เลี้ยงลูกคู่กับสัตว์เลี้ยงดีจริงหรือ?

เลี้ยงลูกคู่กับสัตว์เลี้ยงดีจริงหรือ?
ไลฟ์สไตล์

การเลี้ยงลูกคู่กับสัตว์เลี้ยงจะดีจริงหรือ?…คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัย และตั้งคำถามกับประสบการณ์ใหม่นี้ เมื่อเจ้าตัวเล็กร้องขออยากได้น้องหมา หรือน้องแมวสักตัวมาเลี้ยงที่บ้าน ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า การมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้านจะทำให้คนในครอบครัวมีสุขภาพจิตที่ดี มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีการเลี้ยงสัตว์เลย ทั้งนี้เพราะการมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้านจะช่วยสร้างบรรยากาศของครอบครัวให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และกิจกรรมสนุกๆ ที่ทุกคนในครอบครัวได้กระทำร่วมกัน โดยมีเจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรู้ร่วมด้วย นั่นเอง

7 ข้อดี การเลี้ยงลูกให้คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า น้องหมา น้องแมว (รวมถึงน้องกระต่าย น้องนก น้องกระรอก และน้องๆ สายพันธุ์อื่นๆ)นอกจากจะเป็นเพื่อนคลายเหงา คอยเคล้าเคลียร์ให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ได้มีความสุขแล้ว น้องๆ สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ยังมีคุณประโยชน์ต่อลูกน้อยอย่างแทบไม่น่าเชื่อทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

สอนให้เด็กมีความรับผิดชอบ

เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจบอกกับลูกๆ ว่า ลูกจะเลี้ยงน้อง (หมา, แมว, กระต่าย หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่ลูกชอบ) ก็ได้นะ แต่ลูกจะต้องให้อาหาร คอยให้น้ำ อาบน้ำ และดูแลไม่ให้น้องๆ เหล่านั้นทำสกปรกด้วยนะ (ซึ่งสำหรับเด็กเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่อาจคอยช่วยอยู่ใกล้ๆ ไม่ทิ้งให้ลูกน้อยต้องแบกภาระเพียงลำพัง เพราะงานนี้อาจใหญ่เกินไปสำหรับเจ้าตัวเล็ก ที่ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ก็เป็นได้)

ช่วยคลายเหงา

เป็นเพื่อนเล่นในยามว่าง ทั้งนี้เพราะสัตว์เลี้ยงนับเป็นเพื่อนเล่นที่ดีต่อใจของลูกน้อยเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เด็กๆ เรียนรู้การปฏิบัติตนต่อผู้อื่น การรู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้วิธีที่จะประนีประนอม หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งนับเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า “สอน โดยไม่ต้องสอน” นั่นเอง

ช่วยพัฒนาทักษะของลูกน้อย

โดยเฉพาะด้านทักษะการสื่อสาร เนื่องจากเด็กๆ จะไม่รู้สึกเคอะเขิน หรือตื่นกลัวต่อการพูดกับสัตว์เลี้ยง เหมือนกับการที่เขาต้องพูดกับผู้ใหญ่ หรือคนแปลกหน้า และในบางครั้งเด็กเล็กๆ ก็มักจะชอบอ่านหนังสือให้สัตว์เลี้ยงของเขาฟัง โดยไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะอ่านผิด หรือกลัวการถูกตำหนิ (มิหนำซ้ำเจ้าสัตว์เลี้ยแสนรู้ ก็ยังอุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจฟังอีกต่างหาก) ทำให้เด็กๆ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และกล้าที่จะแสดงออกต่อหน้าผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

ช่วยให้สนุกสนาน

และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เช่น เด็กๆ อาจพาน้องหมาไปเดินเล่น วิ่งเล่น และทำกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกันกับครอบครัว โดยมีน้องหมาเป็นเพื่อนเล่นด้วย เป็นต้น

ส่งเสริมความมั่นคงทางอารมณ์

การมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น จะช่วยสร้างภาวะความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) ให้กับเด็กๆ ทั้งนี้เพราะเด็กๆ จะได้เรียนรู้การให้ การแบ่งปัน รู้จักหน้าที่ทความรับผิดชอบ รู้จักการมีเหตุผล ไม่ทำให้เขากลายเป็นเด็กก้าวร้าว เจ้าอารมณ์เมื่อเติบโตขึ้น

รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

รู้จักเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ผู้อื่น และไม่หมกมุ่นกับเกมส์คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากจนเกินไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เด็กๆ กลายเป็นคนเก็บตัว ก้าวร้าว และไม่มีเหตุผลได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว หากคุณพ่อคุณแม่ขากความเอาใจใส่ และระมัดระวัง

ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ

เด็กๆ จะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอๆ เป็นต้นว่า บางวันอาจเจอน้องหมากัดรองเท้าจนขาด บางวันอาจมีน้องแมวปีนป่ายมานอนเล่นบนพุงน้อยๆ ของเด็กๆ เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงเหล่านี้จะช่วยสอนให้เด็กๆ รู้จักการปรับตัว และเตรียมพร้อมที่จะรับมือ รวมถึงเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่จะผ่านเข้าในแต่ละวันได้โดยปราศจากความหวาดกลัว และวิตกกังวล หากต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนใหม่ที่โรงเรียน คุณครู หรือคนที่พวกเขาไม่คุ้นเคย เป็นต้น

เลี้ยงลูกคู่สัตว์เลี้ยงต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

การให้ลูกได้มีสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน นับเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของลูกน้อย ทั้งในด้านอารมณ์ และสังคม แต่ก็ใช่ว่าการนำสัตว์เลี้ยงสักตัวหนึ่งมาเป็นเพื่อนเล่นกับลูกในยามว่าง จะเป็นเรื่องที่ง่ายดายไปเสียทั้งหมด เพราะความจริงแล้วยังมีอีกหลายสิ่งทีเดียวที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะอนุญาตให้เจ้าตัวเล็กมีเพื่อนสี่ขาได้ ยกตัวอย่างเช่น

เตรียมความพร้อมในเรื่องวัยของลูกน้อย

คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาว่าเด็กๆ มีวุฒิภาวะพอที่จะรับผิดชอบ ดูแลเจ้าเพื่อนสี่ขานี้ได้แล้วหรือยัง ซึ่งอายุของเด็กที่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองได้ควรจะมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่านี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูเขาอยู่ใกล้ๆ ไม่ปล่อยปละละเลยให้เขาต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่ตามลำพัง ไม่เช่นนั้นแล้ว เรื่องสนุกของเด็กๆ จะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ และชวนให้หงุดหงิดใจสำหรับทุกคนในครอบครัวไปโดยปริยาย

เตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่

การที่จะเลี้ยงสัตว์สักตัวหนึ่งไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสำรวจพท้นที่ของบ้านด้วยว่า มีบริเวณกว้างขวางพอที่จะให้สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นได้เดินและวิ่งเล่น ไปพร้อมๆ กับลูกน้อยหรือไม่ เพราะบางสถานที่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คอนโดฯ เป็นต้น

เตรียมความพร้อมเรื่องค่าใช้จ่าย

การเลี้ยงสัตว์สักตัวหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมสำรวจกระเป๋าสตางค์ของตนให้รอบคอบ ทั้งนี้เพราะนอกจากเรื่องค่าอาหารเม็ด อาหารเปียก ขนมหมา ขนมแมว กระบะทรายสำหรับขับถ่าย ค่าทำหมัน ฯลฯ และอีกมากมายแล้ว ยังมีเรื่องของค่ารักษาพยาบาล เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักของลูกน้อยถึงเวลาเจ็บป่วย และต้องการการรักษาอีกด้วย

เครียมความพร้อมในเรื่องของเวลา

คุณพ่อคุณแม่ต้องตรวจสอบตารางเวลาของตนเองและลูกน้อยเสียก่อนว่า มีเวลามากพอที่จะดูแลให้อาหาร หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับเจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักหรือไม่ ทั้งนี้เพราะสัตว์เลี้ยงก็มิได้ต่างจากคนเรา ที่ต้องการเวลาในการดูแสเอาใจใส่ เช่นกัน ซึ่งหากได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สัตว์เลี้ยงก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีสุขภาพจิตที่ดี ร่าเริงแจ่มใส แต่หากตรงกันข้าม นอกจากสุขภาพกายจะไม่ดีแล้ว สุขภาพจิตของสัตว์เลี้ยงก็จะไม่ดีด้วยเช่นกัน

ตรวจสอบชนิด และสายพันธุ์

รวมถึงวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงชนิดนั้นๆ ให้แน่ใจ ก่อนที่จะนำมาเลี้ยง

ทั้งนี้เพราะสัตว์แต่ละชนิดล้วนมีลักษณะเฉพาะตัว มีการดูแลเลี้ยงดู และให้อาหารที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการนำเขามาเลี้ยงก็ต้องดูแลเอาใจใส่ มิใช่ปล่อยปละละเลย เพราะสัตว์เลี้ยงก็คือสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนเรามากที่สุด นั่นเอง

การมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน นอกจากจะสร้างคุณประโยชน์และความรื่นรมย์ใจให้กับเด็กๆ และทุกคนในครอบครัวแล้ว การดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงแสนรัก ก็มีความสำคัญไม่น้อยด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากพวกเขาจะเป็นเพื่อนของทุกๆ คนแล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวด้วย นั่นเอง


waayu

309,412 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save