น้ำคาวปลากี่วันหมด แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ ต้องพบแพทย์

น้ำคาวปลากี่วันหมด แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ
การคลอดและหลังคลอด

Last Updated on 2022 06 23

หลังคลอดสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ต้องเจอ และต้องหมั่นสังเกตตัวเองเป็นประจำทุกวันนั่นก็คือ ลักษณะของ “น้ำคาวปลา” ค่ะ แล้วน้ำคาวปลากี่วันถึงจะหมด ต้องดูแลตัวเองอย่างไรในขณะที่มีน้ำคาวปลาอยู่ แบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ และควรไปพบแพทย์ วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ

น้ำคาวปลา คืออะไร?

คือของเหลวที่ออกมาจากช่องคลอดหลังการคลอด โดยมีลักษณะเป็นเลือดปนน้ำเหลือง ประกอบไปด้วยน้ำคร่ำ น้ำเหลือง เลือด และสิ่งต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ในโพรงมดลูกที่หลุดออกมา ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่คลอดลูกแบบธรรมชาติจะมีปริมาณน้ำคาวปลามากกว่าคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด เนื่องจากแพทย์จะทำความสะอาดโพรงมดลูกให้ด้วย ปกติแล้วน้ำคาวปลาจะมีกลิ่นเหมือนประจำเดือนปกติ ไม่มีกลิ่นเหม็นนะคะ

น้ำคาวปลามีกี่ระยะ

ก่อนที่คุณแม่จะรู้ได้ว่าน้ำคาวปลากี่วันหมดหรือแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ คุณแม่จำเป็นที่จะต้องรู้พื้นฐานระยะของน้ำคาวปลากันสักหน่อยก่อนค่ะ ซึ่งจากข้อมูลของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ท่านได้อธิบายเกี่ยวกับระยะปกติของน้ำคาวปลา ว่าแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ดังนี้

น้ำคาวปลาแดง (Lochia Rubra)

น้ำคาวปลาแดงนี้จะออกมาตั้งแต่วันแรกหลังคลอด และจะอยู่นานประมาณ 3-5 วัน มีสีแดงคล้ำ ๆ เนื่องจากประกอบไปด้วยเลือด เมือก และเศษรกที่ตกค้างในโพรงมดลูก

น้ำคาวปลาเหลืองใส (Lochia Serosa)

จะต่อจากน้ำคาวปลาแดง เรื่อยไปจนถึงวันที่ 10 หลังคลอด โดยประมาณ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ จางลงเป็นสีน้ำตาลหรือสีชมพู แล้วก็จะค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลืองใส ซึ่งน้ำคาวปลาในช่วงนี้จะประกอบไปด้วยน้ำเหลือง เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเยื่อเมือก

น้ำคาวปลาขาว (Lochia Alba)

น้ำคาวปลาระยะนี้จะออกต่อจากน้ำคาวปลาเหลืองใสไปอีกจนถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งจะมีสีเหลืองขุ่นจนไปทางขาว ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดงที่น้อยลง แต่จะมีเม็ดเลือดขาว เมือก ไขมัน และเซลล์บุผนังช่องคลอดที่เพิ่มมากขึ้นแทน เมื่อมาถึงระยะนี้น้ำคาวปลาจะค่อย ๆ ลดลงจนแห้งสนิท

น้ำคาวปลากี่วันหมด

น้ำคาวปลากี่วันหมด

Cr. Photo mediqueandobyaf.wordpress.com

นับจากหลังคลอด คุณแม่จะมีน้ำคาวปลาในปริมาณทั้งหมด 200 – 500 มิลลิลิตร จากนั้นก็จะค่อย ๆ ลดลง จนหมดไป เมื่อแผลที่เกิดจากการเกาะของรกในโพรงมดลูกนั้นหายสนิท ปกติแล้วก็จะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ น้ำคาวปลาก็จะหมดไป จะมีบ้างในบางรายที่อาจมีน้ำคาวปลาหลังคลอดนานถึง 6 สัปดาห์ ของแม่โน้ตเองก็มีประมาณ 3 สัปดาห์นิด ๆ นะคะ

การดูแลตัวเองขณะมีน้ำคาวปลา

ในระยะที่คุณแม่หลังคลอดมีน้ำคาวปลา อยู่การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ หลัก ๆ ก็เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

ใช้ผ้าอนามัยชนิดใหญ่

ผ้าอนามัยชนิดใหญ่พิเศษนี้ทางโรงพยาบาลจะเตรียมให้เพราะเหมาะกับผู้หญิงหลังคลอดโดยเฉพาะ เนื่องจากในช่วงแรกนี้น้ำคาวปลาจะไหลออกมาค่อนข้างมาก ลักษณะจะคล้ายเลือด

หมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัย

เพื่อป้องกันการหมักหมม และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยเปลี่ยนทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง ซึ่งคุณแม่อาจจะพิจารณาจากปริมาณของน้ำคาวปลาที่ออกมาก็ได้ค่ะ ถ้าเยอะมากสามารถเปลี่ยนได้ทุก 2 ชั่วโมง

ล้างมือให้สะอาด

ก่อนการเปลี่ยนผ้าอนามัยชิ้นใหม่ ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ไม่ควรแช่ในอ่างน้ำ หรือว่ายน้ำ

การอาบน้ำสามารถทำได้ในคุณแม่ที่คลอดแบบธรรมชาติ โดยให้น้ำไหลผ่านไปตามปกติ แต่ไม่ควรแช่ในอ่างน้ำ หรือว่ายน้ำ ส่วนแผลฝีเย็บสามารถทำความสะอาดได้โดยใช้สบู่อ่อน ๆ และซับให้แห้ง ส่วนคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด ควรตัดไหมก่อนอาบน้ำ ยกเว้นว่าคุณหมอมีการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และอนุญาตให้อาบน้ำได้

ดูแลฝีเย็บให้แห้ง

หากคุณแม่คลอดแบบธรรมชาติ บางรายจะมีแผลฝีเย็บซึ่งไม่ว่าจะเป็นหลังอาบน้ำ หรือหลังการขับถ่าย ให้คุณแม่ซับให้แห้งนะคะ เพื่อป้องกันการอับชื้น และติดเชื้อ

ห้ามใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือถ้วยอนามัย

จนกว่าจะถึงรอบที่คุณแม่มีนัดตรวจกับคุณหมอหลัง 6 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากมดลูกและช่องคลอดยังไม่หายดี ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้

น้ำคาวปลาแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ และควรพบแพทย์

คุณแม่สามารถสังเกตตัวเองได้เบื้องต้นค่ะ ว่าน้ำคาวปลามีความผิดปกติหรือไม่ หากน้ำคาวปลามีความผิดปกติ จะมีลักษณะ ดังนี้

    • น้ำคาวปลามีปริมาณมาก ต้องเปลี่ยนทุก ๆ 1 ชั่วโมง
    • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นเน่า ปวดมดลูกมาก บางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของการติดเชื้อ
    • น้ำคาวปลามีลักษณะสีแดงสด ออกมาเป็นก้อนเลือด หรือมีลิ่มเลือดออกมาด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของน้ำคาวปลาที่ผิดปกติหลังคลอด อาจมีสาเหตุมาจากการกินยาขับเลือด จึงทำให้บางส่วนของรกที่ตกค้างในมดลูกหลุดออกมา หรือมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก และอาจเป็นไปได้ว่ามีความผิดปกติจากการแข็งตัวของเม็ดเลือด
    • คุณแม่อาจเห็นว่าก่อนหน้านี้น้ำคาวปลามีสีที่จางลงแล้ว แต่อยู่ดี ๆ ก็กลับมามีสีแดงสดอีก โดยเป็นระยะเวลาประมาณ 4 วัน หลังคลอด ซึ่งถึงแม้ว่าจะพักผ่อนได้เต็มที่แล้วก็ตาม
    • น้ำคาวปลายังคงออกมามาก โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดหรือจางลง พร้อมกับมีไข้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และหัวใจเต้นเร็ว เหมือนจะเป็นลม

ควรกินยาขับน้ำคาวปลาไหม

รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์ ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“มีหลายต่อหลายคนที่เชื่อว่าการกินยาขับน้ำคาวปลา คือ เป็นการช่วยขับของเสียออกมาให้หมด แต่มีคุณแม่หลายคนที่กินยาขับน้ำคาวปลาแล้วเกิดอาการตกเลือด บางรายถึงขั้นหมดสติ และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต”

น้ำคาวปลาจะเริ่มออกมาตั้งแต่คุณแม่คลอดลูกเสร็จ ทั้งนี้ คุณหมอและพยาบาลจะแนะนำให้เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อเป็นการขับเลือดหรือขับสิ่งต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ออกมาให้หมด ทั้งนี้ เมื่อคุณแม่ได้กลับไปพักที่บ้านแล้ว ก็ควรสังเกตตัวเองในทุกวันนะคะ ว่าน้ำคาวปลามีส่วนที่ผิดปกติอะไรหรือไม่ เพื่อที่จะได้ปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้อง

อ้างอิง siangtai.com, drsant.com, haarmor.com


Mommy Note

3,061,631 views

คุณแม่ลูกหนึ่ง ที่ใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบ "Tradigital" แบบดั้งเดิมผสมผสานกับความดิจิทัลในยุคปัจจุบัน เน้นเลี้ยงลูกให้เป็นคนธรรมดาที่มีสุข ติดต่องานได้ที่ e-mail : simplymommynote@gmail.com

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save