เด็กขี้อิจฉา พ่อแม่จะแก้ปัญหาอย่างไรดี?

เด็กขี้อิจฉา พ่อแม่จะแก้ปัญหาอย่างไรดี?
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2023 07 20

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนคงเคยเห็นพฤติกรรมขี้อิจฉาของเด็กคนอื่นๆ มาบ้างแล้ว และคงรู้สึกว่า มันคงไม่ดีแน่ ๆ หากพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นของลูกเราเองบ้าง แต่ถ้าหากวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่กลับพบว่าลูกของเรากลายเป็นเด็กขี้อิจฉาขึ้นมาบ้าง จะรับมืออย่างไรดี วันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ

สาเหตุของเด็กขี้อิจฉา

ในบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจไม่รู้ว่า ตนเองได้กลายเป็นผู้จุดประกายความเป็นเด็กขี้อิจฉาให้เกิดขึ้นกับลูกของตนเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้เพราะสาเหตุที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้อิจฉาส่วนใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่นั่นเอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

พ่อแม่ชอบเปรียบเทียบ

รู้หรือไม่ว่าการที่คุณพ่อคุณแม่ชอบพูดเปรียบเทียบลูกของจนเองกับลูกของคนอื่นในวัยเดียวกันนั้น คือการบ่มเพาะนิสัยความขี้อิจฉา ริษยา ให้เกิดขึ้นกับลูกของตนเอง ยิ่งเมื่อได้รับฟังคำพูดแบบนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ เด็กๆ ก็จะสะสมนิสัยชิงดีชิงเด่น และความต้องการเอาชนะ จนกลายเป็นคนที่แพ้ไม่เป็น

ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนที่มีความต้องการเป็นที่หนึ่ง หรืออยู่เหนือคนอื่นตลอดเวลา และหากวันใดวันหนึ่งเขาตกอยู่ในความพ่ายแพ้ เด็กๆ (หรือแม้กระทั่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม) ก็จะเกิดภาวะยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต หรืออะไรที่มากไปกว่านั้น…

เลี้ยงลูกตามใจเกินเหตุ

ดูเผินๆ คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่าการตามใจลูกน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ที่จะไม่ทำให้ลูกเป็นเด็กขี้อิจฉาริษยาผู้อื่นไม่ใช่หรือ? แต่ความจริงแล้วนั่นอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะแท้จริงแล้ว เมื่อเด็กๆ ได้รับการเติมเต็มด้วยความรักและวัตถุทุกๆ อย่างที่พ่อแม่ตามใจ หามาให้ทุกเมื่อยามที่ลูกต้องการ จนทำให้ลูกหลงคิดว่าตนเองนั้นนเป็นคนสำคัญที่สุด และมีพร้อมทุกสิ่งที่ต้องการ

แต่หากวันใดวันหนึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป เช่น เด็กๆ อาจมีเพื่อนในวัยเดียวกันที่เรียนเก่งกว่า มีบ้านหลังใหญ่กว่า มีของเล่นที่ดีกว่า เด็กๆ ก็จะรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า รู้สึกผิดหวัง และอาจจะถึงขั้นรับความผิดหวังไม่ได้ เพราะไม่เคยเตรียมใจรับมาก่อนว่า โลกทั้งใบไม่ได้เป็นของเขาคนเดียว เด็กๆ เหล่านั้นก็จะกลายเป็นเด็กขี้อิจฉา ริษยาเพื่อนๆ (หรือใครก็ตามที่มีดีกว่าตน มากกว่าตน) เป็นต้น

พ่อแม่เผด็จการ และเข้มงวด

บางครั้งการที่พ่อแม่เข้มงวดจนกลายเป็น “จอมบงการ” สำหรับชีวิตลูก ก็อาจสร้างปมด้อยให้กับเด็กๆ ได้ เพราะเด็กเล็กๆ มักจะไม่เข้าใจคำสั่งที่บีบบังคับ เข้มงวดโดยปราศจากการอธิบายเหตุผลของพ่อแม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะสร้างความไม่มั่นคงทางจิตใจ ความหวาดกลัว และความไม่มั่นใจในตัวเองให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ แล้ว ยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย ด้อยค่า ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จนกลายเป็นความรู้สึกอิจฉา ริษยาผู้อื่นอยู่ในใจลึกๆ เมื่อเห็นคนอื่นมีอิสระทั้งความคิดและการกระทำ แต่ตนเองไม่มี สิ่งนี้จะทำให้เป็นปมในจิตใจของเด็กๆ เรื่อยมา แม้กระทั่งเมื่อเขาเติบโตขึ้น ความรู้สึกนี้ก็จะไม่หายไป หากไม่ได้รับการเติมเต็มช่องว่างในหัวใจของตนเอง ที่มีมาตั้งแต่วัยเยาว์

เมื่อถูกแบ่งปันความรัก

นับเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัวที่เมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา แล้วจะทำให้ลูกคนโตคิดว่าตนเองถูกละเลย พ่อแม่ไม่รักตนเหมือนก่อน รักแต่น้อง สนใจแต่น้อง ฯลฯ กลายเป็นความคิดอิจฉาน้อง ซึ่งความรู้สึกในด้านลบเหล่านี้อาจพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงปล่อยปละละเลย หรือไม่พยายามอธิบายให้ลูกฟัง จนในที่สุด ความรู้สึกห่างเหินระหว่างพี่น้องอาจทวีรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้อง และลุกลามเป็นปัญหาหลักของครอบครัวไปโดยปริยาย…

วิธีรับมือ ไม่ให้เป็นเด็กขี้อิจฉา

ใช้การสื่อสารให้เป็นประโยชน์

ตัวอย่างเช่น การอ่านนิทานที่มีเนื้อหาทางศีลธรรม จริยธรรม ให้กับลูกๆ ฟังบ่อยๆ สอนให้เขาเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม การให้อภัย และการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น

ทั้งนี้เพราะนอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว นิทาน การ์ตูน หรือภาพยนต์สำหรับเด็กในบางเรื่องราวจะมีเนื้อหาสอดแทรกเกี่ยวกับเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม โดยที่เด็กๆ ไม่ทันรู้ตัว แต่พวกเขาจะซึมซับความรู้สึกประทับใจจากเนื้อหาของเรื่อง และนำมาเป็นคติประจำใจของตนเองได้ โดยที่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องสอนอะไรมากด้วยซ้ำ เพียงแค่การตั้งคำถามง่ายๆ จากเนื้อเรื่องที่ลูกได้ดู แล้วให้เด็กๆ ลองหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นต้น

เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

ครอบครัว หรือพ่อแม่ คือแบบอย่าง และจุดเริ่มต้นทางความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ ดังนั้น พวกเขาจะเริ่มมองตนเองจากการดูพ่อแม่เป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุนี้คุณพ่อคุณแม่จึงเปรียบเสมือนครูคนแรกของลูกๆ ก็ว่าได้ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นเด็กแบบไหน ก็ควรเป็นแบบอย่าวงที่ดีให้กับพวกเขา เป็นต้นว่า การสอนลูกให้รู้จักการแบ่งปัน ทำให้เขารู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่นของทุกๆ คนในครอบครัว แสดงให้เขาเห็นว่า ไม่มีใครที่ดีเด่น หรือด้อยค่าไปกว่ากัน แต่ทุกๆ คนในครอบครัวต่างมีคุณค่าเสมอและเท่าเทียมกันทุกคน เป็นต้น

ชื่นชม ให้กำลังใจ และพูดถึงข้อดีของลูก

การชื่นชม และให้กำลังใจลูก พูดถึงจุดแข็ง หรือจุดดีของลูกบ่อยๆ ก็เป็นอีกข้อหนึ่วงที่จะช่วยลบความรู้สึกอิจฉาริษยาออกไปจากใจลูกได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะเด็กๆ ทุกคนมักชอบที่จะได้รับคำชมจากพ่อแม่ อยากได้ยินพ่อแม่พูดถึงส่วนดีของตนบ่อยๆ ด้วยกันทั้งสิ้น ถ้อยคำชื่นชมอย่างจริงใจเหล่านี้เองที่จะช่วยลบปมด้อยในใจของลูกได้อย่างดี ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น นั่นเอง

ไม่เปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนอื่น

เด็กๆ จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า และไม่เป็นที่รักที่ต้องการของพ่อแม่ขึ้นมาทันที เมื่อได้ยินคำพูดเปรียบเทียบตนเองกับเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ดังนั้นพฤติกรรมและคำพูดแสดงการเปรียบเทียบ คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบในเรื่องของผลการเรียน, ผลการทดสอบ ผลการแข่งขันต่างๆ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบความสามารถของลูกกับพี่น้องคนอื่นๆ ก็ตาม

เพราะสิ่งเหล่านี้จะบ่มเพาะความรู้สึกหดหู่ น้อยใจ เสียใจ และการไม่เห็นคุณค่าของตนเองให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ทำให้พวกเขากลายเป็นเด็กก้าวร้าว ชอบเอาชนะ ชอบที่จะแหกกฎ หรือทำตัวเรียกร้องความสนใจในทางที่ผิด โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันรู้ตัวเลยทีเดียว

เปลี่ยนความอิจฉา ให้กลายเป็นความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน

ยกตัวอย่าง เช่น หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า เด็กๆ รู้สึกผิดหวังกับการที่เห็นว่าเพื่อนๆ เรียนเก่งกว่าตน เล่นกีฬาเก่งกว่าตน หรือมีดีกว่าตนเองในด้านอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีการให้กำลังใจ บอกให้เด็กๆ เข้าใจว่า คนแต่ละคนอาจมีความสามารถเชี่ยวชาญในสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ลูกก็มีความสามารถ มีส่วนที่ดีของลูกอยู่เช่นกัน ลองพยายามทำสิ่งที่ลูกถนัดให้ดีขึ้นสิ นั่นอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับลูกยิ่งกว่าการมองดูสิ่งที่เพื่อนๆ มี หรือกำลังทำอยู่ก็เป็นได้

เด็กๆ ทุกคนล้วนต้องการเป็นที่หนึ่งในใจของคนที่ตัวเองรักด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ แต่บางครั้ง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น เมื่อครอบครัวมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น เด็กๆ อาจรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่เป็นที่รักของพ่อแม่เหมือนก่อน จนบางครั้งเผลอแสดงกิริยาก้าวร้าว หรือพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมออกไปเพื่อเรียกร้องความสนใจ

แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำที่สุดก็คือ การพยายามทำความเข้าใจกับเด็กๆ การอธิบายให้เขาเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และพยายามบอกให้เขารู้ว่า พ่อแม่ยังคงรักเขาอยู่เสมอ ด้วยการพยายามหาเวลาคุณภาพหรือเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับลูก ให้ลูกได้มีส่วนร่วมที่จะทำความคุ้นเคยกับน้อง มีส่วนที่จะได้ดูแลปกป้อง และแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้น้อง เด็กๆ ก็จะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ รู้สึกรักและหวงแหนน้องของตนเองมากขึ้นด้วยนั่นเอง


waayu

309,543 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save