กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก พ่อแม่ทำได้ สไตล์วอลดอร์ฟ (Waldorf)

กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก พ่อแม่ทำได้ สไตล์วอลดอร์ฟ (Waldorf)
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 11 13

เมื่อทารกแรกเกิดและเติบโตขึ้น จนใกล้จะถึงวัยที่ต้องเข้าเรียน สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมฝึกให้กับลูกนั่นก็คือ การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งได้แก่ กล้ามเนื้อมือ รวมไปถึงนิ้วเท้า เพราะเมื่อลูกเข้าสู่วัยเข้าเรียนจะมีการใช้กล้ามเนื้อมือที่เยอะมาก เพราะหากกล้ามเนื้อมือของลูกแข็งแรง เขาจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีในการทำกิจกรรมประจำวันอย่างการแปรงฟัน การสวมเสื้อผ้าด้วยตัวเอง การเก็บที่นอน ตลอดจนเรื่องของการเขียนเมื่ออยู่โรงเรียน แล้วการเรียนการสอนในสไตล์ของวอลดอร์ฟนั้น เขามีแนวคิดอย่างไร วันนี้กิฟท์มีข้อมูลมาฝากค่ะ

แนวทางการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) คืออะไร?

แนวทางการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) เป็นหนึ่งในหลาย ๆ แนวทางการสอนของโรงเรียนในระดับปฐมวัย ได้แก่ การสอนแบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori), การสอนแบบไฮสโคป (Hi/Scope), การสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) ฯลฯ ซึ่งการสอนแบบวอลดอร์ฟ จะเน้นไปที่กิจกรรมโดยเน้นการทำกิจกรรมธรรมชาติกลางแจ้ง สลับกับกิจกรรมในห้องเรียน

จุดเด่นของการสอนแบบวอลดอร์ฟ คือ
การเน้นให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ มีชีวิตที่สนุกเรียบง่ายไปกับธรรมชาติ กลมกลืนกับธรรมชาติ โดยผ่านกิจกรรม 3 อย่าง ได้แก่ กิจกรรมด้านร่างกายผ่านอารมณ์ความรู้สึก ผ่านการคิดวิเคราะห์ เน้นให้เด็กได้ใช้พลังงานในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ ด้านสติปัญญา และด้านการลงมือปฏิบัติอย่างเหมาะสม

ทักษะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Skills) คืออะไร?

กล้ามเนื้อมัดเล็กจะอยู่บริเวณตั้งแต่ข้อมือลงมา ฝ่ามือจนไปถึงนิ้วแต่ละนิ้ว รวมไปถึงเท้าและนิ้วเท้าด้วย ดังนั้นทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กในเด็ก จึงเป็นการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ต้องใช้สมองของเด็กในการควบคุมให้เกิดการทำงานที่ประสานกันระหว่างการกระทำและสิ่งที่เด็กมองเห็นได้อย่างแม่นยำ ทักษะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กจะเริ่มพัฒนาเมื่อเด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในมือ นิ้วมือ เท้า และนิ้วเท้าในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คว้า จับ กด หรือหยิบด้วยการใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ 2 นิ้ว ซึ่งทักษะนี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กอย่างมากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การถือช้อนกินข้าว การจับดินสอเขียน การติดกระดุมเสื้อผ้า การผูกเชือกรองเท้า การโยน-รับบอล หรือการเล่นตัวต่อกับเพื่อน เป็นต้น

ทักษะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กสำคัญอย่างไร

หากเด็กไม่ได้รับการฝึกทักษะนี้อย่างเหมาะสม กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กก็จะไม่แข็งแรง ส่งผลต่อความสามารถในการพัฒนาทักษะการดูแลตนเองและความเป็นอิสระ ตลอดจนเรื่องผลการเรียนของเด็กด้วย ในระยะยาวเมื่อถึงวัยเข้าเรียนอาจทำให้เด็กมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น เขียนช้า เขียนไม่ตรงบรรทัด ตัวหนังสือไม่สวย และไม่ยอมจดการบ้าน เป็นต้น เมื่อเขียนลำบากก็ส่งผลให้ไม่ชอบเรียน ต่อเนื่องไปถึงสภาพจิตใจของเด็กที่ต้องถูกคุณครูดุหรือจ้ำจี้จ้ำไชหลาย ๆ ครั้ง จนรู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง และอาจส่งผลให้เด็กไม่อยากเรียน หนีโรงเรียน ติดเกม ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปเรื่อย ๆ จนอาจกลายเป็นปัญหาที่บานปลายได้ค่ะ

สังเกตอย่างไรว่าลูกมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ไม่แข็งแรง

ไม่ถนัดกิจกรรมที่ใช้มือ

เช่น วาดรูป ระบายสีแล้วเมื่อยมือ ใช้กรรไกรไม่คล่อง เป็นต้น

หันไปสนใจกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ทักษะมือมาก

เช่น ดูทีวี เล่นแทปเลต

ทำของตกบ่อย ๆ

มือไม่มีแรง ถือของอะไรได้ไม่นาน

คว้า หยิบ จับของชิ้นเล็กไม่ถนัด

เช่น ลูกปัด กระดุม เป็นต้น

ลายมือไม่สวยจนอ่านไม่ออก

เขียนหนังสือช้า ไม่ชอบเขียนหนังสือเพราะรู้สึกเมื่อยมือ

มักให้คนอื่นช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน

เช่น รับประทานอาหาร แต่งตัว และแปรงฟัน เป็นต้น

กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก

คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูลูก เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ง่ายๆ ที่บ้าน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อของเล่นราคาแพงให้ยุ่งยากแถมยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกๆได้อีกด้วย ผ่าน แนวคิดของ ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ และแม่ครูอนุบาล ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก ด้วย 3 กิจกรรมหลักภายในบ้าน ดังนี้ค่ะ

งานบ้าน

กิจกรรมที่เกี่ยวกับงานบ้านนั้นส่วนใหญ่ต้องใช้มือทำทั้งสิ้น หากพ่อแม่ทำเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว ลูกที่อยู่ในบ้านก็จะได้มองคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่างอยู่ทุกวัน จึงแน่นอนว่าลูกอาจจะอยากเลียนแบบและลองทำบ้างในสักช่วงจังหวะหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วงชิงจังหวะนี้เปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมทำงานบ้านไปด้วยกันได้นะคะ เช่น ล้างจาน ถูพื้น กวาดบ้าน หรือซักชุดชั้นใน เป็นต้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงต้องทำใจยอมรับว่ามันอาจจะไม่สะอาดเท่าที่คาดหวัง ใช้เวลานานขึ้น และเหนื่อยกว่าเดิม แต่หากเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วย นอกจากลูกจะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานกันของมือและสายตา (Hand-Eye Coordination) แล้ว ก็ยังสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับลูก และสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างกันได้อีกด้วยค่ะ

งานสวน

กิจกรรมงานสวนเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่น่าสนุกมาก ๆ สำหรับเด็ก ทั้งได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และเด็ก ๆ ก็จะได้สัมผัสกับต้นไม้ ใบหญ้า และดินชนิดต่าง ๆ เท้าได้ย่ำลงบนพื้นดิน ในขณะที่พ่อแม่ทำงานสวน รดน้ำ พรวนดิน ปลูกต้นไม้ ถอนหญ้า เด็ก ๆ ที่ได้ลงมือช่วยขุดดิน เล่นน้ำ ขยำดินอย่างเมามันอยู่นั้น ส่งผลให้นิ้วทั้ง 10 นิ้วของเด็กได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเป็นอิสระ สมองส่วนที่รับผิดชอบนิ้วมือทั้งสิบที่มีขนาดใหญ่อยู่แล้วนั้นก็จะยิ่งขยายขนาด และปริมาณของเส้นใยมากขึ้นและซับซ้อนขึ้นด้วยค่ะ

งานครัว

กิจกรรมงานครัวนั้นไม่ได้หมายถึงการทำกับข้าว หรือทำขนมในครัวเท่านั้นนะคะ แต่ยังรวมไปถึงงานครัวเรือนของชุมชนรอบตัวเด็ก ๆ แต่ละบ้านในชุมชมก็จะมีความโดดเด่นและความชำนาญที่ไม่เหมือนกัน บางบ้านอาจจะประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา ระบายสีผ้าบูติค กวนกาละแม หรือเย็บปักถักร้อย เด็ก ๆ ก็สามารถที่จะเข้าไปขอเรียนรู้ ฝึกทำกิจกรรมตามความสามารถในแต่ละช่วงวัย ทำให้ได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก และยังเป็นการเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนอีกด้วยค่ะ

การชักชวน และเปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้าน ถือเป็นการสร้างเวลาคุณภาพร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว เป็นประโยชน์ทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจของลูก กิจกรรมงานบ้าน งานสวน งานครัว สามารถส่งเสริมความมั่นใจในตัวเองของลูกได้ เพราะลูกจะรู้จักตัวเองมากขึ้น ได้สังเกตตัวเองในระหว่างการทำงาน และรู้สึกว่าตัวเขาเองสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งถือเป็นพลังที่ดีที่ลูกสามารถนำไปใช้ได้ในอนาคตค่ะ


Mommy Gift

143,170 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save