เวลาที่ลูก ๆ ป่วยไข้ อาการเริ่มแรกเลยก็คือ จาม มีน้ำมูก และไอ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีน้ำมูก นั่นก็แปลว่าลูกจะต้องไอแบบมีเสมหะแน่นอน การไปพบคุณหมอ กินยาแก้ไอละลายเสมหะ มันอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้อาการไอมีเสมหะของลูกดีขึ้น
“การเคาะปอด” เพื่อให้เสมหะไม่เกาะปอด เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถช่วยให้อาการลูกดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ถ้าลูกแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่คงไม่ต้องกังวล แต่ถ้าหากนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าควรเคาะปอดเพื่อระบายเสมหะให้ลูก และมีวิธีการอย่างไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง ในบทความนี้ มีคำตอบ
สาเหตุ“การไอ”
การไอเกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายก็จะพยายามกำจัดออกด้วยการไอ แต่เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถบ้วนเสมหะออกมาเองได้ ดังนั้น การเคาะปอดร่วมกับการจัดท่าเคาะปอดให้ถูกต้องก็จะเป็นกันช่วยลูกระบายเสมหะที่ติดออกมาได้
อาการไหนที่แสดงว่าต้องเคาะปอด
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจว่าอาการไหนของลูกที่จะได้เวลาเคาะปอด ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูก ดังนี้
- ไอบ่อย มีเสมหะมาก หายใจครืดคราด
- จากภาพรังสีทรวงอก พบว่าปอดแฟ่บ เหตุจากการอุดตันของเสมหะ
- ผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรัง ที่มีภาวะเสมหะคั่งค้าง
- ผู้ป่วยเด็กหลังผ่าตัด ที่ยังคงมีปัญหาเสมหะคั่งค้างในปอดและหลอดลม
- ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยยังมีปัญหาการคั่งค้างของเสมหะในหลอดลม
ท่าทางและวิธีการเคาะปอดลูก
การเคาะปอดในแต่ละท่าควรใช้เวลาประมาณ 1 นาที โดยท่าที่ใช้ในการเคาะปอดมีด้วยกันอยู่ 3 ท่า ดังนี้
ท่าระบายเสมหะพร้อมกับการเคาะปอด ท่าที่ 1
- อุ้มลูกโดยให้ลูกหันหน้าเข้าหาอกของคุณพ่อคุณแม่ หัวพาดบ่าคุณพ่อคุณแม่ แล้วใช้มือโดยต้องทำมือให้เป็นอุ้ง นูนขึ้นมาเล็กน้อย (เหมือนเวลาเราจะถูกดีดมะกอก^^) ไม่ใช้มือแบนะคะ เคาะไปบริเวณด้านหลังเหนือกระดูกสะบักขึ้นไป
- เลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกสะบัก
ท่าระบายเสมหะพร้อมกับการเคาะปอด ท่าที่ 2
- ให้ลูกนอนหงาย ศีรษะหนุนหมอน ใช้ผ้าบางรองตรงส่วนหน้าอก ทำมือนูนเล็กน้อย เคาะระดับไหปลาร้าถึงไต้ราวนม
- เลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกหน้าอก
ท่าระบายเสมหะพร้อมกับการเคาะปอด ท่าที่ 3
- ให้ลูกนอนตะแคง ให้แขนลูกวางไปทางด้านหน้าเล็กน้อย เคาะบริเวณชายโครงด้านข้าง หรือต่ำจากรักแร้เล็กน้อย
- และเคาะบริเวณด้านหลังต่ำจากกระดูกสะบักจนถึงชายโครงซี่สุดท้าย ให้เคาะทั้งน่านอนตะแคงซ้ายและขวา
หยุดเคาะทันที หากลูกมีอาการดังนี้
หากขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังเคาะปอดลูกอยู่ ให้หยุดเคาะปอดทันที ถ้ามีอาการดังกล่าวนี้
- ลูกบอกว่าเจ็บ หรือปวดบริเวณที่ถูกเคาะ
- ลูกหอบเหนื่อยมากขึ้น ริมฝีปากซีดคล้ำ หายใจปีกจมูกบาน
- ร้องไห้ งอแงมากกว่าเดิม จนผิดสังเกต
ข้อห้ามสำหรับการเคาะปอด
การเคาะปอด เพื่อช่วยระบายเสมหะให้ลูกเป็นความปรารถนาดีของคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็มีข้อห้ามหรือข้อที่ควรระวัง ดังนี้
- เคยมีประวัติกระดูกหักบริเวณทรวงอก
- มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง วัณโรคปอด
- มีอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว
- มีแผลเปิด หรือมีแผลหลังผ่าตัดที่ยังไม่หายดี
- มีภาวะกระดูกผุ
- มีภาวะเสี่ยงต่อการที่เลือดจะออกง่าย โดยสังเกตได้จากสีผิวที่เปลี่ยนไป สีปากคล้ำ หน้าซีด สัญญาณชีพผิดปกติ เช่น ไข้ขึ้นสูง หายใจเร็ว และมีความดันโลหิตสูง
ความถี่ในการเคาะปอด
การเคาะปอด ควรทำช่วงไหนบ้าง ติดตามได้จากข้อมูลด้านล่างค่ะ
เคาะปอด ช่วงเช้า
เพราะเป็นช่วงที่เสมหะคั่งค้างมาตลอดคืน เมื่อลกตื่นมาตอนเช้า จึงทำให้ลูกไอมาก การเคาะในช่วงเช้าจะเป็นการช่วยระบายเสมหะให้ลูกได้
เคาะปอด ก่อนเข้านอน
เพื่อให้ลูกได้หลับยาวขึ้น หายใจโล่งขึ้น หรือหากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้อีกครั้งในช่วงบ่ายก่อนลูกหลับกลางวันก็จะดีค่ะ จะช่วยให้เค้าไม่หายใจครืดคราด จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
จะรู้ได้อย่างไรว่าเคาะได้อย่างถูกต้อง
สังเกตได้ง่ายมากค่ะ หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่เคาะปอดให้ลูกน้อยแล้ว หากมาถูกทาง ลูกน้อยจะหลับได้นานขึ้น ไอน้อยลง อย่างของแม่โน้ตเห็นได้ชัดเลย จากที่คืนก่อนไอแบบแทบจะไม่ได้นอน แต่พอลองมาเคาะปอดดู เค้าหลับได้นานขึ้น ไอน้อยลง คุณพ่อคุณแม่ก็ได้พักมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
บทสรุป
การเคาะปอดจะช่วยให้ปอดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยขับเสมหะที่ติดอยู่ออกมาได้ ช่วยให้ลูกนอนหลับได้เต็มที่มากขึ้น เนื่องจากไม่มีเสมหะไปเกาะอยู่ที่หลอดลมและปอด การเคาะปอดในแต่ละท่า ควรทำประมาณ 1 นาที
ทั้งนี้ หากพบว่าลูกมีอาการเจ็บในบริเวณที่ถูกเคาะหรือมีอาการร้องไห้งอแงมากกว่าเดิม ให้หยุดเคาะและปรึกษาแพทย์ทันที