เสริมหน้าอกมา ให้นมลูกได้ไหม อันตรายรึเปล่า

เสริมหน้าอกมา ให้นมลูกได้ไหม อันตรายรึเปล่า
ตั้งครรภ์

Last Updated on 2022 06 23

เรื่องความสวยความงามกับผู้หญิงเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร และยิ่งปัจจุบันมีศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและฝีมือดีจำนวนมาก สามารถผ่าตัดตกแต่งเสริมความงามได้แบบแนบเนียน และเป็นธรรมชาติสุดๆ จึงกลายเป็นเทรนที่มาแรงและเข้าถึงทุกเพศทุกวัยทั่วโลกในขณะนี้เลยค่ะ โดยเฉพาะการผ่าตัดเสริมหน้าอกเป็นการผ่าตัดที่พบมากที่สุดในบรรดาการเสริมความงามของผู้หญิง แต่ก็ตามมาด้วยคำถามของคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายว่า หากเคยทำหน้าอกมาจะให้นมลูกได้ไหม รู้สึกกลัว ไม่มั่นใจ ว่าหน้าอกซิลิโคนจะมีผลกับน้ำนมหรือไม่ อย่ารอช้าค่ะ ไปไขข้อข้องใจกันเลยดีกว่า

วิธีการเสริมหน้าอก

ก่อนจะไปเรื่องของการให้นม กิฟท์อยากชวนคุณแม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานวิธีการเสริมหน้าอกกันสักนิดก่อนนะคะ โดยทั่วไปแล้วการเสริมหน้าอกนั้นมีทั้งการเพิ่มขนาด และการลดขนาด ศัลยแพทย์จะใช้เทคนิคการเปิดแผลด้วยกัน 3 แบบ คือ

  • ผ่าตัดเปิดแผลบริเวณใต้รักแร้
  • บริเวณรอบลานนม
  • บริเวณใต้ราวนม

เพื่อเอาเนื้อเยื่อไขมัน และผิวหนังบางส่วนออกในกรณีลดขนาดหน้าอก แต่หากเป็นการเพิ่มขนาดหน้าอกก็จะนำซิลิโคน/ถุงน้ำเกลือเข้าไปเสริมบริเวณใต้กล้ามเนื้อ หรือเหนือกล้ามเนื้อให้หน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้นมา

เสริมหน้าอกมาให้นมลูกได้ไหม

ในประเด็นนี้กิฟท์ขอแบ่งเป็น 2 หัวข้อ หลัก ๆ นะคะ

การลดขนาดหน้าอก

ศัลยกรรมวิธีนี้ศัลยแพทย์จะเปิดแผลบริเวณลานนม หรืออาจเปิดแผลบริเวณใต้ราวนมร่วมด้วย ซึ่งการผ่าตัดบริเวณลานนมมีความเสี่ยงที่จะไปถูกท่อน้ำนมได้มากกว่าเทคนิคอื่น เพราะหากมีการตัดท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม และเส้นประสาท ก็จะมีผลทำให้กลไกน้ำนมพุ่ง (Let Down Reflex) ขาดหายไป และการส่งกระแสประสาทที่ทำให้เกิดการสร้างน้ำนมก็จะลดลงหรืออาจหายไปได้ด้วยค่ะ

การเพิ่มขนาดหน้าอก

การผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าอกส่วนใหญ่นิยมเปิดแผลบริเวณใต้รักแร้ และใต้ราวนม แล้วเสริมซิลิโคน/ถุงน้ำเกลือเข้าไปเหนือกล้ามเนื้อหรือใต้กล้ามเนื้อ ซึ่งทั้งสองจุดนั้นคุณแม่ยังสามารถให้นมบุตรได้ทั้งคู่ การเสริมใต้กล้ามเนื้อจะปลอดภัยกว่าเพราะซิลิโคนไม่ไปเบียดต่อมน้ำนม แต่การเสริมแบบเหนือกล้ามเนื้อซิลิโคนจะถูกวางอยู่ใต้ต่อมน้ำนมพอดี ถ้าศัลยแพทย์ผ่าตัดได้ไม่เนียนหรือคนไข้ดูแลตัวเองได้ไม่ดีช่วงมีน้ำนม นมขยาย ซิลิโคนจะไปเบียดต่อมน้ำนมมากขึ้น อาจจะทำให้หน้าอกเสียทรงและเจ็บได้ค่ะ

เสริมหน้าอกมีผลต่อการผลิตน้ำนมหรือไม่

การผลิตน้ำนมเกิดจากต่อมน้ำนมในเนื้อนมของคุณแม่เอง ฉะนั้นการผ่าตัดศัลยกรรมใด ๆ ก็ตามหากไม่ไปรบกวนกับ “ต่อมน้ำนม หรือ ทางเดินของต่อมน้ำนมถึงหัวนม” ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการผลิตน้ำนม หรือไปลดการผลิตน้ำนมเมื่อเทียบกับคุณแม่ที่ไม่ได้เสริมหน้าอกค่ะ

เสริมหน้าอกมา นมจะยานไหมหลังเลิกให้นมลูก

แม้มีงานวิจัยยืนยันว่า คุณแม่ที่เสริมหน้าอกแล้วให้นมลูก หน้าอกจะหย่อนคล้อยเท่ากับคนทั่วไปที่ไม่ได้เสริมเพราะตอนตั้งครรภ์นั้นหน้าอกจะขยายและตึงมากหลังคลอด และหลังการให้นมจึงหย่อนคล้อยกว่าเดิมเป็นเรื่องธรรมดา แต่แพทย์ก็แนะนำไว้ว่าหากผู้หญิงที่ลังเลในการเสริมหน้าอก และแพลนจะมีบุตรถึง 2 คน ก็อาจรอให้ตั้งครรภ์และให้นมบุตรจนแล้วเสร็จก่อนจึงค่อยทำการเสริมหน้าอกในคราวเดียว เพราะจะได้ไม่ต้องกังวล และไม่ต้องผ่าตัดแก้ไขทรงหลายครั้งค่ะ

เสริมหน้าอก ปัญหาที่อาจพบเมื่อต้องให้นมลูก

แม้ปัจจุบันเทคนิค ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาก้าวไกล จนการศัลยกรรมความงามมีความปลอดภัย และเหมือนธรรมชาติอย่างมาก แต่ก็อาจพบปัญหาบางประการสำหรับคุณแม่ที่เคยเสริมหน้าอกเมื่อต้องให้นมลูกหลังคลอดอยู่บ้างค่ะ

ปัญหานมคัดตึงตอนตั้งครรภ์และตอนให้นมลูก

เนื่องจากการผ่าตัดเสริมหน้าอกอาจมีการทำลายต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม เส้นเลือด และเส้นประสาทบางส่วนโดยเฉพาะหากเป็นการเปิดแผลผ่าตัดที่อยู่ใต้ลานนม รวมทั้งการเพิ่มปริมาตรนมจากสารที่เสริม ทำให้ขณะตั้งครรภ์และตอนให้นมลูก เต้านมอาจบวมคัดตึงและรู้สึกไม่สบายกว่าปกติ

ปริมาณของน้ำนม

โดยทั่วไปปริมาณของน้ำนมจะไม่ลดลงค่ะ หากลูกได้ดูดนมตั้งแต่หลังคลอด โดยให้ลูกช่วยดูดกระตุ้นทุก 2 ชั่วโมงหลังคลอดใหม่ ๆ ใช้เทคนิค 4 ดูด ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี และดูดเกลี้ยงเต้า แต่ในแม่บางรายที่เสริมหน้าอกอาจรู้สึกชาหัวนมเมื่อลูกดูดนม นอกจากนี้ปฏิกิริยาของระบบประสาทที่กระตุ้นให้นมไหลพุ่งออกจากหัวนมอาจลดลง ทำให้นมไหลช้าลงได้ค่ะ

ความสำเร็จในการให้นมแม่

พบว่าคนที่เสริมหน้าอกมีโอกาสจะให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนที่ไม่เสริมหน้าอกถึง 3 เท่า  ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการให้นมไม่สำเร็จนั้นไม่ใช่เหตุผลของการเสริมหน้าอกเพียงอย่างเดียว แต่มีเหตุผลอย่างอื่นประกอบด้วยค่ะ เช่น

มีความตั้งใจในการให้นมลูกน้อยกว่าคนไม่เสริมหน้าอก

โดยงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า ผู้หญิงที่เสริมหน้าอกมักเป็นผู้หญิงอายุน้อย ฐานะดี สุขภาพแข็งแรง แต่งงานแล้ว มีลูกแล้ว มีความวิตกกังวลกับรูปลักษณ์ของตนเอง บางคนมีบุคลิกภาพเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า  เครียดง่าย รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าและไม่มั่นใจ

เกรงว่าสารที่ใช้ในการเสริมหน้าอกจะทำอันตรายต่อลูก

ในที่นี้คือซิลิโคนเหลว ซึ่งแม้แต่ผู้เสริมหน้าอกเองก็มีรายงานว่า อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้เพิ่มขึ้นจึงมีความกังวลว่า หากเกิดการรั่วหรือแตกอาจเป็นอันตรายต่อลูกที่ดูดนมจากเต้า โดยมีรายงานว่าหากแม่เสริมหน้าอกมีซิลิโคนรั่วลูกก็มีโอกาสเป็นภูมิแพ้ และอาจมีปัญหาที่หลอดอาหารสูงกว่ารายที่แม่ไม่ได้เสริมหน้าอก แต่เมื่อทบทวนงานวิจัยแล้ว ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่าจะเกิดอันตรายต่อลูกและแม่แต่อย่างใดค่ะ

เกรงว่าหน้าอกที่ไปทำมาจะหย่อนคล้อยหากให้นมลูก

แม้ในงานวิจัยจะยืนยันว่า คุณแม่ที่เสริมหน้าอกแล้วให้นมลูก เต้านมจะหย่อนคล้อยเท่าคนทั่วไปที่ไม่ได้เสริมหน้าอก แต่คุณแม่ที่เสริมหน้าอกก็มีความกังวลอยู่ดีที่จะให้นมลูกเป็นเวลานาน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการให้นมแม่ไม่สำเร็จด้วยเช่นกันค่ะ

อาการผิดปกติจากภาวะแทรกซ้อนหลังการเสริมเต้านม

เช่น มีการอักเสบติดเชื้อ เจ็บแผลที่ผิวหนัง หัวนมหรือเต้านมชาไม่มีความรู้สึกหรือมีความรู้สึกไวต่อความเจ็บปวด สารที่ใช้เสริมแตกหรือรั่ว ซึ่งยิ่งเสริมมานานก็ยิ่งมีโอกาสแตกหรือรั่วสูงขึ้น เป็นต้น

จากปัญหาที่กล่าวมาอาจจะเกิดกับคุณแม่ที่เสริมหน้าอกแค่บางคนเท่านั้น ไม่ได้เกิดกับคนที่เสริมหน้าอกทุกคนค่ะ และปัจจุบันคุณแม่ส่วนใหญ่ก็เห็นถึงประโยชน์ในการให้นมลูกด้วยนมแม่ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ว่าแต่ถ้าคุณแม่คนไหนที่ต้องการจะเสริมหน้าอกหลังคลอด หรืออาจจะกำลังหาข้อมูลอยู่ แนะนำบทความนี้ค่ะ หลังคลอดกี่เดือน ทำศัลยกรรมได้ กับ 6 ส่วนของร่างกาย


Mommy Gift

141,231 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save