กระบวนการผลิตน้ำนม เป็นมาอย่างไร?

น้ำนมแม่มีกระบวนการการผลิตอย่างไร
ตั้งครรภ์

Last Updated on 2022 07 17

เป็นที่ทราบกันดีว่า “น้ำนมแม่”  นั้นมีประโยชน์มหาศาล ซึ่งอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปนั้นบางอย่าง บางส่วนจะถูกส่งต่อถึงลูกผ่านมายังน้ำนมแม่ แต่เราเคยฉุกคิดกันไหมคะว่า “กระบวนการผลิตน้ำนมของแม่เกิดมาได้อย่างไร?” กว่าจะกลั่นออกมาให้ลูกกิน วันนี้เราจะไปดูกระบวนการการผลิตน้ำนมแม่กันค่ะ

กระบวนการการผลิตน้ำนมแม่

กระบวนการการผลิตน้ำนมแม่นั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง โดยน้ำนมจะเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ระยะที่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงระยะหลังคลอด เรามาดูกันทีละช่วงเลยค่ะ

ช่วง Lactogenesis I

นับช่วงที่ 1
ซึ่งเป็นช่วงที่นมแม่เริ่มสร้างฮอร์โมน โดยจะเริ่มตั้งแต่ระยะการตั้งครรภ์ประมาณ 16-22 สัปดาห์ไปจนถึงวันแรกหลังการคลอด ร่างกายคุณแม่จะเริ่มผลิต “หัวน้ำนม หรือ Colostrum” ในปริมาณที่น้อยนิดนะคะ ไม่กี่ CC เอง แต่ก็ไม่ควรทิ้งนะคะ เพราะมันมีประโยชน์สำหรับลูกน้อยมาก ๆ เลยทีเดียว ซึ่งแม่โน้ตเรียกมันว่า Colostrum ทรงพลัง” เพราะน้ำนมส่วนนี้เองที่ทำให้น้องมินที่คลอดก่อนกำหนดด้วยอายุครรภ์เพียง 7 เดือน นั้นรอดตายมาแล้ว

“ช่วงไตรมาสแรก หรือเดือนที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์นี้ น้ำนมจะถูกสร้างขึ้นมาจากการกระตุ้นของฮอร์โมน Estrogen, Progesterone, Prolactin, HPL นอกจากนี้ ยังมีฮอร์โมนตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย ระยะแรกนี้เต้านมของคุณแม่จะมีท่อน้ำนมที่งอกและแตกแขนงตรงส่วนปลายท่อ ต่อมาก็จะกลายเป็นต่อมน้ำนมที่มารวมกัน”

จากนั้น ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4 – 6 ของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมน HPL จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมระยะแรก แต่ยังไม่มีน้ำนมไหลออกมานะคะ เรื่อยไปจนกระทั่งช่วงของการตั้งครรภ์เข้าไตรมาสที่ 3 หรือเดือนที่ 7 – 9 ต่อมน้ำนม รวมถึงขนาดของเต้านมจะเริ่มมีการขยายมากขึ้น คุณแม่ไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจนะคะ หากช่วงนี้จะมีน้ำนมที่ไหลออกมาบ้างเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติค่ะ

ช่วง Lactogenesis II

หรือเรียกว่า “ช่วงน้ำนมหลังคลอด” 
น้ำนมช่วงนี้จะเกิดขึ้นหลังคลอด 30-40 ชม. โดยประมาณ ซึ่งตัวฮอร์โมน Prolactin จะทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายมีการผลิตน้ำนมมากขึ้นภายในระยะเวลา 2-3 วันหลังคลอด คุณแม่จะรู้สึกได้เลยว่าเต้านมตึงขึ้นมาก นั่นก็เป็นเพราะว่าเต้านมได้มีการผลิตน้ำนมมากขึ้นและมีการไหลเวียนของเลือดในเต้านมมากขึ้นนั่นเอง จึงทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่า “เย้…น้ำนมมาแล้ว” หลังจากคลอดแล้ว 2-3 วัน และหลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน น้ำนมจะผลิตได้มากหรือน้อยอย่างต่อเนื่อง ก็ขึ้นอยู่กับการดูดของทารก และการนำน้ำนมออกมาจากเต้าหรือการปั๊มออก ที่สำคัญ คุณแม่ต้องมีวินัยค่ะ ควรปั๊มออกทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง ค่ะ

**สำหรับ 2 ช่วงแรก กระบวนการผลิตน้ำนมจะเกิดขึ้นได้ก็จากการกระตุ้นของฮอร์โมนนะคะ โดยไม่ว่าลูกจะดูดหรือไม่ก็ตาม ร่างกายก็จะยังคงผลิตน้ำนมได้เองโดยธรรมชาติ**

ขอบคุณภาพประกอบจาก Breastfeedingthai.com

ช่วง Galactopoiesis

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมากทีเดียว เพราะช่วงนี้น้ำนมไม่ได้ผลิตมาจากการกระตุ้นของฮอร์โมนอย่างเดียวแล้วล่ะค่ะ แต่…สำคัญตรงที่ว่าคุณแม่ต้อง…

“กระตุ้นการผลิตน้ำนมโดยการให้ลูกน้อยดูด การนำน้ำนมออกมาด้วยมือหรือเครื่องปั๊มนม”

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่จะประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดายหรือจะยากลำบากก็อยู่ที่ช่วงนี้ค่ะ ยิ่งถ้าคุณแม่สามารถนำน้ำนมออกมาได้มากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมได้มากเท่านั้น

หากคุณแม่รู้สึกว่าน้ำนมนั้นยังน้อยอยู่ ยิ่งต้องให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อยขึ้นนะคะ ไม่ใช่ทดแทนด้วยการให้นมผงเสริม เพราะจะเป็นการแทรกแซงกลไกธรรมชาติของกระบวนการการผลิตน้ำนม ที่สำคัญ ยังเป็นการซ้ำเติมให้นมแม่ยิ่งมาช้าและน้อยลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ ใน 2-3 วันแรกหลังคลอด ทารกจะนอนหลับเป็นส่วนใหญ่ คุณแม่เองก็อาจเพลีย และเหนื่อยจากการคลอด การมีเครื่องปั๊มนมก็จะดีมากเลยค่ะ ช่วยได้เยอะทีเดียว เพราะถ้ารอแต่ลูกน้อยทางเดียวน้ำนมอาจผลิตไม่ทันอย่างที่ลูกน้อยต้องการ

ได้รู้กันแบบนี้แล้วว่าน้ำนมนั้นมีกระบวนการผลิตอย่างไร และการที่จะกระตุ้นให้มีน้ำนมมากๆ อย่างถูกวิธีต้องทำอย่างไร คุณแม่ก็ใจเย็นๆ พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ กระตุ้นการผลิตน้ำนมอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

หลักการผลิตน้ำนมในแต่ละวัน

ในเรื่องนี้ได้เคยมีผลงานการวิจัยและผลการศึกษาออกมาระบุไว้ว่า

“ปริมาณน้ำนมจะมีมากที่สุด คือ ในช่วงเช้า (ซึ่งถ้าคุณแม่ต้องการทำสต็อก ช่วงเช้านี้เหมาะที่สุดค่ะ) และจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเข้าช่วงบ่ายและเย็นตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณไขมันในน้ำนมจะยังมีน้อยในช่วงแรก แต่จะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นในช่วงเย็นเป็นต้นไป”

ความสามารถในการเก็บน้ำนมของเต้านม

ความสามารถในการเก็บน้ำนมของเต้านมหรือจะพูดให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือ “ขนาดเต้านม” ของคุณแม่นั่นเอง ที่จะมีปริมาณน้ำนมมากหรือน้อยไม่เท่ากัน แถมแต่ละข้างก็ยังมีปริมาณน้ำนมที่ไม่เท่ากันอีกด้วย แต่….ขนาดของเต้านมที่เล็กก็ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะมีปริมาณน้ำนมน้อยนะคะ อย่าเพิ่งกังวล เพราะมันอยู่ที่ความสามารถในการผลิตน้ำนมของคุณแม่มากกว่า อย่างที่ได้กล่าวไปค่ะ ถ้าลูกน้อยดูดเต้าน้อย การผลิตน้ำนมก็จะได้ปริมาณที่น้อยตามไปด้วย แต่ถ้าหากมีการนำน้ำนมออกจากเต้าได้มาก ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมออกมาได้มากเช่นกัน

วิธีเพิ่มปริมาณน้ำนม

น้ำนมจะมีการผลิตขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาในความเร็วที่ขึ้นอยู่ว่าเต้านมนั้นว่างหรือเต็ม เมื่อน้ำนมถูกสะสมเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ หลังจากระยะเวลาที่ลูกดูดครั้งสุดท้าย เมื่อน้ำนมเริ่มเต็ม ร่างกายก็จะเรียนรู้ว่าฉันจะผลิตน้ำนมน้อยลงแล้วนะ ดังนั้น ถ้าคุณแม่ต้องการที่จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้นในแต่ละวัน สิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือ ทำให้เต้าว่างให้บ่อยมากขึ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่า

คุณแม่ต้องเคลียร์เต้าให้ว่างถี่ขึ้น บ่อยขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกดูดเต้าให้บ่อยกว่าเดิม และ/หรือปั๊มออกระหว่างมื้อหลังจากที่ลูกดูดแล้ว

ทำให้เกลี้ยงเต้าได้มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกดูดเต้าหรือใช้การปั๊มออกก็ตาม คุณแม่ต้องพยายามให้เกลี้ยงเต้าได้มากที่สุด

**ทั้งนี้ เด็กบางคนจะชอบดูดเต้าในปริมาณที่มีน้ำนมเยอะอยู่ แต่พอเริ่มดูดยากขึ้น ลูกก็จะไม่ดูดต่อ คุณแม่จึงเปลี่ยนเต้า ถ้าเป็นแบบนี้ หลังจากที่ลูกน้อยดูดเต้าอิ่มแล้ว ให้คุณแม่ปั๊มนมออกอีกครั้งให้เกลี้ยงเต้าทั้งสองข้างนะคะ

เทคนิคทำให้เกลี้ยงเต้า

  • ให้ลูกเข้าอย่างถูกวิธี (คลิกที่นี่ >> วิธีให้ลูกดูดเต้า เข้าเต้าอย่างถูกวิธี ฉบับแม่มือใหม่เทิร์นโปร)
  • ใชการนวดเต้านม ประคบน้ำอุ่นที่หน้าอกช่วย
  • ให้ลูกดูดเต้าให้เกลี้ยงไปทีละข้างก่อน รอจนลูกดูดให้พอใจเสียก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนข้าง
  • หากลูกดูดจนอิ่มแล้ว แต่คุณแม่รู้สึกว่าลูกยังดูดไม่หมดให้ปั๊มออกนะคะ เพื่อให้เต้าได้ว่างมากที่สุด

 

การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตน้ำนมในแต่ละช่วงวัย

ในระยะหลังคลอดคุณแม่จะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกระบวนการผลิตน้ำนมในแต่ละช่วงวัย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้ค่ะ

ช่วง 2 – 3 วันแรก

ในช่วงหลังคลอด 2 – 3 วันแรกนี้ คุณแม่จะพบว่าร่างกายมีน้ำนมแล้ว แต่ในปริมาณที่ยังน้อยอยู่

ช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรก

ร่างกายคุณแม่จะยังมีการผลิตน้ำนมออกมาอย่างต่อเนื่อง หากมีการดูดหรือปั๊มออก ขณะเดียวกัน น้ำนมก็จะค่อย ๆ หายไปหากไม่มีการปั๊มออกอย่างสม่ำเสมอในช่วงนี้

ในช่วงนี้ ช่วงที่น้ำนมของคุณแม่จะมีเพ่ิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ (หากมีการดูดหรือปั๊มออกอย่างสม่ำเสมอ) บางครั้งอาจมีมากเกินความต้องการของลูกน้อย คุณแม่สามารถสังเกตได้จากขณะที่ลูกกำลังดูดข้างหนึ่งอยู่ แต่อีกข้างก็ดันมีน้ำนมไหลซึมออกมา หรือบางครั้งอาจมีการไหลซึมออกก่อนที่จะถึงมื้อนมในมื้อถัดไปของลูกด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะสอดคล้องกับความต้องน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้นของลูกค่ะ

ช่วง 1 – 6 เดือน

ช่วงนี้ลูกน้อยจะมีความต้องการน้ำนมแม่คงที่ หรือถ้าจะเพิ่มก็เพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้นค่ะ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า Growth Spurts

ทั้งนี้ งานวิจัยที่มีอยู่ก็ไม่ได้ระบุว่า “ปริมาณน้ำนมที่ลูกน้อยต้องการนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุหรือน้ำหนักตัวในช่วง 1 – 6 เดือนนี้แต่อย่างใด”

ช่วง 6 – 12 เดือน

ช่วงนี้ถึงแม้ว่าลูกน้อยเริ่มที่จะให้อาหารเสริมได้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยไม่ต้องการน้ำนมแม่อีกแล้วนะคะ กลับกันน้ำนมแม่ยังถือเป็นอาหารหลักของลูกน้อยอยู่โดยเฉพาะในขวบปีแรก แนะนำว่าถ้าลูกยังกินนมคุณแม่ได้อยู่ ควรให้ลูกได้กินไปจนกว่าเค้าจะหย่าเต้าเองค่ะ ยกเว้นว่าคุณแม่มีเหตุผลบางอย่างที่ไม่สามารถให้ลูกเข้าเต้าได แต่เราก็สามารถปั๊มออกไว้ให้ลูกได้กินก็ได้ค่ะ

ช่วง 1 ½ – 3 เดือนแรก

ในช่วงแรกหลังคลอด ฮอร์โมนโปรแล็คตินที่เคยอยู่ในระดับสูง ๆ ก็จะเริ่มลดลงจนเข้าสู่ระดับปกติ เมื่อฮอร์โมนดังกล่าวลดลง คุณแม่จะรู้สึกว่าไม่ได้คัดเต้าเหมือนในช่วงแรกแล้ว น้ำนมที่เคยพุ่งก็จะค่อย ๆ หายไป จนกระทั่งไม่ได้รู้สึกถึงการหลั่งของน้ำนม (Let down reflex) และปริมาณน้ำนมที่ได้จากการปั๊มออกก็ลดลงด้วย

อย่างหนึ่งอยากให้คุณแม่จำไว้ว่า ในช่วงแรกที่คุณแม่รู้สึกถึงอาการคัดตึง เจ็บปวดเต้า หรือมีการไหลซึมของน้ำนมนั้น นั่นคือ น้ำนมที่ผลิตออกมานั้นเกินความต้องการของลูกน้อย แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ร่างกายปรับตัวได้ ปริมาณน้ำนมก็จะพอดีกับความต้องการของลูกในแบบที่ไม่มีส่วนเกิน แต่ไม่ใช่ว่าน้ำนมไม่พออย่างที่คุณแม่หลายคนคิดและกังวลกันนะคะ เพียงแต่ให้คุณแม่เอาลูกดูดเต้าหรือมีการปั๊มออกอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่ต้องให้นมผสมเพิ่ม ร่างกายก็จะสามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกได้ตรายนานเท่านานเลยล่ะค่ะ

ต้องรอให้น้ำนมเต็มเต้าก่อนหรือเปล่าค่อยให้ลูกดูด

เมื่อให้ลูกดูดเกลี้ยงเต้าแล้ว คุณแม่บางคนอาจเข้าจ่าต้องรอให้น้ำนมเต็มเต้าก่อนแล้วค่อยให้ลูกดูด ซึ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งค่ะ

เพราะในความเป็นจริงแล้ว เต้านมมีการผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้น เต้านมจะไม่ได้เกลี้ยงจริง ๆ ปริมาณน้ำนมที่ลูกน้อยดูดไป จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหิวของลูกน้อย ซึ่งต่างกันไปในแต่ละมื้อ โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 75 – 80% ของปริมาณน้ำนมที่มีอยู่ในเต้านม

หากคุณแม่ให้ลูกน้อยดูดนมไปมากแค่ไหน น้ำนมก็จะผลิตมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การที่คุณแม่กำหนดเวลาแป๊ะ ๆ ว่ากี่ชั่วโมงลูกถึงจะดูดนมได้ หรือต้องทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมงนั้น (ด้วยความเข้าใจผิดว่าต้องรอให้น้ำนมเต็มเต้าก่อน) แบบนี้จะไม่ได้ช่วยให้เต้านมผลิตน้ำนมมากขึ้น กลับกัน หากเว้นช่วงเวลาที่ลูกดูดเต้าหรือปั๊มนมออกนาน ๆ จะเป็นการทำให้กระบวนการการผลิตน้ำนมนั้นน้อยลง การสะสมของน้ำนมก็จะใช้เวลาที่นานขึ้นค่ะ


Mommy Note

3,131,851 views

คุณแม่ลูกหนึ่ง ที่ใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบ "Tradigital" แบบดั้งเดิมผสมผสานกับความดิจิทัลในยุคปัจจุบัน เน้นเลี้ยงลูกให้เป็นคนธรรมดาที่มีสุข ติดต่องานได้ที่ e-mail : simplymommynote@gmail.com

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save