Site icon simplymommynote

ลูกไม่กินผัก! ทำอย่างไรให้ลูกกินผัก (มีคลิป)

เทคนิคฝึกลูกกินผักใบเขียว

“ลูกไม่ยอมกินผัก”

           เป็นปัญหาสุดคลาสสิกของคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อย่างเราจริงๆ เรียกได้ว่าถ้าใครมีลูกต้องเจอกับปัญหานี้อย่างแน่นอน

           ก่อนที่โตจะไปเรื่องวิธีการทำอย่างไรให้ลูกกินผักใบเขียว ต้องขอแยกเรื่องสีผักกันซักนิดค่ะ

สีของผักมีผลต่อการกิน

ต้องบอกว่าผักที่น้องมินชอบหรือกินได้จะเป็นพวกแครอท ฟักทอง ฟัก หัวไชเท้า หอมหัวใหญ่ และข้าวโพดอ่อน คือเป็นผักที่มีสีส้ม สีเหลือง สีเขียวอ่อน ไม่ได้มีสีเขียวจ๋า แต่พอเค้าโตขึ้น เราเริ่มหาเทคนิคและวิธีในการปรุงอาหารที่หลากหลายเพื่อให้เค้าลองกิน เค้าก็กินได้มากขึ้น

ตอนนี้น้องมินอายุได้ 4 ขวบกว่าผักสีเขียวที่เค้ากินได้เยอะขึ้นก็จะมี กวางตุ้ง ฮ่องเต้น้อย บรอกโคลี เป็นต้น

           “ทำไมเด็กที่เห็นผักสีเขียวแล้วมีอาการยี้หรือต่อต้านไม่อยากเคี้ยว ไม่อยากกลืน?”

สิ่งที่โน้ตเห็นจากลูกในระยะแรกๆ ที่เราเริ่มหัดให้เค้ากินผักใบเขียวก็คือ พอเค้าเห็นอะไรก็ตามที่เป็นสีเขียวในจานอาหาร เค้าจะเขี่ยออกทันที หรือไม่ถ้าเข้าปากไปแล้ว เค้าก็สามารถตรวจจับความเขียวแล้วคายออกมาได้ หรือบางครั้งพอเค้าเห็นว่าอาหารคำนั้นที่กำลังจะเข้าปากมีสีเขียว พอเคี้ยวได้ซัก 2-3 ครั้งเค้าทำท่าจะอ้วกทันที

           “เพราะอะไร?”

อาจเป็นเพราะความ “เหม็นเขียว” ของผักใบเขียว ยิ่งถ้านำผักใบเขียมมาปรุงอาหารแล้วยังไม่สามารถกลบกลิ่นผักได้ เด็กก็จะยี้และไม่อยากกินอีกเลย แต่ส่วนผักที่มีสีเหลืองและสีส้ม กลิ่นของมันจะไม่แรงเท่าผักสีเขียว

ทำไมต้องกินผักที่มีสีเขียว ในเมื่อลูกกินผักสีอื่นก็ได้

ผักที่มีสีเหลือง สีส้ม และสีแดง จะอุดมไปด้วยสารชนิดหนึ่ง ก็คือ “แคโรทีน (Carotenemia)” พบมากในฟักทอง มะละกอ หัวผักกาดแดง และแครอท

สารดังกล่าวนี้ เมื่อเรากินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เกิดอาการตัวเหลือง แต่ตาไม่เหลือง โดยจะเห็นได้ชัดจากฝ่ามือ ฝ่าเท้า และตามร่างกาย

ซึ่งอาการตัวเหลืองนี้ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในทางการแพทย์แต่อย่างใด เพียงแค่หยุดกินผักเหล่านี้เท่านั้นเองค่ะ

เทคนิคช่วยให้ลูกกินผักใบเขียว

อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทราบกันดีว่าการที่เรากินอาหารที่หลากหลายนั้นทำให้เราได้รับสารอาหารต่างๆ ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การกินผักก็เช่นกัน

           “แต่จะทำยังไงล่ะ ในเมื่อลูกไม่ยอมกินผัก โดยเฉพาะผักสีเขียว?”

แรกๆ โน้ตก็เหนื่อยใจเหมือนกันค่ะ แต่ก็ยังไม่ยอมนะ คิดหาทางไปเรื่อยจนได้มาซึ่งวิธีการดังนี้

ปรับเปลี่ยนเมนู

เช่น นำมาชุบแป้งทอด อาจเริ่มจากผักที่สีอ่อนก่อน อาทิ ดอกกะหล่ำ ฟัก หรือบางทีอาจแซมด้วยบรอกโคลีนิดหน่อย

ไม่ต้อง “ซ่อนผัก”

สำหรับโน้ต เราอยากให้เค้ากินผักสีเขียวได้โดยไม่ต้องอาศัย “การซ่อนผัก” โน้ตก็จะอาศัยการหั่นผักสีเขียวที่เล็กๆ หน่อย เพื่อที่ยังไม่ให้เค้าสัมผัสได้ถึงรสชาติของมันมากนัก (ทางลิ้น) แต่ในขณะที่ให้เค้าเห็นก่อนว่ามีผักสีเขียวในจาน (ทางตา)

พากย์การ์ตูน

มีอยู่ครั้งนึงโน้ตอยากให้ทดลองดูว่าถ้าเป็นน้ำซุปผักในร้านสุกี้ น้องมินเค้าจะกินไหม โน้ตก็ทำน้ำซุปใส่ผักกวางตุ้งให้ พอน้องมินรับถ้วยมา เค้ามองแบบคิดหนักในใจว่า

           “หนูต้องกินใช่ไหมเนี่ย?

ตอนนั้นโน้ตคิดขึ้นมาได้ว่า ลองพากย์เป็นตัวการ์ตูนดู โน้ตก็เลยกลายเป็น “ตัวเชื้อโรค 3ตัว” ที่นั่งพากย์ข้างๆ พากย์ไป พากย์มา น้องมินยอมกิน…หมดถ้วยเลย หลังจากนั้นก็ให้โน้ตนั่งพากย์เรื่อยมา 555

ค่อยๆ เพิ่มผักใบเขียวทีละนิด

แบบนี้ก็จะค่อยเป็นค่อยไป เวลาที่คุณแม่ทำอาหารก็จะอาศัยว่ามีผักที่ลูกกิน และค่อยๆ เพิ่มผักใหม่ๆ เข้าไปซัก 5% ของอาหาร แล้วค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นก็ไดค่ะ

มีเมนูผักบนโต๊ะอาหารให้ลูกเห็นทุกวัน

ในทุกมื้อของอาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรมีเมนูผักมากินด้วยทุกครั้ง ทำให้ลูกเห็นว่าการกินผักนั้นเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็กินกัน

พ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ลูกๆ มักเลียนแบบพฤติกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ ถ้าลูกมีตัวอย่างที่ดี เค้าจะทำตามโดยที่เราจะไม่ต้องเหนื่อยพูดเลยค่ะ

การฝึกให้ลูกกินผักใบเขียวนั้นไม่ใชเรื่องยาก บางอย่าง บางครั้ง คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องให้เวลากับลูกด้วยเหมือนกัน เพราะการยัดเยียดลูกมากไปในเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ลูกฝังใจและไม่ชอบทานผักไปเลยก็ได้ค่ะ ใจร่มๆ ค่อยเป็นค่อยไป เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะคะ

Exit mobile version