Site icon simplymommynote

แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม ลูกติดหวัดหรือเปล่า น้ำนมจะลดไหม

แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม ลูกติดหวัดหรือเปล่า น้ำนมจะลดไหม

mom-sick-when-breastfeeding

เมื่อแม่ไม่สบาย หรือเป็นหวัดดูเป็นเรื่องยากที่จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ยิ่งหากแม่ต้องให้นมลูกด้วยแล้วยิ่งต้องคิดหนัก ไหนจะต้องอยู่กับลูก 24 ชั่วโมง 7 วัน แทบหาเวลาพักผ่อนไม่ได้ ยังต้องห่วงเรื่องการทานยาอีก กังวลว่าเมื่อแม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม ปริมาณน้ำนมจะลดลงด้วยหรือเปล่า และลูกจะติดหวัดจากแม่ด้วยไหม วันนี้กิฟท์มีข้อมูลมาฝากค่ะ

อาการเจ็บป่วยส่งผ่านทางน้ำนมได้ไหม?

สำหรับแม่ที่ไม่สบายด้วยไวรัสหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ อาการเจ็บป่วยเหล่านี้จะไม่ผ่านน้ำนมแม่สู่ลูก แต่มีโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น HIV, HTLV-1 หรือ Brucellosis (การติดเชื้อแบคทีเรียที่หายาก) สามารถถ่ายทอดผ่านน้ำนมแม่ได้ ดังนั้น แม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความมั่นใจก่อนนะคะ

แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม?

เมื่อแม่ไม่สบาย หรือเป็นหวัดการให้นมลูกสามารถทำได้ เพราะนมแม่นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุดของลูกแล้ว ยังมีแอนติบอดี้ และปัจจัยทางภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ส่งผ่านให้แก่ลูกด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกไม่ป่วยง่าย แต่หากแม่ป่วยเกินกว่าที่จะให้นมลูกได้ หรือให้นมไม่ไหว แม่สามารถปั๊มนมออกมาแล้วให้ผู้ที่สุขภาพดีช่วยป้อนนมให้ลูกแทน

หรือหากแม่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ มีการศึกษาแล้วว่า ไม่พบเชื้อในน้ำคร่ำและน้ำนม ดังนั้น แม่ที่ติดเชื้อสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ โดยการปั๊มนมแล้วเก็บแช่ไว้ให้ผู้ที่สุขภาพดีเป็นคนช่วยป้อนนมแก่ลูก หรือแม่เอาลูกเข้าเต้าก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องระมัดระวังการสัมผัสน้ำลาย หรือสารคัดหลั่งที่มาจากการไอหรือจาม ความสะอาดจึงเป็นข้อสำคัญของแม่ที่ให้นมลูก

แม่ไม่สบายส่งผลต่อปริมาณน้ำนมหรือไม่?

อาการป่วยสามารถส่งผลกับปริมาณน้ำนมของแม่ได้จากสาเหตุบางประการ เช่น เมื่อแม่ป่วยมักจะมีอาการขาดน้ำในร่างกาย หรือการทานยาบางชนิดเช่นยาแก้แพ้ สาเหตุเหล่านี้ส่งผลทำให้น้ำนมลดลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากแม่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว น้ำนมที่ลดลงเล็กน้อยใน 2-3 วันช่วงไม่สบายก็ดูจะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นแม่ยิ่งต้องหมั่นปั๊มนม หรือให้นมลูกตามปกติในความถี่เท่าเดิมต่อไปเพื่อรักษาปริมาณน้ำนมเอาไว้ค่ะ

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดหวัดด้วย?

การให้นมลูกช่วงที่แม่ไม่สบายสามารถทำได้ แต่ก็มีข้อควรปฏิบัติติพื้นฐานบางประการที่แม่สามารถทำได้ เพื่อช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง

หาผู้ช่วยเลี้ยง

หากแม่สามารถหาผู้ช่วยในการดูแลลูกแทนได้ ก็เป็นสิ่งที่แม่ควรทำเนื่องจากตัวแม่เองจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วจากอาการป่วย

สวมหน้ากากอนามัย

แม่ควรสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องอุ้มลูก และควรปิดปาก ปิดจมูกด้วยทิชชูเมื่อไอหรือจาม

เลี่ยงการหอมลูก

งดหอมแก้มลูกในขณะที่แม่เป็นหวัด เนื่องจากเชื้อโรคอาจส่งผ่านไปยังลูกได้

หมั่นทำความสะอาด

ล้างมือด้วยสบู่ และน้ำอุ่นบ่อยๆ หรือ หลังจากที่ไอจาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังจับที่ปั๊มนมอยู่

ให้ลูกรับวัคซีน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็เป็นตัวช่วยที่ดีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้แม่ และสมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง และเด็กสามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หลังอายุครบ 6 เดือนเป็นต้นไป

แม่ให้นมสามารถทานยาอะไรได้บ้าง?

แม่สามารถทานยาบางชนิดได้เมื่อไม่สบาย ดังนั้นแม่ที่ให้นมลูกควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการจ่ายยาทุกครั้ง เพื่อจะได้เลือกยาที่ปลอดภัย เช่น

ยาที่ใช้รักษาโรคทั่วไป

เมื่อแม่ไม่สบายยาที่สามารถรับประทานได้ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก วิตามิน และยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยสำหรับแม่ให้นม แต่ยกเว้นยาปฏิชีวนะชื่อ เตตร้าซัยคลิน  ซึ่งจะมีผลทำให้ฟันของทารกเปลี่ยนสี เป็นสีเทาจุด ๆ

ยาที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง

เช่น อินซูลิน เป็นยารักษาโรคเบาหวานจะไม่ขับออกมาทางน้ำนม หรือยาที่ใช้ป้องกันการแข็งตัวของเลือด วอร์ฟาริน จะจับตัวกับโปรตีนในกระแสเลือด จึงไม่ถูกขับมาทางน้ำนมเช่นกัน

ยาที่ใช้รักษาอาการเจ็บปวด

เช่น ยาปฏิชีวนะ และยาลดไข้แก้ปวด ไม่มีผลต่อการให้นมลูกเลย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกตัวยาที่ถูกขับออกทางน้ำนมให้น้อยที่สุดนั่นเอง

วิธีรับมือแม่ให้นมไม่สบายด้วยธรรมชาติบำบัด

เมื่อแม่ไม่สบายสิ่งที่แม่ควรทำมากที่สุดคือ การพยายามพักผ่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้

ทานอาหารที่มีวิตามินซี

เช่น ส้ม เกรปฟรุต สตรอเบอร์รี่ แตงโม กีวี มะม่วง มะเขือเทศ พริกหยวก มะละกอ บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลีแดง และผักโขม สามารถช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้

ทานอาหารเพิ่มสังกะสี

เช่น ไก่งวง เนื้อวัว หมู หอยนางรมปรุงสุก ไข่ โยเกิร์ต จมูกข้าวสาลี และข้าวโอ๊ต เต็มไปด้วยสังกะสีและช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย

ดื่มน้ำเปล่าสะอาด

ดื่มน้ำให้ร่างกายชุ่มชื้น ดื่มน้ำปริมาณที่ร่างกายต้องการ หรือเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น ชาและน้ำซุปเพื่อให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอในขณะที่ป่วย จะช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น และเพื่อรักษาปริมาณน้ำนมให้คงที่ด้วย

เลี่ยงห้องที่อากาศแห้ง

เช่นห้องแอร์ ที่มีอากาศแห้งเพราะจะยิ่งทำให้อาการไอแย่ลงได้ การใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อให้อากาศในบ้านชุ่มชื้นสามารถช่วยบรรเทาอาการไอได้

ใช้น้ำเกลือช่วย

น้ำเกลือสามารถช่วยรักษาความชุ่มชื้นในจมูกได้ อาจใช้สเปรย์ หรือใช้้ล้างจมูก เพื่อช่วยขับเอาเสมหะ หรือน้ำมูกออกได้อีกทาง

หากแม่ไม่สบายควรหาผู้ช่วยที่จะมาดูแลลูกแทนแม่ในบางกิจกรรม อาทิ ซักผ้า เปลี่ยนผ้าอ้อม ทำกับข้าว ทำงานบ้าน เล่นกับลูก อาบน้ำ เป็นต้น เพื่อที่ตัวแม่เองจะได้มีเวลาพักผ่อน ร่างกายจะได้ฟื้นฟู และเยียวยาตัวเองได้ไวขึ้น หากกังวลเรื่องให้นมลูก แม่ยังสามารถให้นม หรือปั๊มนมให้ลูกได้ตามปกติ เพียงแค่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเท่านั้นค่ะ

อ้างอิง whattoexpect, กรมสุขภาพจิต, healthline

Exit mobile version