ทารกร้องไห้ตอนกลางคืน เพราะอะไร ร้องแบบไหนผิดปกติ พร้อมวิธีรับมือ

ทารกร้องไห้ตอนกลางคืน เพราะอะไร ร้องแบบไหนผิดปกติ พร้อมวิธีรับมือ
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 10 29

เป็นที่รู้กันว่า เมื่อทารกเกิดมานั้นยังไม่รู้จักกลางคืนกลางวัน จึงยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเวลาของโลกใบนี้ได้ กลางวันนอนเยอะ เมื่อถึงช่วงเวลากลางคืนก็มักตื่นบ่อย และบางครั้งก็ร้องไห้ไม่หยุด แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความกังวลเป็นอย่างมากว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกหรือเปล่าทุกครั้งที่ลูกส่งเสียงร้องไห้ ยิ่งเป็นพ่อแม่มือใหม่ด้วยแล้วทั้งรู้สึกเครียด และไม่มั่นใจว่าจะช่วยลูกให้หยุดร้องได้อย่างไร แต่วางใจได้อย่างหนึ่งนะคะว่า มีพ่อแม่หลายคนก็ประสบกับปัญหาเหล่านี้เช่นกัน โดยธรรมชาติของทารกจะใช้การร้องไห้เป็นการสื่อสารหลัก เป็นวิธีดึงดูดความสนใจจากแม่ และเป็นการแสดงความต้องการของตัวเอง ดังนั้นทารกจึงร้องไห้ด้วยหลายเหตุผล อาจเป็นเรื่องยากที่จะตีความเสียงร้องต่างๆ ของทารก แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาฟังมากขึ้น ก็จะเข้าใจและตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกได้ดีขึ้นค่ะ

ทำไมลูกมักร้องไห้ตอนกลางคืน

ทารกจะใช้การร้องไห้เป็นการสื่อสาร และจะไม่หยุดร้องจนกว่าพ่อแม่จะตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ตรงจุด สาเหตุของการร้องไห้ที่ถือว่าไม่เป็นอันตรายสำหรับทารก ได้แก่

เข้าช่วงเติบโตอย่างพุ่งพรวด (Growth Spurt)

เป็นช่วงเวลาที่ทารกหรือเด็กเข้าสู่ช่วงที่มีการพัฒนาทางร่างกายอย่างมาก ทำให้มีความต้องการอาหารมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ร่วมด้วย ทารกจึงตื่นบ่อย ต้องการให้อุ้มและกอดตลอดเวลา กินถี่กว่าเดิม และอึ/ฉี่เยอะ หากผ่านช่วงเวลานี้ไปคุณพ่อคุณแม่ก็จะพบว่าลูกมีพัฒนาการใหม่ที่เพิ่มขึ้น เช่น ชันคอ คว่ำ นั่ง คลาน ยืน เดิน โดยช่วงแรกเกิดจนถึง 3-4 เดือนแรก ทารกจะเข้าช่วง Growth Spurt อยู่ 3-4 ครั้ง ในแต่ละช่วงจะยาวประมาณ 3-10 วัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่มือใหม่หลายคนสับสน อดหลับอดนอน และเหนื่อยมาก ทั้งกังวลเรื่องน้ำนม และยังเจอพฤติกรรมของลูกที่ร้องไห้โยเยแบบไม่มีสาเหตุทั้งที่เอาเข้าเต้าตลอด จนอาจพาลคิดไปว่าน้ำนมพอต่อความต้องการของลูกหรือเปล่า ซึ่ง Growth Spurt มักเกิดที่ช่วงอายุ ดังนี้

  • 3 – 10 วัน หลังคลอด
  • 3 – 6 สัปดาห์
  • 2 – 4 เดือน
  • 6 เดือน
  • 9 เดือน

เกิดแก๊สในกระเพาะจำนวนมาก

ทารกมักเกิดแก๊สในกระเพราะได้ง่าย ทั้งจากระบบการย่อยอาหารของทารกที่ยังทำงานได้ไม่มี การกินนมผิดวิธีทำให้ลมเข้ากระเพาะจำนวนมาก และจากการร้องไห้บ่อยแล้วงับเอาลมเข้ากระเพาะ ดังนั้นระหว่าง และหลังกินนมทุกครั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยลูกด้วยการจับเรอเสมอ หรือทำท่าออกกำลังกายช่วยไล่ลม เพื่อลดแก๊สในกระเพราะให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้นค่ะ

ทารกเหนื่อยเกินไป

เป็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ว่าการให้ทารกตื่นนานขึ้น นอนให้น้อยลงในช่วงกลางวันจะทำให้ทารกหลับได้ดี และหลับได้นานขึ้นในตอนกลางคืน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากทารกพักผ่อนช่วงกลางวันน้อยเกินไป เมื่อเข้านอนตอนกลางคืนทารกจะตื่นบ่อย หรือมักสะดุ้งตื่นมาร้องไห้ และหลับได้ยากขึ้น เพราะทารกรู้สึกเหนื่อยเกินไปจึงเข้าสู่ช่วงหลับลึกได้ยาก และประกอบกับทารกยังไม่รู้วิธีหลับด้วยตัวเองนั่นเองค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ฝึกลูกนอนยาว ควรเริ่มเมื่อไหร่ดี มีวิธีการฝึกอย่างไร

ทารกถูกกระตุ้นมากเกินไป

เนื่องจากระบบประสาทที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ของทารกนั้นมีความไวต่อแสง เสียง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก เมื่อมีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้มาก ๆ จึงทำให้ทารกตื่นกลัว และรู้สึกไม่สบายใจมากเป็นพิเศษ เช่น เราอาจสังเกตเห็นว่าเมื่อเปิดทีวีแล้วมีแสงเกิดขึ้นในห้องมืด หรือมีเสียงดังเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ สะดุ้งร้องไห้อย่างหนักได้

ออกกำลังกายไม่เพียงพอ

การร้องไห้ในตอนกลางคืนของทารกอาจมาจากในช่วงกลางวันทารกได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยด้วยการหากิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายให้ลูกทำเพิ่ม เช่น การปั่นจักรยานอากาศ Tummy Time หรือแขวนโมบายให้ลูกได้ฝึกสายตาและกำลังแขนในการคว้าสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

ร้องไห้โคลิค (Colic)

อาการของเด็กที่ร้องโคลิคสังเกตได้จากช่วงที่ร้องทารกจะร้องเสียงดัง เสียงสูง หน้าท้องเกร็ง ร้องไม่หยุดนานกว่า 3 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น พบว่าร้องบ่อยที่สุดในช่วงเย็น หรือช่วงค่ำ ปลอบให้หยุดได้ยาก เป็นบ่อยถึง 3 วันต่อสัปดาห์หรือมากกว่า สามารถพบอาการร้องโคลิคได้ตั้งแต่แรกเกิด พบบ่อยมากที่สุดช่วงอายุ 4 – 6 สัปดาห์ และมักจะเป็นไม่เกินอายุ 5 เดือน โดยในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการร้องไห้ในลักษณะนี้ได้ค่ะ อาจช่วยลูกได้ด้วยการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือกิจกรรม เช่น พาลูกออกไปนั่งรถเล่น อุ้มลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน คอยปลอบ ลูบหลัง เปิดเพลงช้า ๆ เบา ๆ ให้ลูกฟัง พาอาบน้ำอุ่น หาจุกนมให้ดูด หรือการเบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งอาจจะช่วยให้ทารกหยุดร้องโคลิคได้ โดยแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำไปทีละอย่าง และสังเกตว่าทำแบบไหนลูกจะร้องน้อยลง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การแยกว่าลูกร้องแบบไหน เป็นการร้องงอแงธรรมดา ร้องจากอาการเจ็บป่วยหรือร้องโคลิค เพราะอาการร้องโคลิคไม่ได้ส่งผลอันตรายกับทารก และสามารถหายได้เองค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการโคลิค vs ร้องไห้ทั่วไป ต่างกันอย่างไร วิธีรับมือ

ทารกร้องไห้กลางคืน แบบนี้ผิดปกติ

นอกจากสาเหตุทั่วไปของการร้องไห้ในทารกที่ไม่เป็นอันตรายแล้ว ก็ยังมีสาเหตุของการร้องไห้ที่แสดงถึงความเจ็บป่วย ไม่สบายตัวอย่างมากของทารก ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกายของลูกได้ค่ะ

โรคลำไส้อุดตัน (Gut Obstruction)

โรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิด เป็นภาวะที่กระเพาะอาหารหรือสำไส้เกิดการอุดตัน ทำให้อาหารผ่านลงไปไม่ได้ เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่กระเพาะอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ เช่น กระเพาะส่วนปลายตีบตันโดยกำเนิด มักพบในช่วงอายุ 2 – 8 สัปดาห์ หรือตำแหน่งของระบบทางเดินอาหารวางตัวผิดที่ ทำให้เกิดการบิดและพันกันของลำไส้เล็ก จึงไม่สามารถนำอุจจาระเคลื่อนลงสู่รูทวารหนักได้ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ส่งผลให้ทารกร้องไห้งองแงอย่างเจ็บปวด และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียนพุ่งทุกครั้งหลังกินนม ไม่ถ่ายเอาขี้เทาออกมาหรือถ่ายออกช้า ท้องอืดไม่ค่อยถ่ายหรือผายลมเหมือนเด็กปกติ น้ำหนักตัวขึ้นไม่ดีหรือลดลง เป็นต้น

โรคกลำไส้กลืนกัน (Intussusception)

คือ ภาวะที่ลำไส้ส่วนต้นมุดเข้าสู่โพรงของลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย ถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานาน จะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเกิดการเน่า ลำไส้แตกทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจจะเสียชีวิตได้ ซึ่งเด็กวัย 3 เดือน ถึง 2 ปี เป็นวัยที่เสี่ยงเกิดโรคนี้ที่สุด ส่งผลให้ทารกร้องไห้อย่างเจ็บปวดเป็นพัก ๆ ประมาณ 15 – 30 นาทีก็เริ่มร้องอีก เวลาที่ร้องไห้ลูกจะงอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง Colicky ain และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องอืดและอาเจียนอาจมีน้ำดีปนออกมาด้วย อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก ในเด็กบางคนมีอาการซึมหรือชักร่วมด้วย เป็นต้น

เจ็บป่วยอื่น ๆ

เด็กทารกอาจร้องไห้เพราะรู้สึกเจ็บ มีบาดแผล หรือมีอาการป่วย เช่น เป็นไข้ ตัวร้อน ทำให้ร่างกายไม่เป็นปกติ จึงแผดเสียงร้องไห้ไม่ยอมหยุด คุณแม่อาจลองตรวจดูตามร่างกายว่าเกิดแผล หรือมีสิ่งผิดปกติ หรือมีอาการป่วยอื่นๆจนต้องไปหาหมอหรือไม่ เพราะบางครั้งการร้องไห้ของทารกอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางการแพทย์ จึงร้องไห้เพื่อสื่อสารกับผู้ดูแลว่าเกิดความไม่สบายตัว พ่อแม่สามารถปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลเด็กเมื่อเกิดความกังวลในการร้องไห้ของลูก แต่ไม่ควรซื้อยามาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์นะคะ

วิธีรับมือ ทารกร้องไห้ตอนกลางคืน

ทารกแต่ละคนก็ชอบวิธีการปลอบที่ไม่เหมือนกัน หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ดูเหมือนจะร้องไห้โดยหาสาเหตุไม่ได้จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด M.D. Harvey Karp กุมารแพทย์อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ใช้ วิธี “Five S” ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ให้ลูก และช่วยให้ปฏิกิริยาตอบสนองของทารกสงบลงได้ค่ะ

Swaddling (การห่อตัว)

การห่อตัวทารกด้วยผ้า จะทำให้ทารกรู้สึกคุ้นเคย และปลอดภัยเหมือนตอนอยู่ในท้องของคุณแม่

Stomach Position (เปลี่ยนตำแหน่งท้องของลูก)

เวลาอุ้มกล่อมลูกให้อุ้มในลักษณะนอนตะแคงตัว เชื่อว่าจะทำให้ลูกสบายตัวมากกว่า แต่หากนำกลับลงไปนอนบนเตียงให้วางลูกนอนหงายเสมอ ไม่นอนคว่ำหรือนอนตะแคงนะคะ

Shushing (เปิดเพลงแบบไวท์นอยส์)

การเปิดเพลงแบบ White Noise ที่เป็นเสียงราบเรียบ มีความถี่สม่ำเสมอ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่คุ้นเคยให้กับทารกเหมือนตอนลอยในน้ำคร่ำในท้องของแม่ จึงทำให้ลูกรู้สึกสงบลง เช่นเสียงจาก การเต้นของหัวใจ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องเป่าผม พัดลม เครื่องอบผ้า เสียงฝนตก

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
25 เพลงกล่อมนอน ลูกน้อยหลับสบายไปกับเสียงแม่

Swinging (เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ)

การสร้างความเคลื่อนไหวที่เป็นจังหวะใด ๆที่คล้ายกับสภาวะที่อยู่ในน้ำคร่ำทำให้ทารกเคลิม และสงบลงได้ค่ะ  ตัวอย่างเช่น การอุ่มโยกไปมาเบาๆ การพาลูกนั่งในรถเข็นเด็กหรือรถยนต์ การอุ่มนั่งบนเก้าอี้โยก การให้นอนบนเปล เป็นต้น

Sucking (การดูด)

คุณพ่อคุณแม่อาจลองให้ลูกดูดของบางอย่าง เช่น จุกนมหลอก อาจช่วยให้ลูกสงบลงได้ แต่ต้องเลือกจุกหลอกที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจไปเพิ่มแก๊สในกระเพราะได้เช่นกันค่ะ

เวลาที่ลูกร้องไห้งอแง แผดเสียง ดีดตัว หน้าดำหน้าแดง สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือคุณแม่ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ด้วยนะคะ เพราะทารกเป็นสิ่งมีชีวิตที่สัมผัสความรู้สึกของผู้เลี้ยงได้ดีมากๆ ถ้าแม่ยิ่งมีอารมณ์หงุดหงิด เกรี้ยวกราดไปด้วย สถานการณ์นั้นจะยิ่งตึงเครียดและจัดการได้ยาก ถ้าคุณแม่รู้สึกหงุดหงิด รับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าไม่ไหว ให้ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างอย่างคุณพ่อ คุณตา คุณยาย หรือคุณปู่ คุณย่าได้นะคะ เพื่อให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้าง อย่าปล่อยให้ตัวเองหิว นอนพักผ่อนให้พอแม้ว่าจะทำได้ยากก็ตาม และหาเวลาไปเดินออกกำลังกายรับแสงแดดในแต่ละวันบ้าง เพื่อเติมพลังจะได้มีแรงเลี้ยงลูกและรับมือกับลูกในวันต่อ ๆ ไปได้ค่ะ


Mommy Gift

155,935 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save