แม่ขี้ลืมหลังคลอด เรื่องจริงหรือเปล่า? รับมืออย่างไร?

แม่ขี้ลืมหลังคลอด
การคลอดและหลังคลอด

Last Updated on 2023 03 24

แม่มือใหม่หลังคลอดหลายคนอาจสังเกตเห็นว่า ทำไมตัวเองขี้หลงขี้ลืม จดจำอะไรไม่ค่อยได้ หรือแม้แต่ชื่อดาราเกาหลีที่ตัวเองชื่นชอบก็ยังนึกไม่ออก ลืมตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนเรื่องใหญ่ สามีก็เริ่มทักว่าเป็นอะไรทำไมขี้ลืมจัง ซึ่งบางคนฟังเรื่องนี้แทบไม่เชื่อว่าอาการเหล่านี้มีอยู่จริง อาการของแม่ขี้ลืมหลังคลอดเป็นเรื่องปกติไม่ ลองไปอ่านข้อมูลที่นำมาฝากกันค่ะ

อาการแม่ขี้ลืมหลังคลอด มีจริงไหม?

พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์ รพ.เซนต์หลุยส์ ได้กล่าวเกี่ยวกับ “สมอง” ของแม่หลังคลอดว่า

“ธรรมชาติจะช่วยให้แม่หลังคลอดและทารกเข้ากันได้ด้วยการปรับสมองแม่ให้ใกล้เคียงกับสมองของทารก เพื่อจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเด็กที่เพิ่งคลอดออกมาจะใช้สมองซีกขวาเสียเป็นส่วนใหญ่ ใช้เพียงการรับรู้ เพื่อรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ทำให้แม่หลังคลอดจึงปรับมาใช้สมองซีกขวามากขึ้นเพื่อสื่อสารกับทารก ดังนั้นสมองซีกซ้ายที่ดูแลเรื่องราวที่ซับซ้อน ความเป็นเหตุเป็นผล และตัวเลขต่าง ๆ จึงไม่ค่อยถนัดในการใช้งานในช่วงนี้”

แม่ขี้ลืมหลังคลอด กับความจำของมนุษย์

อาการแม่ขี้ลืมหลังคลอดนี้ ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะความจำบกพร่องหลังคลอด (Mumnesia) เป็นภาวะความจำเสื่อมที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ จนคลอดลูก ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยเป็นการรบกวนกระบวนการจำของแม่นั่นเอง ซึ่งปกติกระบวนการจำของมนุษย์เกิดขึ้นจาก 3 ช่วงหลัก ดังนี้

การเข้ารหัส (Encoding)

ช่วงแรกของการจำเป็นขั้นตอนการแปลงภาพ เสียง และสัมผัสไปเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สมองรับรู้ได้

การจัดเก็บ (Storage)

คือแปลงสิ่งที่รับรู้ไปเป็นความจำ

การเรียกความจำออกมา (Retrieval)

เมื่อเราจะนึกเรื่องอะไรสมองก็จะดึงความจำออกมา

ซึ่งการที่แม่มีสติจดจ่ออยู่กับลูกก็จะทำให้ช่วงการเข้ารหัสของเรื่องอื่น ๆ ถูกรบกวน จนทำให้จำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้หรือขี้ลืมนั่นเอง

แม่ขี้ลืมหลังคลอด เกิดจากอะไร?

ผู้ที่ศึกษาปรากฏการณ์ Mumnesia คือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตัน และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ ซึ่งสรุปว่าอาการขี้ลืมหลังคลอดอาจเกิดจาก 4 สาเหตุหลัก ดังนี้

การจัดลำดับความสำคัญ

เรื่องลูกสำคัญที่สุด แม่ทุ่มเทความคิด ความเครียด ความกังวลทุกอย่างไปที่ลูก ทำให้แม่หลงลืมเรื่องราวอื่นที่ไม่สำคัญในขณะนั้นไป เพราะลูกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ความเจ็บปวด

เกิดมาจากกลไกการป้องกันตัวของผู้หญิงที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดทรมานในการคลอดลูก ถ้าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตอนคลอดยังกลับมาหลอกหลอน แม่อาจจะไม่อยากมีเพศสัมพันธ์อีกก็เป็นได้

ระดับฮอร์โมน

ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นหนึ่งในฮอร์โมนคนท้อง มีลักษณะเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงในระหว่างการตั้งครรภ์ และลดลงอย่างรุนแรงหลังคลอด ส่งผลต่อสมอง เพราะฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท คอยส่งสัญญาณในสมอง

ความเหน็ดเหนื่อย

ความเหนื่อยที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงลูก ทั้งต้องอุ้ม โอ๋ กล่อมนอน ให้นม ทุกอย่างประดังประเดเข้ามา จนทำให้แม่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง อาการอดนอน ความเมื่อยล้า ทุกอย่างถาโถมเข้ามา ทำให้ความจำของแม่ผิดปกติ

วิธีรับมือ แม่ขี้ลืมหลังคลอด

แม่ขี้ลืมหลังคลอด หรือ ภาวะความจำบกพร่องหลังคลอด สามารถแก้ไขได้ด้วยการกระตุ้นความจำ และปรับตัวไปในทิศทางเชิงบวกได้ ดังนี้

ไม่กดดันตัวเอง

เมื่อแม่เริ่มมีอาการหลงลืมไม่ควรกดดันตัวเอง หรือเพิ่มความเครียดให้สมอง แต่ให้เข้าใจว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับแม่หลังคลอด

จดบันทึก

จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำ รายการของที่ต้องซื้อ หรือวันครบกำหนดจ่ายบิลต่าง ๆ ลงในสมุดโน้ต แอฟพลิเคชันบนมือถือช่วยจำ หรือปฏิทินแจ้งเตือน เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการหลงลืมในช่วงหลังคลอด

แลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนคนอื่น

แม่หลังคลอดควรมีกลุ่มแม่ลูกอ่อนเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เพื่อพูดคุยระบายความเครียด แนะนำทางแก้ไข หรือคอยรับฟังปัญหา เพราะอาการแบบนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงเราคนเดียว เพื่อนในกลุ่มจึงอาจมีคำแนะนำดี ๆ ให้รู้สึกผ่อนคลายลงได้

พยายามหาเวลาพักผ่อน

แม่หลังคลอดอาจยังไม่มีตารางชีวิตที่แน่ชัด ไม่สามารถจัดตารางเวลาที่ลงตัวเพื่อดูแลตัวเอง เนื่องจากทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่แม่ควรทำอย่างมากคือ การพักผ่อนนอนหลับ เมื่อลูกนอนหลับ แม่ก็ควรนอนพักผ่อนด้วยเช่นกัน

พ่อบ้านช่วยได้

พ่อจะต้องมีความเข้าใจภาวะที่เกิดขึ้นหลังคลอดนี้ด้วย จะได้ช่วยเหลือ สอดส่องดูแลให้แม่อีกแรงหนึ่ง เพราะหากพ่อไม่เข้าใจแล้วยิ่งกดดัน ยิ่งสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในครอบครัว ก็ยิ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ ดูแย่ลงได้ ดังนั้นแม่ควรเอาบทความนี้ยื่นให้พ่ออ่านด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นเหตุผลทางการแพทย์ที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว

หมั่นออกกำลังกาย

การออกกำลังกายสามารถช่วยบรรเทาความเครียด ทำให้สมองปลอดโปร่งโล่งสบาย และกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดี

ทานอาหารที่มีประโยชน์

แม่ท้องและแม่หลังคลอดสิ่งที่สำคัญในการดูแลร่างกายอีกอย่างคือ อาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ หลากหลาย และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อโภชนาการที่ดีของแม่และลูก โดยอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง เช่น หมู่โปรตีนดี ที่มาจาก ไข่ ปลา ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ ผลไม้จำพวกแอปเปิล และตระกูลเบอร์รี่ล้วนแล้วแต่ดีต่อสุขภาพ ชะลอความเสื่อมของสมองได้ บำรุงให้ความจำดีขึ้น  และผักโขมร่วมกับผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ เพราะผักโขมมีเอนไซม์ที่ดีต่อความแข็งแกร่งของปลายเซลล์ประสาท มีกรดโฟลิกสูงที่ดีต่อความจำ

แม่ขี้ลืมหลังคลอด หรือ ภาวะความจำบกพร่องหลังคลอด ไม่สามารถป้องกัน หรือกำจัดการเปลี่ยนแปลงของสมองได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น แม่หลังคลอด และคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจภาวะนี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และช่วยกันประคับประคองบรรยากาศในครอบครัวให้ผ่อนคลาย ไม่เพิ่มความกดดัน หรือความเครียดให้กับแม่หลังคลอด เพราะนั่นอาจส่งผลเสียกับลูกได้เช่นกัน โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะเริ่มดีขึ้นหลังคลอดประมาณ 3 เดือน แต่กว่าที่สมองจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็ประมาณ 1-2 ปี ค่ะ


Mommy Gift

152,380 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save