ลูกดูดนิ้ว จะห้ามหรือปล่อยดี

ลูกดูดนิ้ว จะห้ามหรือปล่อยดี
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 09 09

ความจริงแล้ว การดูดนิ้วของทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปีถือเป็นเรื่องปกติ แถมในทารกบางราย ยังมีการดูดนิ้วมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะวิตกกังวลจนเกินไปนัก เพราะการที่ลูกดูดนิ้วเป็นปฏิกิริยาสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เด็กกำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมถึงการทำความรู้จักกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายตนเอง ซึ่งเมื่อถึงวัย เด็กก็จะเลิกดูดนิ้วได้เองในที่สุด

สาเหตุที่ลูกดูดนิ้ว

ลูกดูดนิ้ว เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

พัฒนาการตามช่วงวัย

การดูดนิ้วของทารกแรกเกิดจนถึงวัย 1 ขวบ เป็นปฏิกิริยาอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ซึ่งจะเรียกช่วงวัยนี้ว่า Oral stage เด็กจะมีความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลินกับการใช้ปากทำสิ่งต่างๆ ที่เขาพอจะทำได้ เช่น การดูดนิ้วมือ (ส่วนใหญ่เด็กจะชอบดูดนิ้วหัวแม่มือ) ดูดนิ้วเท้า กัด งับ หรือชิม แขน  ขา มือ ของตัวเอง เสมือนเป็นการทำความรู้จักกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่เขายังไม่คุ้นเคย และเมื่อทำเช่นนั้นแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน ก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ

ฟันกำลังจะขึ้น

บางครั้งการที่เด็กดูดนิ้วก็อาจเป็นเพราะเขารู้สึกคันที่เหงือก เนื่องจากฟันกำลังจะขึ้น ก็เลยต้องหาวิธีเกาเหงือกด้วยการกัด งับ แทะ และดูดสิ่งต่างๆ ที่เขาเอาใส่ปากได้

“หนูหิวแล้วค่ะ/ครับ แม่”

เป็นการส่งสัญญาณให้คุณแม่ได้รู้ว่าหนูหิวแล้ว ยิ่งถ้าคุณแม่สังเกตเห็นได้ว่าลูกน้อยยิ่งดูดแรงขึ้น ๆ ก็เตรียมเพิ่มพลังให้ลูกน้อยได้เลยค่ะ

เป็นการแสดงออกทางอารมณ์

การดูดนิ้ว ยังเป็นอาการแสดงออกทางอารมณ์บางอย่างของเด็กในช่วงวัยนี้ เช่น รู้สึกเหงา รู้สึกวิตกกังวล ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ หรือต้องการเรียกร้องความสนใจ

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ พี่เลี้ยง ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของเด็กว่า การที่เขาดูดนิ้วนั้น เป็นเพราะเขาต้องการสิ่งใด เพื่อที่จะได้หาทางตอบสนอง หรือแก้ไขได้ถูกต้อง นั่นเอง

ลูกดูดนิ้วส่งผลเสียอย่างไร

ตามธรรมดาแล้ว เด็กจะเลิกดูดนิ้วได้เองในระยะ 2 – 4 ขวบ แต่ถ้าอายุ 4 ขวบแล้วยังเลิกไม่ได้ ย่อมจะมีผลเสียตามมาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ผลเสียที่เกิดจากการที่ลูกดูดนิ้วเป็นเวลานาน ๆ มีดังนี้

ฟันของลูกจะไม่สบกัน

จะทำให้ฟันหน้าด้านบนขอเด็กไม่สบกันกับฟันล่าง หรือมีลักษณะฟันเหยินออกมาด้านหน้า ซึ่งจะส่งผลทำให้ฟันไม่สามารถบด เคี้ยว กัด หรือตัดอาหารให้ขาดได้

ขากรรไกรผิดรูป

การที่ลูกดูดนิ้ว ยังส่งผลการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกร ทำให้กระดูกขากรรไกรผิดรูปไปจากปกติอีกด้วยค่ะ

เมื่อไหร่ควรเริ่มกังวลเกี่ยวกับการดูดนิ้ว ควรห้ามหรือปล่อยดี?

โดยปกติแล้วเด็กจะชอบดูดนิ้วอยู่ในระยะ  0 – 2 ขวบเท่านั้น หลังจาก 2 ขวบไปแล้ว อาการชอบดูดนิ้วก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง เพราะเด็กมีความสนใจในสิ่งอื่น ๆ รอบตัวเข้ามาแทนที่ แต่…ถ้าเด็กอายุเกิน  3  ขวบไปแล้วยังไม่เลิกดูดนิ้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กมาพบทันตแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษา และหาทางรักษาต่อไป

ทั้งนี้ การรักษาฟันเด็กโดยทันตแพทย์มักเริ่มขึ้นในช่วงวัย 4 – 6 ปีไปแล้ว เพราะระบบรากฟัน มีความเชื่อมโยงกับปลายประสาทส่วนหน้า จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ลูกดูดนิ้ว แก้ไขอย่างไร เมื่อไหร่ที่ลูกจะเลิกดูดนิ้ว?

นอกจากสาเหตุตามธรรมชาติของช่วงวัยแล้ว การที่ลูกชอบดูดนิ้วนั้น ยังมีที่มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น รู้สึกโดดเดี่ยว วิตกกังวลไม่แน่ใจ เหงา หรือต้องการเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง เป็นต้น ซึ่งวิธีแก้ไข มีดังนี้ค่ะ

โอบกอด ให้กำลังใจลูก

คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยงควรให้ความเอาใจใส่เด็กเป็นพิเศษ เช่น การโอบกอด ให้กำลังใจ ปลอบโยน พูดคุย เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกอุ่นใจ และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

หากิจกรรมอื่น ๆ มาเบี่ยงเบนความสนใจ

ให้คุณพ่อคุณแม่เล่นกับเด็ก แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ให้เด็กเลิกการดูดนิ้ว ด้วยกลวิธีต่าง ๆ ที่น่าสนใจ รวมไปถึงการหากิจกรรมที่เด็กต้องใช้มือและปากมาให้เด็กทำ เช่นการเล่นปั้นแป้งโด การเล่านิทานประกอบหุ่นมือ โดยสวมหุ่นตุ๊กตาไว้ที่มือช้างหนึ่งของเด็ก และสวมไว้ที่มือข้างหนึ่งของแม่ เป็นต้น

เปิดเพลงเด็กให้ฟัง

เมื่อเด็กๆ ฟังแล้วรู้สึกสนุกสนาน รื่นเริง ก็จะร้องตาม ซึ่งเมื่อปากและมือไม่ว่าง เด็กก็จะเลิกดูดนิ้วไปเองโดยปริยาย

ร้องเพลงกล่อม หรือเล่านิทานให้ลูกฟัง

สำหรับในบางกรณีที่เด็กชอบนอนดูดนิ้ว เพราะให้ความรู้สึกเพลิดเพลิน เหมือนการที่เขากำลังกล่อมตนเองให้นอนหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจเปลี่ยนมาเป็นผู้กล่อมเด็กให้นอนหลับแทน โดยการกุมมือเขาไว้เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นใจ หรืออาจกล่อมโดยการเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง หรือการนอนกอดเขาไว้แนบอกจนกว่าจะหลับ พร้อมกับลูบหลัง ลูบศีรษะไปด้วย (เด็กบางคนชอบให้เกาหู ตบก้นเบาๆ ก็มีนะ) เพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เด็ก ๆ ก็จะคลายความวิตกกังวล และหลับได้เองโดยไม่ต้องดูดนิ้ว

ตั้งกติกา หรือให้รางวัล

วิธีการต่อรอง ตั้งกติกา หรือให้รางวัล ก็เป็นการชักจูงใจที่ดี ที่จะช่วยให้เด็กเลิกดูดนิ้วได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ควรใช้กับเด็กในวัย 1 – 2 ขวบขึ้นไป หรือวัยอนุบาล เนื่องจากเด็กจะเริ่มเรียนรู้เหตุผล และเข้าใจกฎกติกาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจต่อรองว่า ถ้าวันนี้ลูกไม่ดูดนิ้วเลย แม่จะให้ 1 ดาว ถ้าลูกสะสมได้ครบ 5 ดาวเมื่อไหร่ แม่จะให้รางวัล (ซึ่งรางวัลอาจไม่ใช่สิ่งของหรูหราราคาแพงอะไรนัก แต่เป็นสิ่งที่เด็กต้องการ เด็กก็จะมีความพยายาม ที่จะทำตามกติกาให้สำเร็จ) เป็นต้น…

อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วเด็กในช่วงวัยนี้ จะเลิกดูดนิ้วไปเอง เมื่อมีอายุ 2 ขวบขึ้นไป ที่สำคัญคือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแล เห็นเด็กดูดนิ้ว ไม่ควรดุด่าว่ากล่าว หรือตำหนิด้วยคำพูด และการกระทำที่รุนแรง เพราะยิ่งจะทำให้เด็กสับสนยิ่งขึ้น อีกทั้งอาการดูดนิ้วของเด็ก ก็จะไม่หายไปด้วยเช่นกัน

การดูดนิ้วของเด็กทารกแรกเกิดจนถึง 2 ขวบถือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติของช่วงวัย Oral  Stage ซึ่งเป็นเสมือนวัยแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้ โดยทำความรู้จักอวัยวะที่ใกล้ตัวเขาที่สุด ซึ่งก็คือปาก นั่งเอง เด็กในวัยนี้มักหยิบทุกสิ่งใส่ปากได้ง่ายๆ เพื่อลองลิ้ม ชิมรส และทำความรู้จักคุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อเกิดการเรียนรู้ และจดจำ ซึ่งไม่เพียงแต่นิ้วมือเท่านั้นที่เด็กให้ความสนใจ ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ดูแลเด็กพึงระมัดระวัง มิใช่แค่การการดูดนิ้วของลูกเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งใดๆ ก็ตามที่อยู่ใกล้มือเด็กต่างหาก เพราะนั่นอาจส่งผลร้ายต่อชีวิตของเด็ก มากกว่าการที่เขาเอานิ้วใส่ปากตนเองแล้วดูด อย่างแน่นอน!

 


waayu

309,298 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save