Site icon simplymommynote

พัฒนาการแบบก้าวกระโดดของลูก อาจไม่ส่งผลดีอย่างที่เข้าใจ

พัฒนาการแบบก้าวกระโดดของลูก อาจไม่ส่งผลดีอย่างที่เข้าใจ

การเป็นพ่อแม่มือใหม่ เมื่อมีลูกคนแรกทุกอย่างดูใหม่ และน่าตื่นเต้นไปหมด แม่กิฟท์เองก็เช่นกันค่ะ การได้เห็นลูกเติบโตในแต่ละพัฒนาการเป็นเรื่องที่น่ายินดี และรู้สึกภูมิใจมาก จนกระทั่งวันหนึ่งแม่กิฟท์ได้ทราบข้อมูลชุดหนึ่งว่า พัฒนาการทางสติปัญญาของลูก เป็นผลมาจากการพัฒนาตามวัยที่ควรเป็นไปตามลำดับขั้น และเป็นไปตามธรรมชาติ  หากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กไปเร่งรัดจะทำให้เกิดผลเสียกับตัวเด็กได้ค่ะ แม้บางครั้งเราคิดว่าเราก็ไม่ได้เร่งรัดลูกแต่ความอยากเห็นลูกเก่ง ฉลาด หรือพัฒนาได้ไวก็อาจเป็นดาบสองคมที่เราอาจเผลอไปทำให้ลูกกระโดดข้ามขั้นของการพัฒนาตามวัยได้เช่นกันค่ะ ซึ่งวันนี้กิฟท์มีข้อมูลมาเทียบให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นภาพใน 2 ด้าน ด้านแรก เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการที่สมวัยในแต่ละช่วงวัยนั้นควรเป็นอย่างไร จากทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ของ เพียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ และบันได 7 ขั้น ของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อดีตจิตแพทย์ ที่ปัจจุบันได้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านจิตเวช กับอีกด้านคือ หากลูกมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด ผลเสียหรือผลกระทบด้านลบมีอะไรบ้าง

พัฒนาการตามวัย คืออะไร

พัฒนาการตามวัย  คือ ลำดับความสำคัญว่าเด็กในแต่ละช่วงวัย ควรทำอะไรได้บ้าง อะไรคือสิ่งที่จำเป็น และควรเลี้ยงดูเด็กอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังไปรวมถึงด้านสังคม อารมณ์ จิตใจ และสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงดูด้วยค่ะ ทำให้ตัวเราที่เป็นผู้เลี้ยงดูจะไม่เผลอไปพรากสิ่งที่สำคัญไปจากลูก เพราะเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ถึงความสำคัญของพัฒนาการตามวัย ก็จะได้ทุ่มเทการเลี้ยงดูได้ตรงจุด ทำให้เด็กตอบสนองต่อการเรียนรู้ได้โดยง่ายและถูกจังหวะตามธรรมชาติของตัวเด็กเองค่ะ ส่งผลให้ง่ายต่อการพัฒนาในลำดับต่อ ๆ ไป

ทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ของ เพียเจต์

เพียเจต์ เป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงชาวสวิสเซอร์แลนด์ ระบุว่า พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กแต่ละช่วงวัย มีทั้งหมด 4 ขั้น คือ

ขั้นของการใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensorimotor Stage)

ช่วงอายุ 0-2 ขวบ คือ ระยะที่ 1 พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่ เช่น การไขว่คว้า การเคลื่อนไหว คลาน ปีนป่าย เดิน การมอง การดู เด็กจะพัฒนาการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องใช้ภาษาในสื่อสาร เพราะจะแสดงออกในรูปของการกระทำแทน เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม  เด็กมักจะทำอะไรซ้ำบ่อยๆ ซึ่งเกิดจากการเลียนแบบ และจะพยายามแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ดังนั้น การให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองจะเป็นการพัฒนาสติปัญญาของเด็กวัยนี้

ขั้นเตรียมความคิดที่มีเหตุผล (Preoperational Stage)

ช่วงอายุ 2-7 ปี คือ ระยะที่ 2 พัฒนาการเชาว์ปัญญาของเด็กวัยนี้เน้นไปที่การเรียนรู้ และเริ่มมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น โดยสามารถพูดได้เป็นประโยค มีการสร้างคำได้มากขึ้น แต่เด็กยังไม่สามารถใช้สติปัญญาคิดได้อย่างเต็มที่ แบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ อายุ 2-4 ปี ก่อนเกิดการนึกคิด (Preconceptual Thought) เขาจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีการเชื่อมโยง และความเข้าใจสิ่งต่างๆเบื้องต้นในมิติเดียวที่อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูก เช่น จะเรียกสัตว์ที่มี 4 ขาทั้งหมดว่า หมา เป็นต้น เมื่ออายุ 4-7 ขวบ เป็นขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้ (Intuitive Thought) ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการคิด รู้จักแยกประเภทและแยกชิ้นส่วนสิ่งของ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ รู้จักนำความรู้ในสิ่งหนึ่งไปอธิบายหรือแก้ปัญหาอื่นและสามารถนำเหตุผลทั่วๆ ไปมาสรุปแก้ปัญหา แต่ไม่ได้วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน

ขั้นคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นรูปธรรม (Concrete Operation Stage)

ช่วงอายุ 7-11 ขวบ คือ ระยะที่ 3 เด็กในวัยนี้จะสามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาหลายด้าน คือ สามารถสร้างจินตนาการในความคิดของตนขึ้นมาได้ สามารถคิดเปรียบเทียบได้ เรียงลำดับสิ่งต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการคิดย้อนกลับ สามารถจัดกลุ่มหรือจัดการได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การแบ่งแยกประเภทของสัตว์ สามารถสนทนากับบุคคลอื่นและเข้าใจความคิดของผู้อื่นได้ดี ที่สำคัญคือความสามารถในการจำของเด็กในช่วงนี้มีประสิทธิภาพขึ้น

ขั้นของการคิดอย่างมีเหตุผลและอย่างเป็นนามธรรม (Formal Operation Stage)

ช่วงอายุตั้งแต่ 11 ขวบขึ้นไป คือ ระยะที่ 4 เด็กวัยนี้จะไม่คิดจากสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะคิดถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและคาดเดาถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เพื่อให้ได้สมมติฐานที่สมเหตุสมผลมาสนับสนุนความคิด หมายความว่าเด็กจะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ได้ เข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นตัวของตัวเอง ต้องการอิสระ ไม่ยึดตนเป็นศูนย์กลาง รู้จักการใช้เหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บันได 7 ขั้น ของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ขอบคุณภาพจาก mamaexpert.com

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อดีตจิตแพทย์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านจิตเวช ซึ่งได้เขียนบทความให้กับหลายสำนักพิมพ์ ได้ให้แนวทางบันได 7 ขั้นเพื่อเลี้ยงลูกให้มี EF ดังนี้

แม่ที่มีอยู่จริง (Object Constancy)

ในช่วงขวบปีแรกของทารก ต้องมีผู้เลี้ยงหลัก ทำหน้าที่เป็นแม่ ผู้มอบความรัก อุ้ม และดูแลให้มากพอ เพื่อสร้างแม่ที่มีอยู่จริง ให้เกิดขั้นในจิตใต้สำนึกของเด็ก หากเมื่อเด็กโตขึ้น แม้แม่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าแล้ว แต่เด็กจะแม่ที่มีอยู่จริงอยู่ในใจเสมอ

สายสัมพันธ์ (Attachment)

ช่วงอายุ 1-3 ปีของทารกจะยังไม่แยกตัวออกจากแม่โดยสมบูรณ์ เป็นช่วงเวลาที่จะพัฒนาสายสัมพันธ์ที่มองไม่เห็น โดยสื่อผ่านทางความรู้สึก ผ่านการเลี้ยงดู ให้เวลา กอดหอม อุ้ม เล่น ให้มากพอ จะทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะสร้างตัวตนขึ้นมา จนสามารถเกิดกระบวนการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระจากแม่ได้ ดังนั้น การแยกกับแม่ก่อน 3 ขวบ จึงมักทำให้เกิดบาดแผลทางใจ

ตัวตน (Self)

เข้าสู่ขวบปีที่ 3 วัยแห่งการเล่น เพราะการเล่นถือเป็นโอกาสทองที่ทําให้เด็กแข็งแรง แล้วยังทําให้เด็กได้รู้จักและเรียนรู้การใช้ร่างกายตนเอง และที่สําคัญได้สมองที่ดี

เซลฟ์เอสตีม (Self-Esteem)

ช่วงอายุ 3-5 ปี เป็นช่วงที่เด็กจะมีแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง ความรู้สึกที่ว่าหนูทําได้ เป็นความนับถือตัวเอง และเป็นพลังที่จะทําให้เด็กพุ่งไปข้างหน้า

ควบคุมตนเอง (Self Control)

อายุ 3-6 ขวบ มีความสามารถทำงาน หรือกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบหรืออาจจะไม่ชื่นชอบจนสำเร็จ โดยไม่ถูกชักจูงไปทำอย่างอื่นจากสิ่งยั่วยุที่เข้ามา

Executive Function (EF)

เป็นบันไดที่สำคัญที่ควรสร้างให้ได้ ภายใน 7 ปีแรกของชีวิต เพราะเด็กที่ได้รับการส่งเสริมให้มี EF ที่ดี จะมีโอกาสที่จะประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้

ทักษะศตวรรษที่ 21(21st CSK)

อันได้แก่ ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะด้านไอทีนั้น จะเกิดขึ้นได้จากทักษะย่อยจากทั้งที่บ้านและระบบการศึกษาด้วยการออกแบบอย่างถูกต้องเพื่อให้เด็กรู้เป้าหมายของตัวเอง และสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายภายใต้โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นว่าทุกทฤษฎีล้วนแต่มีความเชื่อว่า เด็กทุกคนมีลำดับขั้นตอนในการพัฒนาที่เป็นไปตามช่วงวัย ซึ่งจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องใช้สายตาที่เที่ยงตรงและยุติธรรมที่จะพิจารณาว่าเราได้แทรกแซง เร่งรัด หรือละเลยพัฒนาการของลูกหรือไม่ ที่สำคัญ คือ ต้องไม่เผลอเร่งรัดลูกนะคะ

ผลเสียของการมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด

มีนักจิตวิทยา และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กหลายท่าน ที่ออกมาให้ข้อมูลเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของพัฒนาการตามวัย แม่กิฟท์ขอรวบรวมบางตัวอย่างของพัฒนาการที่ขาดหายไปและส่งผลต่อการเติบโตของเด็ก ดังนี้

แม่ที่ไม่มีอยู่จริง

หากอ้างอิงถึง บันได 7 ขั้น ของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เด็กเล็ก ในช่วง 0 – 2 ปี พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหลักมีความสำคัญอย่างมากค่ะ ซึ่งถ้าลูกเรียนรู้ว่าแม่ไม่มีอยู่จริง จะส่งผลดังนี้

ไม่กล้าก้าวเดินหรือตั้งไข่

ในวัยเด็กเล็ก อาจทำให้เด็กไม่กล้าก้าวเดิน ไม่กล้าตั้งไข่ ไม่อยากเดินออกไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพราะกลัวว่าเมื่อเดินห่างออกไปพ่อกับแม่จะหายไป

–         แบบที่ 1 คือ ต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง ไม่ต้องการพึ่งใคร เด็กจะกลายเป็นคนแข็งแกร่งในแบบเขาสร้างขึ้น แต่ข้างในเปราะบาง
–         แบบที่สอง คือ พยายามจะเรียกร้องความสนใจ เขาจะเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ให้ถึงที่สุด เพื่อชดเชยความรู้สึกที่ขาดหายไปให้กับตัวเอง เด็กบางคนจะทำพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้พ่อแม่หันสนใจ เช่น ทำร้ายตัวเอง พอพ่อแม่รีบเข้ามาห้าม เด็กก็จะเรียนรู้ว่า เมื่อเขาทำร้ายตัวเองแล้ว พ่อแม่จะสนใจ
–         กรณีสุดท้าย คือ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เรียกร้องอะไร ยอมทุกอย่าง ที่เด็กแสดงออกแบบนี้เพื่อหวังแค่อยากมีคนที่รักเขา ใครบอกให้ทำอะไรเด็กจะยอมทำตามหมด ไม่กล้าปฏิเสธ

ไม่คลาน

เด็กหลายคนข้ามขั้นตอนการคลาน ก้าวกระโดดไปที่การพยายามเกาะแล้วเดินเลย ซึ่งการคลานเป็นพัฒนาการหลักที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ของลูกให้แข็งแรง ฝึกบาลานซ์ซ้ายขวา  การทำงานประสานกันของสายตากับมือ และส่งผลต่อพัฒนาการอื่น ๆ ในอนาคตของลูกอย่างมาก เมื่อเด็กข้ามพัฒนาการนี้ อาจส่งผลให้

ปัญหาพัฒนาการของลูกในด้านร่างกายที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นนั้น อาจแก้ไขด้วยการให้ลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของร่างกายในส่วนนั้นให้มากขึ้น เช่น เมื่อเขามีกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยแข็งแรง การทำงานของมือและขาไม่ประสานกัน อาจจะช่วยส่งเสริมให้ลูกออกกำลังกายด้วยการขี่ม้า การวิ่งเล่น เพื่อฝึกกล้ามเนื้อช่วงขาให้แข็งแรงขึ้น และการบาลานซ์ร่างกายที่ดี แต่สำหรับปัญหาในด้านของพฤติกรรม อาจจะไม่มีคำตอบในแก้ไขที่ตายตัว หากคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลก็สามารถนำลูกเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาเพื่อร่วมกันช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้นะคะ

Exit mobile version