Site icon simplymommynote

8 วิธีรับมืออยู่หมัด เมื่อลูกน้อยไม่อยากไปโรงเรียน

8 วิธีรับมืออยู่หมัด เมื่อลูกน้อยไม่อยากไปโรงเรียน

และแล้ว…ช่วงเวลาที่ลูกน้อยจะต้องห่างจากอกพ่อแม่ก็มาถึง แต่…คุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไรดีเล่า เมื่อเจ้าตัวน้อยของเราร้องไห้โยเย กอดแขนกอดคอคุณพ่อคุณแม่ไว้แน่น ไม่ยอมห่างจากอก ด้วยเหตุที่ว่า “ไม่เอา!…ไม่ไปโรงเรียน หนูไม่อยากไปเรียน” ว่าแล้วก็ส่งเสียงร้องไห้จ้า…เอาละสิ เจอเข้าแบบนี้แล้ว พ่อแม่ทุกคนก็คงต้องหน้าเศร้าสงสารลูกน้อยไปตาม ๆ กัน แต่…อย่าค่ะ อย่าเพิ่งถอดใจ แล้วหันหลังพาลูกกลับบ้าน เรามีวิธีรับมืออย่างง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนสามารถนำไปรับมือเจ้าตัวน้อย เวลาโยเยไม่อยากไปโรงเรียนได้ค่ะ

สาเหตุที่ลูกน้อยไม่อยากไปโรงเรียน

“ภาวะที่ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน หรือ School Refusal” เป็นภาวะที่น่าเป็นห่วง เพราะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องเข้าเรียนเมื่อถึงวัย ทว่า ความหวาดกลัวในสถานที่แปลกใหม่ รวมถึงผู้คนที่แตกต่าง มักจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกกลัว ไม่ไว้วางใจ และไม่มั่นใจที่จะยู่ร่วมกับผู้คนเหล่านั้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่เลี้ยงดูลูกแบบประคบประหงม การไปโรงเรียนวันแรก หรือในช่วงระยะแรก ๆ ของการเปิดเรียน จะสร้างความวิตกกังวลให้กับเด็ก ๆ เป็นอันมาก ซึ่งโดยรวมแล้วมักจะมีสาเหตุมาจาก

วิธีรับมือ เมื่อลูกน้อยไม่อยากไปโรงเรียน

พูดคุย ถามถึงสาเหตุที่แท้จริง

ว่าเพราะอะไรลูกถึงไม่อยากไปโรงเรียน แต่อย่าคาดคั้น หรือดุด่าว่ากล่าวเป็นอันขาด และอย่าได้เพิกเฉยต่อสาเหตุนั้น แต่ควรพยายามหาทางแก้ บอกลูกให้เข้าใจว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ ไม่ต้องกลัว

แนะนำให้ลูกหาเพื่อนสนิท

หรือเพื่อนเล่น เพื่อนคุยที่ไว้วางใจได้ เนื่องจาก “เพื่อน” เป็นแรงจูงใจที่ดี ที่จะทำให้ลูกอยากไปโรงเรียน ได้เล่น ได้พูดคุยกับคนที่เขาพอใจ

ไม่ขู่ลูก

อย่าเด็ดขาด! อย่าได้ขู่ว่า ถ้าไม่ไปโรงเรียน หรือไม่ทำการบ้าน จะถูกครูตี เพราะจะยิ่งทำให้เด็กยิ่งกลัวครู และเกลียดการไปโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

หาขนมไปฝากเพื่อนและครู

หาขนมติดไม้ติดมือให้ลูกนำไปฝากครูและเพื่อน ๆ ในห้องเรียนบ้างเป็นบางครั้ง ถือเป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยเติมเต็มมิตรภาพ ระหว่างผู้ปกครองและครู รวมถึงเพื่อน ๆ ของลูกอีกด้วย

ถามไถ่ลูกหลังเลิกเรียน

เมื่อไปรับลูกกลับบ้านในตอนเย็นหลังเลิกเรียน พ่อแม่ควรถามถึงเรื่องที่โรงเรียนของลูกทุกๆ วัน เสมือนเป็นการคุยเล่น ไม่ใช่การจับผิด หรือคาดคั้นผลลัพท์ เช่น ถามว่า “วันนี้ที่โรงเรียนของลูก เรียนอะไรบ้าง? สนุกไหม? ครูใจดีไหม? ลูกชอบการเรียนวันนี้ไหม? เพื่อนๆ ล่ะ วันนี้ใครเล่นกับลูกบ้าง?” เป็นต้น

ห้ามใจอ่อน

เมื่อลูกร้องไห้โยเย ไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่อยากได้ตามใจลูกเด็ดขาด เพราะถ้าเขาทำแบบนั้นแล้วพ่อแม่อนุญาตให้เขาหยุดเรียนได้ ครั้งต่อๆ ไปก็จะทำอีก และอาจจะมีพฤติกรรมที่รุนแรงกว่าเดิมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การหยุดเรียน หรือการขาดเรียนล่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อลูกอย่างแน่นอน เพราะยิ่งหยุดเรียนนานเท่าไร ความต้องการที่อยากจะไปโรงเรียน ก็จะยิ่งน้อยลงไปทุกทีๆ จนลูกไม่อยากไปโรงเรียนอีกต่อไป

พูดถึงสิ่งดี ๆ ที่โรงเรียนให้ลูกฟัง

กอดปลอบใจลูกทุกครั้งที่ไปส่งโรงเรียน พูดถึงสิ่งดี ๆ ที่โรงเรียน และให้กำลังใจลูก บอกเขาให้ชัดเจนว่า พ่อแม่จะมารับเมื่อไร ตอนไหน อย่าได้โกหก หรือหนีจากลูกไปตอนเผลอ จะทำให้ลูกรู้สึกเคว้งคว้าง วิตกกังวล เพราะกลัวถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง นั่นเอง

สร้างความทรงจำดี ๆ เกี่ยวกับโรงเรียน

เพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกสนาน อยากไปโรงเรียน จากไปเจอเพื่อนๆ และคุณครู เช่น การบันทึกภาพถ่าย รอยยิ้ม หรือความสนุกสนานเวลาที่เด็กๆ ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ กระตือรือร้น และมีความสุข อยากไปโรงเรียน เป็นต้น

สำหรับวันแรกของการไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งปล่อยลูกน้อยไว้ตามลำพัง ควรอยู่เล่นกับเขา พูดคุย และทำความรู้จักกับคุณครู พาเขาไปรู้จักกับเพื่อนร่วมห้อง จนกระทั่งถึงเวลาเคารพธงชาติ และเข้าชั้นเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจรอดูเขาอยู่ห่างๆ บอกเขาให้เข้าใจว่า “เมื่อเข็มนาฬิกาชี้เลข…พ่อและแม่จะมารับ ลูกไม่ต้องกลัวนะ” สิ่งสำคัญคือ อย่าโกหกเรื่องเวลากับลูกโดยเด็ดขาด!

อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นไปได้ ก่อนที่วันแรกของการเปิดเทอมจะมาถึง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยมาทำความรู้จักกับสถานที่ โรงเรียน คุณครู รวมถึงเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีชั้นเรียนสำหรับ “เตรียมอนุบาล” อยู่ในโรงเรียนแทบทุกแห่ง สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความกลัวของเด็กๆ ที่จะเข้าสู่สังคมใหม่ๆได้อย่างดี

 

อ้างอิง med.mahidol.ac.th, amarinbabayandkids.com, phyathai.com

Exit mobile version