ลูกเดินช้า เมื่อไหร่ที่ควรกังวล พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการ

ลูกเดินช้า เมื่อไหร่ที่ควรกังวล พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการ
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 09 09

ลูกเดินช้า ก็เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลที่มักเกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่  เมื่อเห็นว่าเด็กคนอื่นสามารถเดินได้ตั้งแต่อายุไม่เต็มขวบ หรือ 1 ขวบแล้วยังไม่ยอมเดิน คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางพัฒนาการของลูกที่เห็นได้ชัดเป็นหลัก เช่น การคลาน การเดิน การพูด แต่หัวใจสำคัญของพัฒนาการเด็ก คือ การรับรู้ของเด็ก หากลูกมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างได้ดี อยากรู้อยากเห็น และช่างจดจำ ก็ถือว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีสมวัยแล้วนะคะ แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างเช่นกันที่ควรนำไปสู่การปรึกษากับกุมารแพทย์

พัฒนาการการเดินของลูก

ช่วงอายุ 3-4 เดือน

ในท่านอนคว่ำอยู่ ลูกจะใช้แขนยันตัวเองให้หน้าอกพ้นพื้นได้เล็กน้อย เป็นการฝึกกล้ามเนื้อลำตัวให้แข็งแรงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนั่งและยืนต่อไป

ช่วงอายุ 5 เดือน

ลูกมักถีบตัวเองขึ้น-ลงบนพื้นขณะที่ คุณแม่หรือคุณพ่อประคองลำตัวไว้ เพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อขา

ช่วงอายุ 6-10 เดือน

ลูกมักจะเรียนรู้การนั่งเองโดยไม่ล้ม และคลานได้ เป็นการฝึกระบบการทรงตัวของร่างกายและฝึกการเคลื่อนไหวที่ต้องประสานกันทั้งซ้ายและขวาของแขนขา

ช่วงอายุ 9-15 เดือน

ช่วงอายุนี้ลูกมักจะเหนี่ยวตัวเองขึ้นยืน เกาะยืน และเริ่มตั้งไข่ ก่อนที่จะก้าวเดินออกไปข้างหน้าด้วยตัวเอง

ช่วงอายุ 14-15 เดือน

เป็นช่วงอายุที่ลูกจะเดินเองได้ โดยที่ช่วงเวลาขวบปีแรกเด็ก ๆ จะฝึกฝนกล้ามเนื้อและระบบการทรงตัวมาก่อนนั้นแล้ว

สัญญาณบ่งบอกว่าลูกพร้อมที่จะเดินแล้ว

ผ่านทักษะการหัดเดิน

หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ผ่านขั้นตอนทักษะของการหัดเดินอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้ว คือ การคลาน การคืบ การคลานแบบคอมมานโค เกาะยืน หรือ เกาะเดิน ร่วมกับสัญญาณของสมดุลร่างกายที่ดี และสามารถยืนตัวตรงได้นานๆ และถ้ามักชอบผลักของเล่นที่มีล้อไปข้างหน้าอย่างคล่องแคล่ว แน่นอนว่าอีกไม่นานก็จะเดินได้ด้วยตัวเองค่ะ

ผ่าน Sleep Regression 12 เดือน

หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ผ่านช่วงนอนหลับยาก หรือมักตื่นกลางดึกตอนช่วงอายุ 11-12 เดือน ก็อาจเป็นสัญญาณบอกว่าสมองของลูกกำลังค้นพบทักษะใหม่ๆ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ลูกของคุณสามารถเดินได้สำเร็จในเร็ววันค่ะ

ลูกเดินช้า เมื่อไหร่ที่ควรกังวล

หากลูกของคุณไม่เดินภายใน 14 เดือน

ความกังวลของคุณพ่อคุณแม่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ค่ะ แต่เด็กที่เดินไม่ได้เมื่ออายุ 14 เดือนมักไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาที่ผิดปกติ ขณะที่เด็กบางคนเริ่มเดินก่อน 12 เดือน หรือบางคนไม่เดินจนกว่าจะถึง 16 หรือ 17 เดือนก็มี

พิจารณาภาพรวม

ตัวอย่างเช่น แม้ว่าลูกของคุณจะเดินไม่ได้เมื่ออายุ 14 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าลูกสามารถแสดงทักษะการเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้โดยไม่มีปัญหา เช่น เกาะยืนได้เอง เด้งตัวขึ้น-ลงจับสิ่งของได้ ซึ่งนี่เป็นสัญญาณว่าลูกกำลังพัฒนา ลูกอาจจะต้องการเวลาก็เท่านั้น แต่หากลูกยังไม่เดินเมื่ออายุ 18 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์ค่ะ

พัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย

คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าทักษะของลูกพัฒนาอย่างไม่เหมาะสม เช่น หากลูกอายุ 14 เดือนแล้วแต่ไม่สามารถเกาะยืน ดึงตัวหรือกระเด้งขึ้นได้

คลอดก่อนกำหนด

เด็กบางคนที่คลอดก่อนกำหนดอาจส่งผลให้เดินช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน หากลูกของคุณแม่คลอดก่อนกำหนด อย่าเพิ่งกังวลทันทีที่ไม่สามารถเดินได้นะคะ ให้ปรับอายุของลูกตามวันที่ครบกำหนดคลอดเดิม (Term Infant) ก่อนค่ะ เช่น หากลูกอายุ 14 เดือน แต่คุณแม่คลอดก่อนกำหนด 3 เดือน อายุที่ปรับแล้วของลูกคือ 11 เดือน ในกรณีนี้ ลูกของคุณแม่อาจต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2-3 เดือน เพื่อเรียนรู้วิธีทรงตัวและเดิน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องกังวลค่ะ

วิธีช่วยกระตุ้นพัฒนาการการเดิน

ช่วยเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรง

เปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อที่สนับสนุนการเดิน และระบบการทรงตัวในช่วงขวบปีแรก ตามพัฒนาการการเดินของลูกตามข้างบนที่ได้กล่าวไว้ และช่วยบริหารร่างกายในท่าที่ช่วยเสริมกล้ามเนื้อขาของลูกให้แข็งแรง เพื่อให้ลูกก้าวเดินได้อย่างมั่งคง

เปิดโอกาสให้ลูกได้เคลื่อนไหวเอง

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกออกห่างจากรถเข็น เป้อุ้ม หรือการอุ้มจากคนเลี้ยงบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้มีเวลาสำรวจร่างกายตัวเอง และพยายามที่จะเคลื่อนตัวเองไปที่ต่างๆ เอง หากลูกติดขัด พ่อแม่อย่ารีบร้อนเข้าไปอุ้มทันที แต่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น  ลูกเหนี่ยวตัวขึ้นยืนได้แล้ว แต่ติดขัดในช่วงที่จะนั่งลง ส่งเสียงเรียกแม่ คุณแม่ควรจับข้อเข่าของลูกให้งอลงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ลูกก้นจ้ำเบ้า ลูกก็จะย่อลงได้ และให้ลูกลองทำเองในครั้งต่อไป

ปล่อยลูกสัมผัสพื้นด้วยเท้าเปล่า

รองเท้ามักทำให้เด็กเริ่มก้าวแรกได้ยากขึ้น แนะนำให้ใช้รองเท้าสำหรับการเดินกลางแจ้ง แต่เด็กเด็กจำนวนมากเรียนรู้ที่จะเดินเร็วขึ้นเมื่อเท้าเปล่าอยู่ในบ้าน การได้สัมผัสกับพื้นผิวแบบต่างๆ ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ดี และส่งเสริมการเดินได้ดีขึ้นเช่นกันค่ะ

กระตุ้นให้ลูกก้าวเดินออกมา

พ่อแม่สามารถช่วยพยุงให้ลูกเดิน หรืออาจจะจับมือยืนตรงข้ามกับลูก แต่ควรสังเกตให้เท้าลูกได้วางเต็มฝาเท้า อย่าจับให้ลูกเองตัวไปข้างหน้าเหมือนการเขย่งเท้ามากเกินไป ค่อยๆถอยหลังทีละเล็กละน้อย ลูกจะค่อยๆก้าวเท้าออกมาข้างหน้า หากลูกปฏิเสธ ให้พ่อแม่ร้องเพลงหรือสื่อสารกับลูก เพื่อให้ลูกจดจ่อรอยยิ้มของพ่อแม่แทน

จริง ๆ แล้ว การเดินช้าของลูกอาจเป็นผลจากการเลี้ยงดูที่คุณพ่อคุณแม่หรือคนใกล้ชิดอุ้มเด็กตลอดเวลา จนเด็กรู้สึกว่าการเดินหรือการคลานยังไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในตอนนี้ จึงทดแทนด้วยพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเด็กเรียนรู้ และได้รับการกระตุ้นว่า ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มเดิน หรือเริ่มช่วยเหลือตัวเองแล้ว เด็กก็จะมีความพยายามที่จะหัดเดินมากขึ้นเองค่ะ

อ้างอิง หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก, healthline.com, whattoexpect.com


Mommy Gift

143,141 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save