Site icon simplymommynote

โภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย พื้นฐานสมองไว ร่างกายแข็งแรง

โภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย พื้นฐานสมองไว ร่างกายแข็งแรง

สำหรับเด็กเล็กๆ วัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี การรับประทานนม และอาหารเสริมทั้ง 5 หมู่ เพื่อทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง และมีพัฒนาการที่ดี เหมาะสมกับวัยของแต่ละคน ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ด้วยเหตุนี้คุณพ่อคุณแม่จึงให้ความสนใจเลือกอาหารที่ดีที่สุด เพื่อลูกน้อยจะได้แข็งแรง และมีความสุข นั่นเอง ซึ่งวันนี้เราจะชวนคุณพ่อคุณแม่สำรวจกันว่าโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยที่สำคัญนั้น มีตัวอย่างอาหารอะไรบ้าง ไปติดตามกัน

ปฐมวัยมีอายุเท่าไร

เด็กปฐมวัยคือ เด็กที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 ปี โดยสามารถแบ่งระยะพัฒนาการ และเจริญเติบโตออกเป็น 2 ช่วงดังนี้

เด็กก่อนวัยเรียน

แบ่งได้เป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่

ช่วงอายุตั้งแต่ แรกเกิด – 3 ปี

ในระยะแรกเกิด ถึง 3 ปี เด็กๆ จะรับประทานนมแม่เป็นหลัก จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนามาสู่การรับประทานนมผงเสริมคุณค่าทางอาหาร และการรับประทานอาหารเสริมตามหลักโภชนาการ ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารหลัก 5 หมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เกลือแร่ ไขมัน และวิตามิน เป็นต้น ซึ่งถ้าลูกมีอายุได้ประมาณ 8 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกทานแบบฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) ได้ค่ะ

ช่วงอายุ 4 – 6 ปี

เด็กๆ ในวัยนี้สามารถรับประทานอาหารได้แบบผู้ใหญ่มากขึ้น (แต่ยังเน้นอาหารรสจืดเป็นหลัก) เด็กๆ สามารถเคี้ยวอาหารเองได้ ตักอาหารใส่ปากทานเองได้ โดยที่ไม่ต้องให้คุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครูช่วยป้อนให้

เด็กที่อยู่ในวัยเรียน

คือเด็กๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 6-12 ปี เป็นช่วงอายุที่เด็กๆ พร้อมที่จะเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ รู้จักที่จะคิด และวางแผนงานต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แม้ประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ ประเมินผลความถูกต้องแม่นยำจะยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กๆ ในวัยนี้

เด็กๆ ในวัยนี้สามารถเลือกรับประทานอาหารได้ด้วยตนเอง มีประสิทธิภาพของฟันในการบดเคี้ยวอาหารมากขึ้น จึงสามารถรับประทานอาหารที่มีความเหนียว แข็ง และหยาบได้ โดยไม่จำเป็นต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ (ยกตัวอย่างเช่น น่องไก่ทอด หมูหรือเนื้อทอด ผักสด และผลไม้บางชนิด เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม ชมพู่ ฯลฯ)

ความสำคัญของโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย

การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับเด็กปฐมวัย ทั้งนี้เนื่องมาจากการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน จะช่วยให้ร่างกายของเด็กๆ เจริญเติบโต แข็งแรง และมีศักยภาพ พร้อมที่จะเรียนรู้ทั้งร่างกาย และจิตใจ

ซึ่งโภชนาการอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ ในวัยนี้คือ การรับประทานอาหารหลักวันละ 3 มื้อ ซึ่งแต่ละมื้อควรมีคุณค่าทางอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และมีความหลากหลาย

ส่วนอาหารว่างอาจเป็นขนม ของหวาน หรือผลไม้ ซึ่งแต่ละวันไม่ควรให้เด็กๆ รับประทานพร่ำเพรื่อ (เกินวันละ 2 มื้อ) ที่สำคัญคือ ควรให้เด็กรับประทานนมทุกๆ วัน วันละ 2-3 แก้ว เป็นต้น

โภชนาการอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดโภชนาการอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย สามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุของเด็กๆ ได้ ดังนี้

เด็กแรกเกิด

การจัดโภชนาการอาหารที่เหมาะสมกับเด็กวัยแรกเกิด ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 0-1 ปีนั้น นมแม่ยังคงเป็นอาหารหลักสำหรับเด็กๆ ในช่วงวัยนี้ โดยเฉพาะนมแม่ และควรมีการเพิ่มอาหารเสริมตามหลักโภชนาการทั้ง 5 หมู่ อาทิ ข้าวต้มเละ ข้าวบดกับกล้วยสุก ข้าวบดกับผักต้มเละๆ (เช่น แกงจืดตำลึง แกงจืดผักกาดขาว แกงจืดหัวไชเท้า ฯลฯ) เนื้อไก่บด ตับบด หรือจะเป็นเมนูไข่ อาทิ ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ปลานึ่ง กล้วยสุก แตงโม ส้ม เป็นต้น ซึ่งอาจให้ในปริมาณที่น้อยๆ ก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น เมื่อเด็กๆ ต้องการ แต่ไม่ควรให้เด็กรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้อาเจียน หรือเป็นโรคอ้วนได้

สำหรับเด็กๆ ในช่วงระยะตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี ถ้าหากมีฟันน้ำนมเริ่มขึ้นแล้ว เด็กๆ อาจเริ่มรับประทานอาหารที่มีความหยาบมากขึ้น เพื่อฝึกการใช้ฟันบด เคี้ยวอาหาร ยกตัวอย่าง เช่น ในมื้ออาหารหลัก 3 มื้อ อาจให้รับประทาน

เด็กก่อนวัยเรียน

เด็กๆ ที่อยู่ในช่วงอายุ 2-6 ปี หรือเด็กก่อนวัยเรียนร่างกายจะมีความแข็งแรง สามารถยืน เดิน และวิ่งได้พอสมควร ดังนั้น การรับประทานอาหารของเด็กๆ ในวัยนี้ ควรเน้นในเรื่องโปรตีนเป็นหลัก ตามมาด้วย คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน

โดยการจัดโภชนาการอาหารทั้งสามมื้อ อาจประกอบไปด้วย เนื้อสัตว์ ต้ม ปิ้ง ย่าง และนึ่ง มากกว่าการทอด ถั่วต่างๆ (เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ถั่วลิสงนึ่งสุก นมถั่วเหลือง เป็นต้น) ข้าวสุก ผักใบเขียว และผลไม้ เป็นต้น ส่วนในหมวดของไขมัน อาจเป็นไขมันจาก เนย นม กะทิ ในรูปของอาหารว่างก็ได้เช่นกัน

อาหารเสริมพลังงานให้เด็กก่อนวัยเรียน

เด็กๆ ในช่วงก่อนวัยเรียน มักจะสนุกสนานกับการเรียนรู้ในรูปของการเล่น ซึ่งต้องใช้พลังงาน และสารอาหารมากกว่าเด็กๆ ในช่วงวัยแรกเกิด ถึง 1 ปี ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจเพิ่มปริมาณอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกๆ ได้ตามสมควร และที่สำคัญ ควรฝึกให้เด็กๆ มีหลักการบริโภคอาหารที่ดี เช่น

ฝึกให้ทานแบบผู้ใหญ่

เพื่อให้เด็กๆ ฝึกการรับประทานอาหารได้ทุกชนิดแบบผู้ใหญ่ และควรตักอาหารไว้แต่น้อย แต่ให้กินจนหมด

ฝึกให้ทานอะไรใหม่ๆ

โดยเริ่มรับประทานทีละน้อยก่อน แต่ถ้าเด็กๆ ไม่ชอบก็ไม่ควรฝืนใจ หรือบังคับ เพราะอาจจะทำให้เด็กๆ เกลียดอาหารชนิดนั้นไปเลยก็เป็นได้ จากนั้นควรเว้นระยะไปสักประมาณ 2 อาทิตย์แล้วค่อยวนกลับมาให้ลูกลองทานใหม่ แต่ถ้าเขายังไม่ยอมอีก ควรเปลี่ยนเมนูไปก่อน เว้นระยะให้ห่างสัก 1-2 เดือน ค่อยนำเสนอลูกใหม่

ให้ทานพร้อมพ่อแม่

หัดให้เด็กๆ รับประทานอาหารพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อฝึกมารยาทในการรับประทานอาหาร และหัดให้เด็กๆ รับประทานอาหารด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ผู้ใหญ่ป้อน

ควรทานขนมระหว่างมื้อมากไป

ในช่วงอาหารว่างระหว่างมื้อหลัก ควรให้เด็กๆ ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือรับประทานผลไม้ แทนการกินขนม หรือของหวาน จะเป็นการดีที่สุด และไม่ควรให้รับประทานมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เด็กๆ รับประทานอาหารในมื้อหลักได้น้อย ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

ไม่ควรให้เด็กทานรสจัดมาก

เด็กๆ ในวัยนี้ยังไม่ควรให้รับประทานอาหารที่มีรสจัด แจ่ควรเน้นให้รับประทานอาหารที่มีรสจืด และอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย เพราะประสิทธิภาพในการย่อยอาหารของเด็กๆ ยังไม่แข็งแรงพอ การให้เด็กๆ รับประทานอาหารที่มีความเหนียว หยาบ และแข็งจะทำให้ย่อยยาก ปวดท้อง และท้องอืดได้

สรุป

การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการนอกจากจะทำให้เด็กๆ เติบโต แข็งแรง และมีพัฒนาการทางร่างกายที่เหมาะสมกับวัยของตนเองแล้ว ยังทำให้เด็กๆ มีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

Exit mobile version