ยาเสพติดในวัยรุ่น จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกติดยา
วัยรุ่นกับยาเสพติด นับเป็นเรื่องใกล้ชิดกันจนถึงขั้นเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะ “เสี่ยง” ติดสารเสพติดได้มากกว่าช่วงวัยอื่น เพราะนอกจากปัญหายาเสพติดจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ การเรียน ครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาสังคม ในระดับประเทศอีกด้วย ดังนั้นสถาบันครอบครัวจึงเป็นจุดแรกเริ่ม ที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะยับยั้งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสังเกตสัญญาณเตือน ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ยาเสพติดสัมพันธ์กับวัยรุ่นมากที่สุด
สาเหตุที่ทำให้ยาเสพติดมีส่วนสัมพันธ์กับวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่นๆ นั้นสืบเนื่องมาจาก…
ความอยากรู้ อยากลอง
การเจริญเติบโตทางสมอง ความคิด และสติปัญยาของวัยรุ่นยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ บางครั้งอาจมีการเข้าใจผิด อยากรู้อยากลอง อยากทำตามเพื่อน
รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว
ความไม่เข้าใจกันในครอบครัว มีความแตกต่างกันมากทางความคิด และช่วงวัย จนวัยรุ่นรู้สึกเหมือนตนเองอยู่โดดเดี่ยว ขาดคนเข้าใจ
ปัญหาเกี่ยวกับความรัก
เช่น ไปแอบชอบคนที่เขาไม่ได้รักเรา หรือจับได้ว่าแฟนนอกใจ เป็นต้น
ไม่มีต้นแบบที่ดีในชีวิต
เมื่อวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวตนอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาต้องการคนต้นแบบที่ดี เพื่อให้เป็นต้นแบบในการเลียนแบบตาม และเดินไปสู่ความสำเร็จ กลับกัน หากวัยรุ่นขาดต้นแบบที่ดี เขาก็จะออกนอกลู่นอกทางได้
จนในที่สุดจากปัญหาในจุดเล็กๆ (ที่วัยรุ่นไม่เคยมองว่าเล็กสำหรับตัวเขา) ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ปมปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในสังคม เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม รวมถึงปัญหาความมั่นคงของประเทศอีกด้วย
สัญญาณอันตรายที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง
จากปัญหาดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนจึงควรให้ความใส่ใจ หมั่นดูแล เฝ้าระวังบุตรหลานของท่านที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือกำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสัญญาณอันตรายดังต่อไปนี้ ที่บ่งบอกว่าบุตรหลานของท่านอาจมีการใช้สารเสพติด ได้แก่
ลมหายใจมีกลิ่นแปลกไปจากปกติ
เช่น มีกลิ่นบุหรี่ กลิ่นสารเสพติด ซึ่งจะสังเกตได้ไม่ยากนัก เพราะกลิ่นต่างๆ เหล่านี้จะปรากฎเด่นชัดเมื่ออยู่ใกล้ หรือแม้เพียงแค่เดินผ่าน
รูม่านตาขยาย
พร้อมกับมีการกลอกตาไปมาอย่างรวดเร็ว ไม่กล้าสบตา ดูหลุกหลิก มีอาการตาแดง
มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย เคร่งเครียด และมีภาวะซึมเศร้า
ไม่มีความมั่นคงในการทรงตัว
บางครั้งในการยืน หรือเดินดูไม่นิ่ง ทรงตัวไม่ตรง เดินเซ หรือมีอาการเหมือนจะยืนไม่อยู่ เป็นต้น
มีภาวะไฮเปอร์
ภาวะไฮเปอร์ คือ ภาวะที่อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องทำสิ่งนั้นๆ เช่น ในบางรายอาจนั่งซ่อมวิทยุ แก้ไขเครื่องเล่นซีดีอยู่ทั้งวันทั้งคืน ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เสียหายอะไร เป็นต้น
มีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอย่างชัดเจน
บางครั้งมีทั้งอาการกระสับกระส่าย และเฉื่อยชาสลับกันไป ตอบสนองช้า มีความสับสนในการตัดสินใจ ตัดสินใจไม่ได้
มีปัญหาในการนอน
เช่น บางครั้งนอนมากเกินไป นอนเป็นเวลานาน แต่บางครั้งอาจไม่นอนเลยทั้งคืน
ผลการเรียนตกต่ำ
มีการเปลี่ยนกลุ่มเพื่อน ขาดเรียนบ่อย หนีเรียน ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่ค่อยพูดหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเหมือนปกติ
ใช้เงินมากผิดปกติ
โกหก มีความลับอยู่ตลอดเวลา และมักมีพฤติกรรมหยิบฉวยของในบ้านไปขาย หรือขโมยของ
มีสิ่งของที่สื่อได้ว่าใช้ในการเสพยา
โดยทั่วไปมักพบว่ามีเศษกระดาษ หลอด เข็มฉีดยา ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ ขวดยา แผงยา อยู่ในห้อง หรือมีติดตัว
มักสวมเสื้อแขนยาว
ข้อนี้มักจะเป็นการสวมเสื้อแขนยาวตลอดเวลา แม้ในช่วงหน้าร้อน เพื่อปกปิดรอยเข็มฉีดยา
เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานของท่าน เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นที่กล่าวมา ควรรีบหาทางป้องกันและแก้ไขโดยด่วนที่สุด แต่สิ่งที่ไม่ควรทำอบ่างเด๋ดขาดเลยก็คือ การด่าทอ อาระวาด ทุบตี หรือลงโทษบุตรหลานของท่านด้วยความรุนแรง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีจึ้นแล้ว กลับจะยิ่งผลักดันให้สถานการณ์ไปสู่ความเลวร้ายมากขึ้นอีกด้วย
การป้องกันไม่ให้ลูกติดยาเสพติด
แนวทางในการป้องกัน ไม่ให้ลูกหลานวัยรุ่นติดยา พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน สามารถร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของบุตรหลานท่านได้ด้วย 4 ต้อง (ทำ) ดังนี้ คือ
ต้องมีอนาคต (ให้อนาคตที่ดีแก่วัยรุ่น)
เด็กๆ ในช่วงวัยรุ่น ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ แต่อาจมีอุปสรรคในการเรียน หรือการอยู่ในระบบการศึกษา จนทำให้ต้องละทิ้งการเรียนและออกมาหางานทำแทน ดังนั้นการส่งเสริมอาชีพ ให้เด็ก ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ ก็สามารถช่วยให้พวกเขาไม่ต้องหันหน้าไปพึ่งพายาเสพติดได้ เพราะเขารู้แล้วว่าถ้าเขาเดินทางนี้ เขาจะมีอนาคตที่ดีแน่นอน
ต้องมีทักษะ
เด็กและวัยรุ่นทุกคนต้องการทักษะในการดำเนินชีวิต ต้องการการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ต้องการการฝึกฝน และแบบฝึกหัดในการพัฒนาทักษะในการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจมีทั้งเรื่องที่ถูกและผิดผ่านเข้ามาให้พวกเขาได้ตัดสินใจ พ่อแม่ ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และผู้ใกล้ชิดควรให้ความสำคัญ หรืออาจเป็นที่ปรึกษาให้กับพวกเขาก่อนที่เขาจะตัดสินใจอะไรลงไป อาจตั้งคำถามและฝึกให้เขาได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง แทนวิธีการอบรม สั่งสอน หรือออกคำสั่งให้ปฏิบัติตาม
ต้องมีคุณค่า
เด็กทุกคนต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม ต้องการให้พ่อแม่ และคนรอบข้างเห็นถึงความสำคัญของพวกเขา ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนใกล้ชิดควรให้ความรัก ความเข้าใจ และแสดงออกให้พวกเขาเห็นถึงคุณค่าในตนเอง รู้จักที่จะรักตนเองอย่างถูกต้อง
ต้องมีแบบอย่างที่ดี
เด็กและเยาวชนต้องการแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ รวมถึงคนใกล้ชิดควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก เป็นที่พึ่งพา และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาได้ ในยามที่เขาต้องการ
ปัจจุบัน ปัญหาวัยรุ่นกับยาเสพติดถือว่ามีความละเอียดอ่อน และซับซ้อนมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ เนื่องเพราะมีปัจจัยเสี่ยงทางสังคมอยู่มากมายหลายประการด้วยกัน แต่ถึงกระนั้นก็คงไม่ยากเย็นเกินไปที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ตลอดจนคนใกล้ชิด จะช่วยกันประคับประคอง ดูแล บุตรหลานของท่าน ให้ผ่านพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้ ด้วยความรัก และความปรารถนาดี ที่ทุกคนมีให้กัน