาณ 180-200 เท่า ให้พลังงานต่อร่างกายเพียง 4 แคลอรี่ต่อกรัม ณ อุณหภูมิห้องจากให้รสหวานมากขึ้น เป็นสารกลุ่มไม่ทนความร้อนจึงไม่เหมาะกับอาหารที่ใช้ความร้อนสูง
ซูคราโลส (Sucralose)
ให้ความหวานประมาณ 600 เท่าของน้ำตาล และเป็นสารกลุ่มไม่ให้พลังงานกับร่างกาย (พลังงานเท่ากับ 0 แคลอรี่) เหมาะสำหรับการปรุงหรือเป็นส่วนผสมอาหารทุกชนิด
เอซีซัลเฟมเค (Acesulfame K)
ความหวานประมาณ 200 เท่าของน้ำตาล มีรสขมเล็กน้อยไม่ให้พลังงานกับร่างกาย
นีโอแตม (Neotame)
ให้รสชาติความหวานประมาณ 7000-13,000 เท่าของน้ำตาล ไม่ให้พลังงานกับร่างกาย
ไซลิทอล (Xylitol)
เป็นน้ำตาลกลุ่มแอลกอฮอล์ ให้พลังงานกับร่างกายน้อยกว่าน้ำตาลถึง 40% มักพบบ่อยในผลิตภัณฑ์หมากฝรั่ง ยาสีฟัน เป็นต้น
อิริทริทอล (Erythritol)
เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์เช่นเดียวกัน ให้พลังงานกับร่างกายน้อยมากคิดเป็น 0.24 แคลอรี่ต่อกรัม รสชาติกลมกล่อมใกล้เคียงกับน้ำตาล เหมาะกับปรุงอาหาร เครื่องดื่ม เบอเกอรี่ เป็นต้น
หญ้าหวาน (Stevia สตีเวีย)
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากธรรมชาติ ได้จากพืชหญ้าหวาน รสชาติหวานกว่าน้ำตาลถึง 350 เท่า และไม่ให้พลังงานกับร่างกายอีกด้วย
น้ำตาลหล่อฮั่งก้วย (Monk Fruit Sweetener)
อีกหนึ่งสารให้ความหวานจากธรรมชาติมีรสชาติหวานกว่าน้ำตาล 100-250 เท่ารองจากหญ้าหวาน และไม่ให้พลังงานเช่นเดียวกัน
5 สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่แม่ท้องทานได้
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็สามารถรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้เช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกชนิดที่คุณแม่สามารถทานได้ วันนี้เรามีสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล 5 ชนิดที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทานได้มาฝากกันค่ะ
Acesulfame-K (เอซีซัลเฟม เค)
อะซิซัลเฟม-เค เป็นน้ำตาลเทียมที่มีความเข้มข้นสูงมาก ๆ มักจะถูกนำไปทำเครื่องดื่มและของหวานไม่ว่าจะเป็นเบเกอรี่ ลูกอม หมากฝรั่ง ซึ่งอะซิซัลเฟม-เคเป็นสารที่มีความปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้
Sucralose (ซูคราโลส)
ซูคราโลส หรือที่ใคร ๆ รู้จักกันในนามน้ำตาลทรายที่ไม่มีแคลอรี่ ที่มีความปลอดภัยมาก ๆ คนท้องนิยมรับประทาน แต่ถ้าหากรับประทานจนมากเกินพอดีอาจจะทำให้ลูกพิการตั้งแต่กำเนิดหรือคุณแม่อาจจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
Stevia (สตีเวีย)
น้ำตาลหญ้าหวานเป็นสารที่ให้ความหวานที่คนลดน้ำหนักนิยมใช้ประกอบอาหาร ซึ่งแน่นอนว่ามีความปลอดภัยต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ควรใช้หญ้าหวานในรูปแบบที่ผ่านกรรมวิธีมาเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ควรใช้เป็นใบ เพื่อป้องกันระดับความสูงของน้ำตาลในเลือด
Aspartame (แอสปาแตม)
แอสปาร์แตม เป็นสารให้ความหวานที่นำไปประกอบอาหารและเครื่องดื่มให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานได้ เพราะไม่ส่งผลลงไปสู่ลูกในท้องและไม่ส่งผลต่อทารกที่อยู่ในช่วงทานนมแม่อีกด้วย
Saccharin (แซคคารีน)
ขัณฑสกรที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จัก ส่วนมากนิยมนำไปทำผลไม้แช่อิ่มมากกว่านำมาทำอาหาร ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีมีงานวิจัยตัวไหนออกมาบอกว่าสารที่ให้ความหวานอย่างขัณฑสกรมีความปลอดภัยต่อทารกหรือลูกในท้อง แต่คุณแม่ก็สามารถนำมาเป็นตัวเลือกเพื่อความหลากหลายในการปรุงอาหารได้
ข้อดี สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องลดน้ำตาลลง เพื่อเลี่ยงจากภาวะเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ จึงควรใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมาทำเป็นอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการให้ความหวานในแบบที่ไม่มีพลังงาน ทั้งนี้ ข้อดีของสารชนิดนี้ก็มีอยู่มากมายที่เป็นประโยชต่อคุณแม่ หลัก ๆ แล้ว ได้แก่
- ไม่ทำให้ฟันผุ
- ทนความร้อนได้ดีในบางชนิด
- หลีกเลี่ยงภาวะโรคเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์
ข้อเสีย สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
เมื่อสารให้ความหวานมีข้อดีอย่างหลากหลายแล้ว แต่ข้อเสียก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน ดังนี้
อาจมีรสขม
โดยส่วนมากแล้วถ้าหากใส่น้ำตาลเทียมลงไปในอาหารหรือเครื่องดื่มจนเยอะเกินไปจะทำให้เกิดเป็นรสชาติขมติดปลายลิ้นทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไปได้
สารเคมีตกค้าง
โดยเฉพาะสารชนิดแอสปาร์แตมมักจะไม่ทนความร้อนเมื่อโดนความร้อนเป็นเวลานานจะทำให้เกิดสารเคมีตกค้าง
ปวดศรีษะ
ซูคราโลสเมื่อทานมาก ๆ เข้าอาจจะทำให้คุณแม่ปวดศีรษะได้
อาจก่อให้เกิดมะเร็ง
หญ้าหวานเมื่อรับประทานเป็นเวลานานอาจเป็นสารก่อมะเร็ง
สารให้ความหวาน vs น้ำตาล ต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจสงสัยว่าระหว่างน้ำตาลและสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแตกต่างกันอย่างไรในเมื่อเป็นสารที่ให้รสชาติหวานเช่นเดียวกัน หากมองในเชิงลึกแล้วย่อมมีความต่างกันแน่นอน
น้ำตาล (Sugar)
มีทั้งน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น กลูโคส ฟรักโทส กาแล็กโทส และน้ำตาลโมเลกุลคู่ เช่น ซูโคส (น้ำตาลทราย) แลคโทส มอลโทส ต่างกันที่โครงสร้าง รสชาติหวานกลมกล่อม มักให้พลังงานสูงต่อร่างกาย และสะสมต่อในรูปของไขมันภายในร่างกาย
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Artificial sweeteners)
เช่นเดียวกันสารในกลุ่มนี้มีโครงสร้างทางเคมีต่างกันมีทั้งสารให้ความหวานไม่ให้พลังงาน เช่น แอสปาแตม สตีวีโอไซด์ (หญ้าหวาน) ซูคราโลส และสารให้ความหวานที่ให้พลังงานจำพวกน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น แมนนิทอล ไซลิทอล ซอร์บิทอล ส่วนมากจะมีรสชาติหวานกว่าน้ำตาลปกติ รสชาติหวานติดลิ้น บางชนิดมีรสขม และมักเป็นสารไม่ให้พลังงานกับร่างกาย
เปิดความลับสารให้ความหวานกับการสะสมไขมัน
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจข้องใจว่าตกลงแล้วสารให้ความหวานแทนน้ำตาลดีจริงหรือไม่ ทานแล้วไม่อ้วนร่างกายไม่นำไปสะสมต่อในรูปไขมันจริงหรือไม่ หากอ้างอิงจากงานวิจัยก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่เพราะรายงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก และจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Manitoba ยังกล่าวว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ไม่เต็มที่และสะสมไขมันส่วนเกินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามควรเลือกรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติเพราะมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่ามีประโยชน์มากต่อผู้ป่วยเบาหวาน
ดังนั้น หากจะรับประทานสารที่ทำหน้าที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลต้องศึกษาผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวให้ละเอียดก่อนเริ่มรับประทาน
คุณแม่หลายท่านที่กำลังตั้งครรภ์จำเป็นที่จะต้องลดปริมาณน้ำตาลในอาหาร เครื่องดื่ม และขนมลงไปบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโรคเบาหวานที่อาจจะเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ การเลี่ยงน้ำตาลแบบปกติมาใช้น้ำตาลเทียมคือสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างมาก แต่จะดีกว่าถ้าคุณแม่ฝึกควบคุมอาหารและลดน้ำตาลด้วยตัวเอง