โลกส่วนตัวสูง อาจไม่ใช่ความผิดปกติเป็นเพียงลักษณะนิสัยบางอย่างเฉพาะบุคคล อย่างไรก็ตามหากลูกมีโลกส่วนตัวสูงถึงขั้นเก็บเนื้อเก็บตัวผู้ปกครองอาจต้องสังเกตุพฤติอย่างใกล้ชิดเพราะอาจเกิดความผิดปกติบางอย่างทางด้านร่างกายหรือจิตใจ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจกังวลเมื่อพบว่าลูกเริ่มมีโลกส่วนตัว ดังนั้นมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโลกส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับลูกๆและวิธีรับมือเมื่อลูกมีโลกส่วนตัวสูงกันค่ะ
ลักษณะนิสัยของคนเรา
โดยทั่วไปแต่ละบุคคลย่อมมีนิสัยใจคอ การเข้าสังคม บุคลิกทั้งร่างกายและจิตใจแตกต่างกันไป ส่วนมากขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การอบรมสั่งสอน เหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวหล่อหหลอมให้แต่ละคนมีบุคลิกและลักษณะนิสัยต่างกันออกไป โดยปกติเราสามารถแยกลักษณะนิสัยของคนออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
Introvert
คือกลุ่มคนที่….
- มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง
- มีความสุขกับการอยู่คนเดียวมากกว่าการพบเจอผู้อื่น
- รักสันโดษมักเก็บตัวไม่ค่อยชอบการเข้าสังคมหรืออยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก
- ไม่ชอบเป็นจุดสนใจของคนอื่น มองเผิน ๆ เหมือนเป็นคนขี้อาย พูดน้อย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก
- ไม่ค่อยพูดเรื่องทั่ว ๆ ไปกับคนที่ไม่สนิท บางครั้งมักถูกมองว่าเป็นคนไม่น่าคบ ไม่น่าคุยด้วย
คนกลุ่มนี้มักมีเพื่อนน้อย จะคบเฉพาะเพื่อนที่สนิทใจ ไว้ใจ คุยกันเข้าใจเท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นเสมอ เก็บรายละเอียด คิดก่อนพูด ไตร่ตรองอย่างดีก่อนพูด และแอบเป็นคนคิดมาก
Extrovert
คือกลุ่มคนที่มีลักษณะนิสัยตรงข้ามกับ Introvert โดยสิ้นเชิง คือ
-
- เป็นคนเฮฮา ชอบการเข้าสังคม ปาร์ตี้
- เพื่อนเยอะ ชอบความสนุกสนาน ชอบเป็นจุดสนใจท่ามกลางผู้คน
- ต้องการการยอมรับจากสังคมคนรอบตัว
- เป็นกลุ่มคนที่มีพลังงานสูงมากเมื่ออยู่กับเพื่อนฝูง หรือที่ที่มีคนจำนวนมาก แต่มักจะรู้สึกหมดพลังเมื่อต้องอยู่คนเดียว หรือรู้สึกโดดเดี่ยว
ลักษณะทั่วไปของคนกลุ่มนี้มักเป็นคนช่างพูดช่างคุย เจรจาเก่ง เข้าหาคนเป็น มีไหวพริบดีเอาตัวรอดเก่ง มีทักษะความเป็นผู้นำสูงสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย แต่ก็มีข้อเสียบ้างเป็นคนพูดไม่ค่อยคิดเพราะเป็นคนคิดเร็วทำเร็วบางครั้งทำให้เกิดความเดือดร้อน
ปัจจัยที่ทำให้ลูกมีโลกส่วนตัวสูง
ลูกมีโลกส่วนตัวสูงไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด หรือมาจากพันธุกรรมหากแต่มีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัยสะสมต่อเนื่องกันมาจนทำให้ลูกเกิดกำแพงภายในใจหรือสร้างกำแพงกั้นตัวเองออกจากคนอื่นรวมถึงผู้ปกครอง โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่อไปนี้
ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ลูก
อาจด้วยปัจจัยที่ผู้ปกครองต้องทำงานหนัก หรืออยู่ห่างไกลจากลูกทำให้ลูกใช้เวลากับตัวเองมากกว่าใช้เวลาร่วมกับผู้ปกครองหรือคนอื่นๆ
พลาดโอกาสเข้าสังคม
เด็ก ๆ ไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เข้าสังคมกับเพื่อนฝูงน้อย ทำให้เด็กมีโลกส่วนตัวสูงใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ในบ้าน เรียนรู้ทักษะบางอย่างจากเกมส์ ทีวี มือถือ อินเตอร์เน็ตมากกว่าการเข้าสังคมภายนอก
ขาดความมั่นใจในตัวเอง
เด็กบางคนอาจมีรูปร่างลักษณะภายนอกที่ทำให้เขารู้สึกแตกต่าง รวมถึงการเข้าสังคมภายนอกแล้วถูกล้อเลียนจนทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง จนไม่อยากและไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตกับโลกภายนอก
ไม่ได้รับการปรับตัว
เด็กบางคนอาจไม่ได้มีปัญหาจากปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น อาจเป็นนิสัยของตัวเด็กเองที่ชอบการอยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว ต่อต้านการเข้าสังคม ซึ่งลักษณะนิสัยแบบนี้หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ช่วยให้เด็กปรับตัวหรือพยายามผลักดันให้เด็กออกจากโลกของตัวเองบ้าง ปัญหาลูกโลกส่วนตัวสูงจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน
โลกส่วนตัวสูงถือว่าผิดปกติไหม?
ลูกมีโลกส่วนตัวสูงไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด เป็นเพียงบุคลิกลักษณะนิสัยของเด็กเท่านั้นบางคนบางมีบุคลิกเป็น introvert หรือบางคนอาจเป็น extrovert การที่ลูกมีโลกส่วนตัวสูงอาจเป็นเพราะช่วงวัยในการเจริญเติบโตของลูกที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้น พ่อแม่อาจต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้กับลูก และอีกปัจจัยที่มักทำให้ลูกมีโลกส่วนตัวสูงอาจมาจากความไม่เข้าใจของผู้ปกครองกับเด็กจนทำให้ลูกเกิดกำแพงเล็กๆระหว่างผู้ปกครองขึ้น ดังนั้นลูกมีโลกส่วนตัวสูงจนไม่ใช่ความผิดปกติแต่เป็นเรื่องของการมีพื้นที่ส่วนตัวของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจและเคารพสิทธิของลูก
อย่างไรก็ตามหากสังเกตพฤติกรรมของลูกแล้วมีโลกส่วนตัวสูงกว่าการเป็น introvert ทั่วๆไป ผู้ปกครองต้องหาวิธีแก้ไข แต่คอยสังเกตุพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดเพราะการที่ลูกมีโลกส่วนตัวสูงเกินไปอาจมีผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของลูกได้
วิธีปรับพฤติกรรม กรณีลูกมีโลกส่วนตัวสูง
แม้ว่าลูกมีโลกส่วนตัวสูงไม่ใช่ความผิดปกติ แต่หากพบว่าลูกมีโลกส่วนตัวสูงมากกว่าการเป็น introvert ผู้ปกครองควรร่วมกันหาวิธีแก้ไข มาดูไปพร้อมกันว่าหากลูกเรามีโลกส่วนตัวสูงผู้ปกครองจะรับมือหรือมีวิธีแก้ไขอย่างไร
ทำความเข้าใจ
ก่อนอื่นผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจลูกก่อน ต้องเข้าใจว่าต่างคนต่างความคิด ให้คิดในมุมของลูกเสมอว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ทำให้ลูกเกิดความสบายใจ ไว้วางใจเมื่อได้อยู่กับเรา
พาลูกเข้าสังคม
พาเขาออกเจอสังคมภายนอกบ้านบ้าง ใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ควรพาเขาออกไปบ่อยจนเกินไปหรือหากสังเกตุว่าลูกไม่ชอบแต่พาเขาออกไปทำสิ่งที่เขาฝืนใจหรือไม่ชอบบ่อยๆ อาจทำให้ลูกเกิดการต่อต้านมากกว่าเดิม
หาเวลาพูดคุยกับลูก
พยายามพูดคุยให้เขารู้สึกผ่อนคลาย สอนการเข้าสังคม การพบปะผู้อื่นหรือใช้ชีวิตกับโลกภายนอกให้มากขึ้น หรือพยายามพูดให้เขาบอกถึงปัญหาว่าทำไมเขาชอบการมีโลกส่วนตัวสูง และที่สำคัญพยายามอย่าให้ลูกเข้าใจผิดว่าเขามีความผิดปกติ
ให้เวลากับลูกมากขึ้น
เพราะปัญหาหลัก ๆ ของการมีโลกส่วนตัวสูงคือ ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้เด็ก ดังนั้นผู้ปกครองควรมีเวลาทำกิจกรรม หรือใช้เวลากับลูก พูดคุยกับลูกให้มากขึ้น การให้เวลากับลูกไม่จำเป็นต้องทั้งวันค่ะ เพียงแค่ 15-20 นาที ต่อวันในเวลาเดิมทุกวัน เท่านี้ก็ถือว่าเป็นเวลาคุณภาพแล้วค่ะ
สร้างความมั่นใจให้ลูก
หผู้ปกครองต้องรู้ก่อนว่าลูกขาดความมั่นใจในมุมไหน เมื่อทราบถึงที่มาของปัญหาแล้วค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ ให้เขาเรียนรู้และทำให้เขามั่นใจในตัวเอง
ลูกมีโลกส่วนตัวสูงอาจไม่ใช่ความผิดปกติแต่เป็นเพียงลักษณะนิสัยส่วนตัวของเด็กเท่านั้นอย่าง introvert กับ extrovert และการที่ลูกมีโลกส่วนตัวสูงอาจเป็นเพียงเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวในการคิด ตัดสินใจอะไรบางอย่าง ผู้ปกครองควรเคารพในพื้นที่ส่วนตัวของลูก อย่างไรก็ตามหากลูกมีโลกส่วนตัวผู้ปกครองอาจต้อสังเกตุพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิดพร้อมกับหาวิธีแก้ไขไปพร้อมกัน