หลังคลอดกี่เดือน ทำศัลยกรรมได้ กับ 6 ส่วนของร่างกาย

หลังคลอดกี่เดือน ทำศัลยกรรมได้ ปลอดภัยแม่ สบายใจลูก
การคลอดและหลังคลอด

Last Updated on 2022 06 23

การศัลยกรรมหลังคลอด ดูจะเป็นวิธีที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่รูปร่างเดิมก่อนตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด หรือเพราะหลังคลอดคุณแม่ทั้งหลายได้ลาพักงานนานจึงถือเป็นโอกาสเหมาะหากจะทำศัลยกรรมและมีเวลาในการพักฟื้น ซึ่งหลังคลอดแล้วกี่เดือนถึงทำศัลยกรรมได้ วันนี้เราจะไปดูกันค่ะ

ข้อควรรู้ก่อนศัลยกรรม

หลังคลอดร่างกายจะต้องใช้เวลาพักฟื้น ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งหน้าท้อง หน้าอก น้ำหนักตัว และโครงหน้าของคุณแม่ จะยังมีการปรับเปลี่ยน การบวมจะเริ่มยุบลง และน้ำหนักตัวเริ่มกลับเข้าที่ ในช่วง 2-3 เดือนหลังคลอด และหากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะยิ่งช่วยลดน้ำหนักที่ค้างหลังคลอดให้กลับมาเหมือนตอนก่อนตั้งครรภ์ได้ไวขึ้น แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องยืดเวลาการทำศัลยกรรมออกไปอีก ดังนั้น คุณแม่จึงควรมีระยะเวลาให้ร่างกายได้ปรับตัวให้คงที่เสียก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยประเมินการผ่าตัดได้อย่างถูกต้อง การศัลยกรรมจะได้ตรงเป้าหมาย และตรงใจคุณแม่มากที่สุดด้วยค่ะ โดยสามารถดูความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ประกอบกัน

สุขภาพโดยรวมที่แข็งแรง

ในการศัลยกรรมบางอย่างมีขั้นตอนการผ่าตัดมากกว่าหนึ่งขั้นตอน คุณแม่จึงต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก่อนที่จะทำการผ่าตัด เพราะบางคนมีปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์จนกระทั้งหลังคลอดก็ยังไม่หายขาด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยาที่ใช้ในการรักษาบางตัว อาจทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงได้ค่ะ

มีน้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์

หากคุณแม่อยากทำการลดน้ำหนักและแก้ไขรูปร่างส่วนเกินหลังคลอด การดูดไขมัน หรือผ่าตัดปรับแต่งเฉพาะส่วนอาจช่วยจำกัดส่วนเกินได้ แต่คุณแม่ต้องมีน้ำหนักที่ไม่เกินเกณฑ์มากเกินไป หรือไม่ควรมากกว่า 10 กิโลกรัมก่อนการผ่าตัดค่ะ

แผนของครอบครัว

หากคุณแม่กำลังคิดที่จะทำศัลยกรรมส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายจะต้องมองแผนชีวิต และแผนของครอบครัวประกอบด้วย เช่น การเสริมหน้าอก หากมีแผนว่าอยากมีลูก 2 คน คุณแม่อาจรอให้ตั้งครรภ์และให้นมลูกครบทุกคนเสียก่อนค่อยเข้ารับการผ่าตัด จะได้ไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดหน้าอกเบี้ยวหรือเสียรูปทรงจากการตั้งครรภ์และให้นมลูกอีกคน และไม่ต้องผ่าตัดแก้ไขหลายครั้ง เพราะนอกจากจะเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดแผลเป็น และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ มากขึ้นด้วยค่ะ

การพักฟื้นหลังทำ

การทำศัลยกรรมบางอย่างต้องใช้เวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ในการนอนพักฟื้น ประคบเย็น ประคบอุ่น บางกรณีก็อาจจะต้องมีท่านวดระหว่างพักฟื้น ดังนั้นคุณแม่หลังคลอดต้องมั่นใจว่าจะสามารถพักฟื้น และทำตามที่แพทย์แนะนำได้ โดยไม่กระทบต่อการเลี้ยงลูก เพราะนอกจากต้องมีคนช่วยดูแลลูกแทน ยังต้องมีคนคอยช่วยดูแลคุณแม่ในขณะพักฟื้นด้วยค่ะ

หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน

ในการศัลยกรรมบางอย่าง เช่น การเสริมจมูก จำเป็นจะต้องระวังไม่ให้จมูกกระทบกระเทือน หรือกระแทก เพราะอาจมีปัญหาตามมาในภายหลังได้ ซึ่งระหว่างนี้หากคุณแม่ยังต้องอุ้มลูก ให้นมลูก ก็เสี่ยงต่อการที่มือ แขน ขา หรือศีรษะของลูกจะกระแทกจมูกได้ ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นสิ่งที่ระมัดระวังยาก จึงอาจจะต้องรอเวลาที่ลูกโตพอจะช่วยระวังแผลผ่าตัดให้คุณแม่ได้ค่ะ

ยาที่ต้องรับประทานหลังศัลยกรรม

ยาที่ใช้สำหรับแม่ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ได้แก่ ยาชา (1% Lidocaine + adrenaline) และยากินหลังผ่าตัด ยาแก้ปวด (Paracetamol 500mg) ยาฆ่าเชื้อ (Dicloxacillin 500mg) ถึงแม้ว่ายากลุ่มนี้จะมีผลต่อลูกผ่านทางน้ำนมน้อยมาก แต่การที่ลูกได้รับยาเหล่านี้ผ่านทางน้ำนมเป็นเวลานานเกินไป โดยที่ลูกเองไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย ก็อาจส่งผลทำให้เกิดการดื้อยาได้ในอนาคต

ปั๊มนมสำรองไว้ให้ลูก

คุณแม่ที่วางแผนจะเข้ารับการผ่าตัดบางคนก็ทำสต๊อกน้ำนมไว้ให้ลูก แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าหลังทำศัลยกรรมจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทำให้ต้องกินยาต่อเนื่อง และไม่รู้ว่าจะต้องกินยานานเท่าไร ดังนั้น อาจส่งผลให้สต็อกน้ำนมที่เตรียมไว้ไม่พอสำหรับลูกก็ได้ค่ะ

หลังคลอดกี่เดือน ทำศัลยกรรมได้

เมื่อรู้ถึงสิ่งที่จะต้องเตรียมก่อนทำศัลยกรรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนัดหมายกับศัลยแพทย์เพื่อทำศัลยกรรม กิฟท์จึงมีข้อแนะนำถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำศัลยกรรมแต่ละส่วนของร่างกาย 6 ส่วนมาฝากค่ะ

1.หน้าอก

มีข้อควรพิจารณาที่สำคัญหลายปัจจัยว่าทำไมการรอจึงเป็นการวางแผนที่ดีที่สุดในการศัลยกรรมเสริมหน้าอกหลังคลอด อย่างแรกคือ หน้าอกของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอีกหลายเดือนหลังคลอด หากแม่ตัดสินใจให้นมลูก การเปลี่ยนแปลงจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะหย่านม  และไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดหน้าอกจนกว่าผิวหนังและเนื้อเยื่อของเต้านมจะมีความเสถียร

ช่วงเวลาที่แนะนำ :

3-6 เดือนหลังจากให้นมลูก หรือ 3-6 เดือนหลังคลอดหากไม่ได้ให้นมลูก

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เสริมหน้าอกมา ให้นมลูกได้ไหม อันตรายรึเปล่า

2.หน้าท้อง

หลังคลอด 6 เดือน อาจยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในผนังหน้าท้อง ผิวหนัง และไขมันในช่องท้องของคุณแม่ ดังนั้น การศัลยกรรมด้วยวิธีดูดไขมันหรือตัดเย็บหน้าท้องในช่วงเวลานี้อาจเร็วเกินไป

ช่วงเวลาที่แนะนำ :

อาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ที่ช่องท้องจะเริ่มคงที่ และนานกว่านั้นสำหรับการตั้งครรภ์แฝด หรือการตั้งครรภ์ที่ห่างกันไม่ถึง 1 ปี

3.ไขมันสะสมรอบเอว (Love Handles)

Love Handles เป็นไขมันที่สะสมอยู่บริเวณด้านข้างลำตัวและรวมไปถึงช่วงหลังส่วนล่าง เกิดจากฮอร์โมนของร่างกายที่ผันผวนแม้จะไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจส่งผลต่อการลดหรือเพิ่มของไขมัน แต่ระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดฮอร์โมนของคุณแม่ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าคนทั่วไป จึงอาจต้องใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าที่ฮอร์โมนจะกลับมาเป็นปกติหลังการตั้งครรภ์ วิธีป้องกันไขมันรอบเอวที่ดีที่สุดคือควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มเยอะเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อที่แม่จะได้ไม่ต้องลดน้ำหนักเยอะ หรือทำศัลยกรรม

ช่วงเวลาที่แนะนำ :

การดูดไขมันส่วนนี้สามารถทำได้ก่อนครบ 1 ปี แต่หากรอให้ร่างกายมีความเสถียรเสียก่อนก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าค่ะ

4.ปากช่องคลอด

การคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติอาจส่งผลให้ช่องคลอดขยายกว้างขึ้น หรือในบางคนก็เกิดความหย่อนคล้อยของปากช่องคลอดหลังวัยแรกรุ่นซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากการคลอดลูกก็มี ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับหน้าท้องและหน้าอก คือต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่บริเวณนี้จะปรับตัวหลังจากคลอดลูก หากพบว่าทำให้มีปัญหาต่อการมีเพศสัมพันธ์ การออกกำลังกาย หรือการแต่งตัวก็มีความจำเป็นต้องศัลยกรรมแก้ไขค่ะ

ช่วงเวลาที่แนะนำ :

ควรรอให้ร่างกายปรับตัวอย่างน้อย 6 เดือนหลังคลอด

5.ทำหน้า

เนื่องจากหลังคลอด รูปร่าง โครงสร้าง หน้าตาของคุณแม่จะยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกระยะหนึ่ง ทำให้เลือกรูปทรงจมูก ตา ปาก คาง และอื่น ๆ ที่เหมาะกับรูปหน้าจริงได้ยาก ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรรอให้ร่างกายและใบหน้าปรับตัว น้ำหนักลดลงเกือบปกติ และคงที่ก่อนค่ะ

ช่วงเวลาที่แนะนำ :

ให้ร่างกายได้ปรับตัวอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปีก่อนทำศัลยกรรมจะดีกว่า

6.เลเซอร์ผิว

คุณแม่หลังคลอดมักมีความกังวลเรื่องของผิวพรรณ ไม่ว่าจะเป็นผิวขาดน้ำ ผิวแตกลาย หย่อนคล้อย มีรอยดำ ฝ้า และกระ การทำทรีตเมนต์ หรือเลเซอร์ที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะจุดสามารถทำได้ทั้งผิวหน้าและผิวกาย แต่จะต้องเป็นเครื่องเลเซอร์ที่ใช้พลังงานต่ำ ไม่แนะนำการทำเลเซอร์ด้วยเครื่องที่มีกระแสไฟฟ้านำสูง และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ค่ะ แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์พิสูจน์ว่าพลังงานจากเลเซอร์เหล่านั้นจะสะสมในร่างกายแล้วผ่านน้ำนมจนก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกได้ เพียงแต่ห้ามไม่ให้ฉีดสารหรือยาต่าง ๆ เข้าร่างกาย เช่น ฉีดเมโสหน้าใส เมโสสลายไขมัน การฉีดสารลดริ้วรอย การฉีดสารเติมเต็มใบหน้า การทำทรีตเมนต์ที่ผลักสารกลุ่มวิตามินเอเข้าสู่ผิวหน้า เป็นต้น

ช่วงเวลาที่แนะนำ :

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยากกลับไปสวยเป๊ะ สวยไวทันใจ ก็ลองเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดูแลตัวเองทั้งเรื่องน้ำหนักตัว และผิวพรรณในระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดจะได้ไม่ต้องฟื้นฟูตัวเองเยอะค่ะ หากจะใช้การศัลยกรรมเข้าช่วยก็ไม่ผิด แต่อย่าลืมว่าทุกหัตถการที่ศัลยกรรมนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และจะต้องเลือกสถานบริการที่น่าเชื่อถือ เพื่อความสวยอย่างปลอดภัยนะคะ


Mommy Gift

143,081 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save