Site icon simplymommynote

6 วิธีอุ้มลูกเข้าเต้า และท่าอุ้มเรอ แม่ควรรู้

6 วิธีอุ้มลูกเข้าเต้า และท่าอุ้มเรอ แม่ควรรู้

Created by www.freepik.com

การได้เป็นแม่นับว่าเป็นอะไรที่มีความสุขที่สุดแล้ว การให้ลูกได้ดูดเต้าเป็นที่สุขไม่แพ้กัน ทั้งนี้คุณแม่มือใหม่ควรรู้ “วิธีให้ลูกดูดเต้า เข้าเต้าอย่างถูกวิธี ฉบับแม่มือใหม่เทิร์นโปร” นั้นเป็นอย่างไร ทำตามได้ไม่ยากค่ะ และกอปรกับถ้าคุณแม่ได้รู้วิธีอุ้มลูกเข้าเต้าที่ถูกต้องด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งจะทำให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้นานขึ้นเลยทีเดียว

6 วิธีอุ้มลูกเข้าเต้า แม่ควรรู้

ท่าที่ 1 ท่านอนขวางบนตัก (Cradle Hold)

เป็นอีกหนึ่งท่าให้นมแบบคลาสสิกและได้รับความนิยมอย่างมากอีกท่าหนึ่ง เริ่มด้วยการให้คุณแม่นั่งขัดสมาธิแล้วอุ้มลูกเอาไว้บนตักหรืออาจหาหมอนรองให้นมก็ได้ค่ะ มือและแขนประคองตัวลูกไว้ ตำแหน่งของตัวลูกจะนอนตะแคงเข้าหาตัวคุณแม่ ให้ศีรษะลูกสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ท้ายทอยอยู่บนแขนของคุณแม่ ส่วนมืออีกข้างของคุณแม่ประคองเต้านมไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปิดจมูกลูก

ท่านอนขวางตักเหมาะสำหรับ

ท่านี้จะเหมาะกับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ เพราะหากเป็นการผ่าคลอดจะทำให้ลูกและหมอนรองให้นมไปกดทับแผลผ่าได้

ท่าที่ 2 ท่านอนขวางตักประยุกต์ (Cross-cradle Hold)

ท่านี้จะคล้าย ๆ กับท่านอนขวางตักแต่จะต่างกันแค่มือค่ะ โดยที่คุณแม่จะใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านม ส่วนมืออีกข้างรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูกค่ะ

ท่านอนขวางตักประยุกต์เหมาะสำหรับ

ท่านี้จะเหมาะมากสำหรับการหัดให้ลูกดูดเต้า เพราะจะสามารถช่วยการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้ดีกว่า และเหมาะที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดที่ตัวเล็ก และทารกที่มีปัญหาในเรื่องการดูดนม และลูกไม่ยอมเข้าเต้า

ท่าที่ 3 ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Football Hold)

สำหรับท่านี้ ตำแหน่งของตัวลูกจะอยู่ในท่าที่กึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย ลำตัวลอดใต้วงแขนของคุณแม่ เท้าลูกจะชี้ไปด้านหลังของคุณแม่ ส่วนมือของคุณแม่ด้านที่ลูกอยู่นั้น ให้ประคองที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดลูกให้แนบกับลำตัวของคุณแม่ ท่านี้จะสบายที่สุด

ท่าอุ้มลูกฟุตบอลเหมาะสำหรับ

ท่านี้เหมาะมาก ๆ สำหรับคุณแม่ผ่าคลอด เพราะจะไม่มีการกดทับแผลผ่าคลอดแต่อย่างใด

ท่าที่ 4 ท่าเอนตัว (Laid-back Hold)

ท่านี้เป็นอีกท่าที่ค่อนข้างสะดวกสบาย โดยให้คุณแม่เอนตัวนอนไปด้านหลัง วางลูกไว้บนหน้าอก ใช้มือโอบลูกไว้ เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหว หรือการเลื่อนไหลของลูก ให้ตำแหน่งศีรษะของลูกเอียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันการปิดกั้นทางเดินหายใจ และเป็นท่าที่ป้องกันการสำลักนมได้ดีทีเดียวค่ะ

ท่าเอนตัวเหมาะสำหรับ

คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ และต้องการเอนพักหลังค่ะ

ท่าที่ 5 ท่านอน (Side Lying Position)

เป็นที่ค่อนข้างสบายทั้งคุณแม่และลูก โดยที่ทั้งคู่นอนตะแคงหันหน้าเข้าหากัน คุณแม่นอนศีรษะสูงขึ้นมาเล็กน้อย ให้หลังและสะโพกตรง ประคองลูกให้ปากลูกอยู่ตรงกับตำแหน่งของหัวนม มือที่อยู่ด้านล่างของคุณแม่ให้ยกขึ้นประคองตัวลูกให้ชิดกับตัวของคุณแม่ ซึ่งอาจใช้หมอนเล็ก ๆ หรือผ้าขนหนูมาม้วนเพื่อรองที่หลังของลูกแทนแขนคุณแม่ก็ได้ค่ะ ส่วนมือที่อยู่ด้านบนก็ประคองเต้านมไว้ในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก หากลูกเริ่มดูดได้ดีแล้วก็สามารถขยับมือที่ประคองเต้านมออกได้

ท่านอนเหมาะสำหรับ

ท่านี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอด ไม่ต้องการให้เกิดการกดทับที่แผล และต้องการการเอนพักผ่อน รวมถึงเหมาะมากสำหรับการให้นมในช่วงกลางคืน

ท่าที่ 6 ท่าตั้งตรง (Upright or Standing Baby)

ท่านี้เป็นการอุ้มลูกให้อยู่ในท่าตั้งตรง ลูกน้อยจะนั่งคร่อมขาของคุณแม่ข้างหนึ่ง ศีรษะและลำตัวของลูกน้อยจะเอนเล็กน้อย ใช้มือข้างเดียวกันกับฝั่งที่ลูกนั่งประคองที่ต้นคอและท้ายทอยลูก ส่วนมืออีกข้างหนึ่งประคองที่เต้านม

ท่าตั้งตรงเหมาะสำหรับ

เหมาะมากกับเด็กที่มีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ หรือมีแนวโน้มเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก รวมถึงเด็กที่มีอาการกรดไหลย้อน

Credit: thaichildcare.com

ท่าอุ้มเรอ หลังการให้นม

การอุ้มให้ลูกเรอเป็นสิ่งจะเป็นและสำคัญมาก ๆ คุณแม่ควรทำทุกครั้งหลังการให้นม เพื่อป้องกันไม่ใหลูกเกิดอาการท้องอืดค่ะ โดยท่าที่นิยมจะมีอยู่ 2 ท่าด้วยกัน ดังนี้

ท่าที่ 1 ท่าอุ้มเรอ เอาลูกพาดบ่า

ให้คุณแม่อุ้มลูกพาดบ่า โดยให้คางของลูกอยู่ที่บ่าของแม่ ใช้ฝ่ามือลูบหลัง ลูบขึ้นทางเดียว ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ยินเสียงเรอของลูก

ท่าที่ 2 ท่าอุ้มเรอ เอาลูกนั่งตัก

อุ้มลูกโดยหันหน้าของลูกออกจากลำตัวของคุณแม่ โน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย ใช้มือประคองที่บริเวณใต้คางและลำคอของลูก มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังโดยลูบขึ้นทางเดียวช้า ๆ ทำซ้ำจนได้ยินเสียงเรอของลูก

การอุ้มลูกเรอนั้นคุณแม่สามารถแบ่งทำทีละครึ่งได้นะคะ เช่น หากลูกกินนมมาได้สักระยะ พักครึ่งให้ลูกเรอ เพื่อเป็นการไล่ลมในท้องก่อน เมื่อลูกเรอลูกก็จะรู้สึกสบายท้องมากขึ้น แล้วค่อยกินนมต่อจนลูกอิ่มค่ะ

การเข้าเต้าที่ถูกต้อง ในระยะยาวคุณแม่จะไม่มีอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก หรือเต้านมอักเสบแต่อย่างใดค่ะ และเมื่อลูกน้อยอิ่มแล้วก็พาเขาอุ้มเรอ คราวนี้ล่ะ สบายตัวกันทั้งคุณแม่และลูกเลยทีเดียว

Exit mobile version