จังหวะชีวิต (Rhythm of Life) คืออะไร ทำให้ลูกเลี้ยงง่ายจริงหรือ

จังหวะชีวิต (Rhythm of Life) คืออะไร ทำให้ลูกเลี้ยงง่ายจริงหรือ
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 11 24

มีคุณพ่อคุณแม่บางท่านสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากตนเองไม่สามารถเลิกงานกลับบ้านเพื่อเจอลูกได้ตรงเวลา จะส่งผลอะไรกับลูกหรือไม่ หรือคำถามเกี่ยวกับการที่ลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก งอแง วีนเหวี่ยง สามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง ทำให้กิฟท์นึกถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะถือเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตเด็กทุกคน หากได้เรียนรู้และคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ลูกจะกลายเป็นเด็กที่มั่นคงขึ้น และพูดคุยเหตุผลได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ นั่นคือเรื่องของการรักษาจังหวะชีวิต (Rhythm of Life) ในชีิวิตประจำวันนั่นเอง จะเป็นอย่างไรนั้นวันนี้กิฟท์มีข้อมูลมาฝากค่ะ

จังหวะชีวิต (Rhythm of Life) คืออะไร

จังหวะ (Rhythm) ถือเป็นพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ เรามักจะพบจังหวะได้ในทุก ๆ วัฏจักรรอบตัว ตั้งแต่การเกิดกลางวัน – กลางคืน การเกิดฤดูกาล การเกิดน้ำขึ้น-น้ำลง การเต้นของหัวใจ การเดิน หรือในบทเพลงจะเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีความถี่ มีเรื่องของเวลา (Timing) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซ้ำ ๆ และในชีวิตประจำวันของคนเราก็มีจังหวะเช่นกันค่ะ  เราเรียกว่า จังหวะชีวิต (Rhythm of Life) จะทำให้เรารู้ว่าต้องเปลี่ยนกิจกรรม หรือดำเนินชีวิตไปด้วยความเร็วที่คงที่แบบไหน ช้า เร็ว หนัก หรือเบา ในแต่ละวัน ซึ่งควรมีความสอดคล้องกับจังหวะของธรรมชาติด้วยค่ะ เช่น

  • พระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า : เป็นเวลา ตื่นนอน อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหารเช้า
  • ช่วงสายที่แดดยังไม่ร้อนมาก : เป็นเวลา วิ่งเล่น ทำงาน
  • ตอนเที่ยงที่พระอาทิตย์อยู่กลางศีรษะ : เป็นเวลา ทานอาหารเที่ยง
  • พระอาทิตย์เริ่มตกดิน : เป็นเวลา กลับเข้าบ้าน อาบน้ำ เตรียมเข้านอน เป็นต้น

จังหวะชีวิตส่งผลดีอย่างไร ต่อลูก

เพราะจังหวะชีวิตของแม่และลูกอาจต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้ลูกกับคุณแม่มีจังหวะที่สอดคล้องกัน เหมือนนักดนตรีที่เล่นเพลงด้วยกันแล้วเพลงนั้นฟังไพเราะลื่นหู เพราะหากลูกเป็นเด็กที่มีจังหวะชีวิตที่ดีจะส่งผล ดังนี้

มีสุขภาพที่ดี

เด็กที่มีจังหวะชีวิตที่ดีจะรู้จักเวลาที่สำคัญของตนเอง คือ เวลากิน เวลานอน เวลาตื่น และเวลาขับถ่าย ทุกกิจกรรมในแต่ละวันจะสอดประสานไปในแนวทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอและราบรื่นค่ะ กล่าวคือหากลูกได้เล่นดีจะทำให้นอนหลับได้ดี หากกินข้าวได้ดีก็จะขับถ่ายได้ดีด้วยเช่นกันค่ะ

เป็นเด็กที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ)

เด็กที่รู้จักจังหวะชีวิตของตัวเอง จะสามารถคาดเดาลำดับเหตุการณ์ต่อไปที่เกิดขึ้นได้ จึงส่งผลให้ไม่หวาดกลัว ไม่วิตกกังวล สามารถพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่เขาสนใจได้อย่างมีความสุข แต่ในทางกลับกันเด็กที่ไม่มีตารางเวลาที่แน่ชัด คุณพ่อคุณแม่ยังจัดกิจกรรมของตัวเองและของลูกได้ไม่นิ่ง ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายใจ ไม่มั่นคง คาดเดาเหตุการณ์ไม่ได้ วิตกกังวลใจ จนอาจส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กได้ เช่น วันนี้งอแงมากกว่าปกติอาจเพราะเริ่มง่วงนอนมาก วิ่งซนไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองสนใจเพราะเกิดจากความเหนื่อยสะสม เนื่องจากไม่มีตารางการนอนที่แน่ชัดทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

เป็นคนที่จัดการกับชีวิตได้ดี

เด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่มีจังหวะชีวิตที่ดี จะทำให้เด็กสามารถมองภาพต่าง ๆ ได้เป็นลำดับขั้นตอน และเห็นความสำคัญของการจัดสรรเวลา ทำให้เมื่อโตขึ้นสามารถจัดการกับภาระงานหรือปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีจังหวะชีวิตค่ะ

จังหวะชีวิตส่งผลดีอย่างไร ต่อพ่อแม่

เมื่อลูกมีจังหวะชีวิตที่ดีแล้วก็จะส่งผลดีต่อคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน คือ

จัดสรรเวลาได้

เมื่อเด็กมีจังหวะเวลาของตัวเองในแต่ละวันแล้ว จะส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงคนอื่น สามารถจัดลำดับงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบอย่างอื่นได้สะดวกขึ้น เช่น งานบ้าน พักเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ โดยที่สามารถคำนวณเวลาได้ว่าจะต้องจัดการให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่

รู้สาเหตุของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์

คุณพ่อคุณแม่จะสามารถค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กได้ง่ายขึ้นด้วยการคาดเดาจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติไปจากวันอื่นๆ เช่น วันนี้ไปส่งลูกที่โรงเรียนกับคุณตาคุณยายที่มาเยี่ยมจากต่างจังหวัด แล้วลูกงอแงไม่ยอมเข้าห้องเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็อาจคาดเดาได้ว่าอาจเป็นเพราะวันนี้มีคุณตาคุณยายมาส่งด้วย ซึ่งปกติจะมีแค่แม่และน้องที่มาส่ง ลูกจึงรู้สึกว่าทำไมไม่ได้กลับไปเล่นที่บ้านกับคุณตาคุณยายเหมือนน้อง หรือเมื่อคืนคุณพ่อกลับบ้านดึกไม่ได้อ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง ตื่นเช้ามาลูกจึงงอแงอารมณ์ไม่ดีเมื่อเห็นหน้า ก็ทำให้คุณพ่อคาดเดาสาเหตุได้บ้าง เป็นต้น

จัดการกับความรู้สึกของลูกได้ง่ายขึ้น

เมื่อทุกคนในครอบครัวมีจังหวะชีวิตที่สอดคล้องกัน จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าจะต้องดูแลลูกและความรู้สึกของลูกอย่างไร หากมีกิจกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนกระทันหัน เช่น วันนี้คุณพ่อต้องประชุมงานอาจกลับบ้านดึก ซึ่งปกติต้องกลับมาทานข้าวเย็นด้วยกันทุกวัน คุณพ่อก็จะรู้ว่าต้องแจ้งให้ลูกรู้ล่วงหน้า ส่วนคุณแม่ก็จะได้ช่วยเน้นย้ำกับลูกว่าวันนี้พ่อไม่ว่างแต่พรุ่งนี้ทุกอย่างจะกลับมาปกติเหมือนเดิม ตัวเด็กเองก็จะรอ และรู้ว่าพรุ่งนี้ทุกอย่างจะลงจังหวะแบบเดิม ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง และไว้วางใจพ่อแม่

ผู้อื่นปรับตัวเข้ากับจังหวะชีวิตของเด็กได้ง่าย

หากคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับญาติให้ช่วยดูแลในบางวันเมื่อติดธุระ ก็สามารถทำได้สะดวกมากขึ้น เพราะเด็กที่รู้จักจังหวะชีวิตของตัวเองจะทำให้ผู้ดูแลคนอื่นปรับตัวเข้ากับเด็กได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมด เมื่อถึงเวลาก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้เด็กได้ทำกิจกรรมนั้น ๆ ได้ง่าย เด็กเองก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่คนอื่นเข้าใจจังหวะของตัวเอง

วิธีสร้างจังหวะชีวิตที่ดีให้ลูก

คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสร้างจังหวะชีวิตให้ลูกได้ตั้งแต่แรกคลอด โดยค่อย ๆ สร้างจังหวะเวลาที่สม่ำเสมอให้กับลูกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  ดังนี้ค่ะ

จัดเวลากิจกรรมหลักของลูก

กิจกรรมหลักของลูกคือ กิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกวัน เช่น การตื่นนอน การกิน การนอนกลางวัน การเข้านอนตอนกลางคืน  และการอาบน้ำ เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ควรจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นเวลาที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้ และจดจำ จะทำให้ลูกสามารถจับจังหวะของตัวเองได้  ส่งผลให้งอแงน้อยลง พูดจาต่อรองกันได้ง่ายขึ้น

จัดกิจกรรมรองให้ลูก

กิจกรรมรอง ก็คือ กิจกรรมอื่น ๆ ที่ครอบครัวมักจะทำร่วมกัน แต่ความถี่น้อยกว่ากิจกรรมหลัก เช่น ออกไปเที่ยวนอกสถานที่ใกล้บ้านด้วยกันทุกวันเสาร์   ไปจ่ายตลาดด้วยกันอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เป็นต้น กิจกรรมรองเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถจัดให้มีความถี่ที่สม่ำเสมอได้เช่นกันค่ะ อาจจะไม่ต้องตายตัวมากเหมือนกิจกรรมหลัก แต่ก็สามารถสอดแทรกเข้าไปในตารางกิจกรรมรายสัปดาห์ หรือรายเดือนให้ลูกได้เห็นความหลากหลายของการจัดสรรเวลาของครอบครัวร่วมกัน เช่น เมื่อขนมในตะกร้าใกล้หมดแล้ว ลูกก็จะคาดเดาว่าใกล้จะถึงเวลาได้ออกไปเลือกซื้อขนมนอกบ้านแล้ว หรือวันนี้ต้องรีบทานข้าว อาบน้ำเร็วหน่อย เพราะจะต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกัน ได้ความไว้วางใจในสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ และได้ทั้งการฝึกจัดการตัวเองให้ทันเวลา ลูกจึงเกิดความรู้สึกมั่นใจและมั่งคงทำให้พัฒนาพลังชีวิตที่ดีได้ค่ะ

พ่อแม่ร่วมกันรักษาจังหวะเวลา

อย่างน้อยภายในบ้านควรจะมีการรักษาจังหวะเวลาของกิจกรรมหลักให้สม่ำเสมอ และมีลำดับขั้นตอนของแต่ละกิจกรรมสักเล็กน้อย เพื่อที่ลูกจะได้สังเกต และสามารถเตรียมความพร้อมของตัวเองเพื่อเข้าสู่กิจกรรมถัดไป เช่น ก่อนทานข้าว จะต้องล้างมือ ช่วยกันจัดโต๊ะอาหาร หรือก่อนเข้านอนจะต้องแปรงฟัน อ่านนิทาน เป็นต้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน มีผู้ดูแลคนอื่นช่วยเลี้ยงลูกให้ในระหว่างวัน การตรงต่อเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ เพราะลูกจะรู้สึกรอคอยเวลาเหล่านั้นเพื่อเจอคุณพ่อคุณแม่ให้ทำกิจกรรมร่วมกันก่อนเข้านอนได้ค่ะ

การจัดตารางเวลา และรักษาจังหวะชีวิตสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกเกิด เรื่อยไปจนถึงวัยลูกเข้าโรงเรียน หากคุณพ่อคุณแม่ทำได้สม่ำเสมอจะพบว่าลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย รู้เวลา และพูดคุยด้วยเหตุผลได้ง่ายขึ้นค่ะ กิฟท์เข้าใจว่าบางครั้งการที่ออกไปทำงานนอกบ้านเป็นเรื่องยากมากที่จะควบคุมเวลากลับบ้านให้ตรงเวลา กลัวว่าจะไม่มีเวลาคุณภาพให้ลูก เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างอื่นหลายอย่าง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่ามันส่งผลสำคัญอย่างไรกับลูก เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำมันได้สำเร็จค่ะ


Mommy Gift

154,515 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save