Site icon simplymommynote

ศิลปะสีน้ำสำหรับเด็ก เสริมพัฒนาการ สร้างความอ่อนโยนในจิตใจ

ศิลปะสีน้ำสำหรับเด็ก เสริมพัฒนาการ สร้างความอ่อนโยนในจิตใจ

เมื่อพูดถึง “ศิลปะ” หลายท่านอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทักษะทางด้านนี้เลย ศิลปะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเชิงลึกด้านจิตใจ และจิตวิญญาณของเราอย่างมากทีเดียว และในฐานะพ่อแม่ เราควรส่งเสริมความสามารถทางศิลปะให้ลูกอย่างถูกต้องตามธรรมชาติ เพราะเด็กทุกคนมีทักษะเหล่านี้ติดตัวมาอยู่แล้ว แต่จะส่งเสริมความสามารถทางศิลปะของลูกอย่างไรนั้น วันนี้จะมาขยายความศิลปะ ด้วยกระบวนการพาลูกระบายสีน้ำ สร้างสรรค์ศิลปะเด็กกันค่ะ

สารบัญ

Toggle

ศิลปะกับเด็กเล็ก

เด็กเล็กที่อายุอยู่ในช่วง 3-7 ขวบ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมความสามารถทางศิลปะโดยเน้นไปที่ ประสบการณ์ต่อสีสัน มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ “บทเรียน” หมายถึง เราควรนำเด็กไปสัมผัสความรู้สึกที่มีต่อสีสัน มากกว่าเทคนิควิธีการระบายสี

เพราะเด็กเล็กในช่วง 7 ปีแรก เขายังไม่รู้จักการแยกร่างกายและจิตใจออกจากกัน จึงทำให้รับสิ่งต่าง ๆ เข้าไปในตัวตนของเขาทั้งหมด เราในฐานะพ่อแม่จึงจำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ลูกมีการรับรู้อย่างประณีตต่อคุณภาพของงานศิลปะที่ดี ซึ่งสิ่งแวดล้อมในที่นี้ หมายรวมถึงทุกสิ่ง อาทิ สี รูปแบบ การตกแต่ง เสียง และของเล่น

สีสันส่งผลอย่างไรต่อเด็กเล็ก

แทบไม่น่าเชื่อว่า สี มีอิทธิพลกับความรู้สึก และจิตใจของเด็กเล็กอย่างมาก เช่น

เชิงจิตวิทยา

สามารถใช้สีช่วยเหลือเด็กที่ติดขัดบางประการ เช่น เด็กที่ตัวโตและเกเรที่สุดในห้อง เมื่อเขาเลือกสวมใส่เสื้อสีแดงซาตินเมื่อไหร่ เขามักจะสงบลงเสมอ หรือ เด็กที่ตื่นเต้นง่ายควรอยู่ในสิ่งแวดล้อม และเครื่องแต่งกายสีแดง และสีเหลืองแดง เป็นต้น

การแต่งห้องด้วยสีแดงมาเจนต้า

มีอิทธิพลทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัยเหมือนอยู่ในครรภ์ของแม่ โรงเรียนบางแห่งที่เข้าใจเรื่องสีสันกับความรู้สึก จะตกแต่งบรรยากาศในห้องเรียนด้วยสีลักษณะนี้เพื่อให้เด็กมีความไว้วางใจ และรู้สึกสงบได้มากขึ้น

ศิลปะมีประโยชน์กับเด็กเล็กอย่างไร

ทำงานกับสัมผัสรับรู้ใน 7 ระดับ (Seven Senses)

เด็กเล็กจะถูกดึงดูดความสนใจด้วยสีโดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว ซึ่งการระบายสีน้ำจะสัมพันธ์กับผัสสะใน 7 ระดับ อาทิ Sense of Sight การได้มองเห็นสีสันในธรรมชาติจากโลกศิลปะ ไม่ใช่สีผ่านเทคโนโลยี Sense of Warmth เด็กจะได้รู้สึกไปกับสีว่ามีความอุ่น หรือเย็นจากสีที่ระบาย Sense of Movement ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระในขณะที่ปาดป้ายสี เป็นต้น

มีความละเอียดอ่อนในการมองโลก

เด็กที่ได้อยู่ในบรรยากาศของศิลปะที่ดีและถูกต้อง จะทำให้มีเวลาได้พินิจกับสีที่อยู่ตรงหน้า รับรู้ชีวิตชีวาของสีแต่ละสี และได้รู้สึกไปกับสีที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ เด็กช้าลง และละเอียดอ่อนมากขึ้นกับการสังเกตสีสันในธรรมชาติรอบตัวเขา

ปรับสมดุลเด็กคืนสู่ธรรมชาติตามวัย

ในเด็กเล็กบางคนที่ถูกเร่งให้คิดมากเกินไป โตเป็นผู้ใหญ่เกินวัย ศิลปะอย่างสีน้ำจะช่วยพาเขากลับมาสู่ธรรมชาติของวัยอย่างนุ่มนวลได้ เพราะได้รับอิสระภาพจากกระบวนการสีน้ำ ปัดป้ายระบายสิ่งที่อึดอัดอยู่ภายในออกมา และเห็นความพริ้วไหวของสีน้ำตรงหน้าทำให้เด็กรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น

ได้รับอิสระภาพในโลกของศิลปะ

อิสระภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจข้อนี้ เด็กจะได้รับอิสระอย่างแท้จริงในบรรยากาศของศิลปะที่ดี เช่น ไม่ถามลูกว่า “วาดอะไร”  “ภาพนี้หมายความว่าอย่างไร” แต่จะรอคอยรับฟังเมื่อลูกพร้อมจะเล่าสิ่งที่เขาอยากสื่อสารออกมา

สีน้ำกับเด็กเล็ก

ทำไมศิลปะสำหรับเด็กเล็กจึงต้องเป็นสีน้ำ และเน้นไปที่กระบวนการระบายสีน้ำบนกระดาษเปียก เพราะสีน้ำมีธรรมชาติที่เคลื่อนไหว ประสานกลมกลืน แปรเปลี่ยนสว่างหรือมืดได้ คล้ายความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆด้านในของชีวิต ทำให้สามารถตอบสนองได้ดีต่อธรรมชาติที่นุ่มนวล ไม่หยุดนิ่ง และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเด็กมากที่สุด โดยมุ่งเน้นไปที่การระบายที่เรียกว่า ไม่มีรูปทรง (Non-figure Exercise ) หากทำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เด็กเล็กกลับมาที่ ฐานของการลงมือทำ และรูปทรง (Figure) จะค่อยๆมาเองโดยธรรมชาติ

อุปกรณ์ที่ใช้ระบายสีน้ำ

สีน้ำ

ใช้เพียง 3 แม่สีหลักคือ แดง น้ำเงิน และเหลือง แนะนำสีแดง Crimson มาเจนต้า สีเหลือง Lemon+Gamboge และสีน้ำเงิน Ultramarine ซึ่งจะสามารถให้สีต่างๆอีกมากมายจากการผสมกันบนกระดาษเปียก

พู่กัน

ใช้พู่กันปลายแบน เบอร์ 20 เพื่อที่เวลาระบายจะไม่ทำให้เกิดรูปทรงมากเกินไป

แก้วใบเล็ก

3 ใบ ไว้ใส่สีน้ำที่ละลายน้ำอย่างพอดีแล้ว

แก้วใบใหญ่

สำหรับล้างพู่กัน ควรใช้แก้วใส เพื่อให้เด็กได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำเมื่อล้างพู่กันสีต่างๆ

กระดาษสีน้ำ 100 ปอนด์

ผิวหยาบ คุณภาพดี และหนาหน่อยเนื่องจากการระบายสีน้ำในกระบวนการนี้จะทำให้กระดาษเปียกก่อนที่จะเริ่มกระบวนการ

ผ้าเช็ดพู่กัน

ใช้ซับพู่กันให้แห้งหลังจากล้างพู่กันก่อนการจุ่มเปลี่ยนสีใหม่

กระดานรองวาดแบบกันน้ำ

เพื่อใช้ลองกระดาษเปียก 100 ปอนด์

ฟองน้ำ

ใช้เพื่อช่วยให้การวางกระดาษเปียกลงกระดานกันน้ำมีความเรียบมากขึ้น ไม่เป็นฟองอากาศ หรือไม่เกิดคลื่นนูนบนกระดาษ

โต๊ะเก้าอี้

โต๊ะที่ให้เด็กนั่งระบายสีควรขนานกับพื้น ไม่ลาดเอียงเพราะจะทำให้สีและน้ำไหลหยดเลอะเทอะ และเก้าอี้ควรเลือกที่เด็กสามารถนั่งหลังตรง และวางเท้าเหยียบพื้นได้เต็มฝ่าเท้า

การตระเตรียมกระบวนการสีน้ำให้เด็กเล็ก

การผสมสี

คุณพ่อคุณแม่ดูแลการผสมสีกับน้ำให้ได้ความเข้มจางที่พอดี วิธีการนี้จะไม่ใช้จานสี หรือให้เด็กผสมสีเอง เพราะลูกจะได้เรียนรู้ลักษณะความพอดีของสี ผ่านสายตาของคุณพ่อคุณแม่

การเตรียมกระดาษเปียก

คุณพ่อคุณแม่สามารถนำกระดาษจุ่มลงไปในน้ำให้เปียก แล้วจึงค่อยๆนำกระดาษมาวางบนกระดานรองวาด โดยใช้ฟองน้ำช่วยซับและไล่ฟองอากาศ ให้กระดาษติดแนบลงไปบนกระดานอย่างเรียบเนียนที่สุด

ยื่นพู่กัน

ภายหลังจากที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้แนะนำลูกถึงวิธีการล้างพู่กัน และซับพู่กันให้แห้งก่อนจุ่มเปลี่ยนสีใหม่ จึงค่อยยื่นพู่กันให้กับลูกเป็นลำดับสุดท้าย เพราะกิจกรรมเช่นนี้ดึงดูดให้เด็กอยากลงมือทำโดยไม่รอฟังคำอนุญาตอย่างแน่นอน

กระบวนการและบรรยากาศที่พ่อแม่นำลูกระบายสีน้ำ

พ่อแม่นำลูกระบายสีน้ำ

คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์ความพร้อมให้ลูกได้ ทำงานศิลปะ และในช่วงเริ่มแรกคุณพ่อคุณแม่ควรนั่งลงระบายสีน้ำเคียงข้างลูกไปด้วย บนกระดาษคนละแผ่นเพื่อเด็กจะได้เห็นการทำงานศิลปะสีน้ำในลักษณะระบายสีลงบนกระดาษเปียก อาจเริ่มที่ 1 สี ก่อน เพื่อให้เด็กได้ทำความรู้จักกับสีแต่ละสีอย่างละเอียด หลังจากนั้นจึงค่อยเพิ่มเป็น 2 และ 3 สี

บรรยากาศที่เป็นอิสระ

เมื่อตระเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม และแนะนำการล้างพู่กัน ซับให้แห้งก่อนการเปลี่ยนสีใหม่ให้ลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ค่อยยื่นพู่กันให้ลูกเป็นลำดับสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นจะเป็นอิสระภาพที่ลูกจะได้ทำความรู้จักกับลักษณะของสีต่างๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งโจทย์การระบายสี หรือนั่งจดจ้องเพื่อถามว่าลูกวาดอะไร กำลังทำอะไร เพียงแต่ให้สังเกตว่า ถ้าวนสีจนเป็นสีเน่า หรือเทาน้ำตาลแล้ว เป็นอันว่าพอ โดยถามลูกว่า ทำงานเสร็จแล้วใช่ไหม จากนั้นชักชวนนำกระดาษผลงานไปวางตากให้แห้งเป็นอันจบกระบวนการระบายสีน้ำ

ไม่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของชิ้นงาน

กระบวนการระบายสีน้ำในลักษณะนี้ไม่มุ่งเน้นที่ผลงาน ไม่ได้มุ่งเน้นที่รูปศิลปะ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องตัดสินความสวยงาม หรือรูปทรงที่สะท้อนออกมา เพราะลูกมีจินตนาการที่กว้างไกลกว่าผู้ใหญ่อย่างเรามาก แต่มุ่งเน้นที่ลูกได้ลงมือทำ ท่าทางการนั่ง การจับพู่กันที่ถูกต้อง สามารถนำไปสู่การพัฒนาและเตรียมพร้อมร่างกายเข้าสู่วัยเรียนเขียนอ่านได้ รวมถึงไม่คาดหวังว่าลูกจะสามารถจดจำการล้างพู่กันก่อนจุ่มสีใหม่ได้ในช่วงแรก เพราะลูกเองก็กำลังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนา

ศิลปะในมุมมองแบบนี้ เป็นศิลปะที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เองมีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น ไม่ลังเลสงสัยตัวเองกับทักษะด้านศิลปะผ่านกระบวนการระบายสีน้ำบนกระดาษเปียกเมื่อนั่งทำเคียงข้างกับลูก เพราะไม่เน้นที่รูปทรง แต่เน้นไปที่ประสบการณ์ที่ได้รับจากศิลปะและสี ควรนำลูกทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ลูกจะได้รับความสงบและความร่าเริงที่เกินขึ้นด้านในของเขา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะค่อยๆสังเกตเห็นได้ในครั้งต่อๆไปว่า ลูกมีความนิ่งกับกระบวนการระบายสีน้ำมากขึ้น ตื่นเต้นที่ได้เห็นสีวิ่งไปผสมกันเองแล้วเกิดเป็นสีใหม่ นั่นคือ ความละเอียดขึ้นต่อการมองเห็นสีสันของลูกค่ะ

Exit mobile version