บางครั้ง ความสูง ก็เพิ่มโอกาสหลาย ๆ อย่างให้กับชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็น อาชีพในฝัน อย่างแอร์โฮสเตส นักกีฬา NBA นายแบบนางแบบ ก็ล้วนมีความสูงเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่สำคัญต่ออาชีพนั้นๆ และความสูงยังทำให้ดูมีบุคลิกภาพที่ดีด้วยจริงไหมคะ จึงไม่แปลกที่คุณพ่อคุณแม่จะอยากเตรียมความพร้อมให้ลูกได้สูงเต็มศักยภาพเท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะหากเลยวัยหยุดสูงก็จะแก้ไขอะไรไม่ทัน วันนี้เรามีวิธีการเลือกอาหารที่ปลอดภัย และช่วยเพิ่มความสูงให้กับลูกมาฝากกันค่ะ
กรรมพันธุ์มีผลมากแค่ไหนเรื่องความสูง
โดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยทางกรรมพันธุ์มีผลต่อความสูงถึงร้อยละ 60-80 ของความสูง แต่จะสูงได้มากแค่ไหนนั้นก็ยังมียีนอีกหลายคู่เป็นตัวกำหนด ดังนั้น การที่เด็กมีพ่อแม่ตัวไม่สูงมาก ไม่ได้แปลว่าเด็กจะตัวเล็ก หรือถ้าพ่อแม่เป็นคนตัวสูง ก็ไม่ได้แปลว่าลูกจะตัวสูงตามไปด้วยเช่นกัน ปัจจัยที่มีส่วนเสริมทำให้สูงได้เพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องของโภชนาการ และการออกกำลังกายมากกว่า โดยเฉลี่ยแล้วความสูงของลูกนั้นมีสูตรคำนวณ คือ
เด็กหญิง = (ความสูงของพ่อ + ความสูงของแม่ – 13) หาร 2 ความสูงที่ควรจะเป็น + 6
ควรกระตุ้นความสูงให้ลูกตอนไหน
น.พ. วรวัฒน์ เอี่ยวสินพานิช แพทย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงพยาบาลปิยะเวท ได้ให้คำแนะนำว่า… เด็กจะมีการเพิ่มความสูงใน 2 ช่วงอายุ คือ
- ช่วงแรกเกิดจนถึง 2 ปีแรก
- ช่วงที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งผู้หญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นในช่วงอายุ 5 ปี จนถึง 16 ปี ส่วนผู้ชายตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึง 20 ปี
เมนูเพิ่มความสูง
โภชนาการมีอิทธิพลมากที่สุดต่อความสูงนอกเหนือจากปัจจัยทางพันธุกรรม คุณแม่จึงควรมีวิธีเลือกอาหารที่ถูกต้องและปลอดภัยให้กับลูก ดังนี้
โปรตีนจากพืช
โปรตีนเป็นพระเอกสำคัญ และมีผลต่อความสูงอย่างมากค่ะ ถั่ว เนยถั่ว พืชตระกูลถั่วต่างๆ ล้วนเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยม ยิ่ง “ถั่วอัลมอนด์” ถือเป็นตัวเพิ่มความสูงแบบติดเทอโบเลยค่ะ เพราะในอัลมอนด์อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โพแทสเซียม วิตามินอี และแคลเซียม ที่ช่วยเพิ่มความสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี คีนัว เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเฮมพ์ ถั่วลูกไก่ เพิ่มความหลากหลายในอาหารได้ และทานได้ง่ายแค่ใส่ในโยเกิร์ต การเพิ่มโปรตีนในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องง่ายที่คุณแม่สามารถเพิ่มให้ลูกได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ >> รีวิว นมอัลมอนด์ 3 แบรนด์ 4 รสชาติ สำหรับคนรักสุขภาพ
ไข่และนม
ไข่ เป็นองค์ประกอบของหลายๆเมนูในชีวิตประจำวันอยู่แล้วค่ะ ไข่มีคุณค่าทางโภชนาการและอุดมไปด้วยโปรตีน ไข่ขาวมีอัลบูมิน และมีโปรตีน 100% แต่ควรใช้ไข่ทั้งฟอง เพื่อเพิ่มไขมันที่ดีต่อสุขภาพ วิตามินบี 12 และแคลเซียม
นม นมมีโปรตีน วิตามินดี A B E และแคลเซียมสูง แต่ควรหลีกเลี่ยงนมที่ไม่ออร์แกนิก เพราะนมออร์แกนิกจะปราศจาก rBGH และ rBST ซึ่งเป็นฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงวัว รวมไปถึงยาปฎิชีวนะ ที่อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของลูกได้ อาหารที่สะอาดจะช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของลูก และนมยังมีโอเมก้า 3 ที่สูง อีกด้วยค่ะ
ผัก
เลือกผักใบเขียวที่มีแคลเซียมสูง เพราะแคลเซียมส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูกได้ดี อาทิเช่น บรอกโคลี ตำลึง กระถิน ขี้เหล็ก สะเดา ผักกระเฉด ยอดแค ผักแพรว เป็นต้น แต่ก็ต้องระวังกรดออกซาลิก (oxalic acid) พบมากในผักบางชนิด เช่น ผักโขม ใบชะพลู ผักปลัง หน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งกรดออกซาลิกจะไปจับแคลเซียมที่มีในอาหาร ทำให้แคลเซียมถูกดูดซึมได้น้อยลงค่ะ
ปริมาณความต้องการแคลเซียมในแต่ละวัน
- อายุ ช่วง 1-3 ปี : 500 มิลลิกรัม
- อายุ ช่วง 4-8 ปี : 800 มิลลิกรัม
- อายุช่วง 9-18 ปี : 1,000 – 1,200 มิลลิกรัม
- อายุช่วง 19-50 ปี : 800 – 1,200 มิลลิกรัม
- อายุมากกว่า 50 ปี : 1,000 มิลลิกรัม
กล้วย
ทาน และหาซื้อได้ง่าย เพราะเด็กส่วนใหญ่ชอบทานกล้วย กล้วยอุดมไปด้วยแมงกานีส โพแทสเซียม และแคลเซียม ถือเป็นราชาแห่งความสูง
ผลไม้
ส้ม แอปเปิล มะม่วง ลูกพีช ส้มโอ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยให้ร่างกายดูดซึม และใช้ประโยชน์จากแคลเซียม ได้ดี
เนื้อสัตว์
หากจะเสิร์ฟเนื้อสัตว์ให้ลูก คุณแม่ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย และออร์แกนิค เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยจากฮอร์โมนเร่งโต และยาปฎิชีวินะ เช่น เนื้อสัตว์ที่กินหญ้าออร์แกนิค ปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ หรือไก่แบบออร์แกนิกและเลี้ยงแบบปล่อยจะดีที่สุด ทานเสริมบ้างจาก Plant Based เพื่อความหลากหลาย แต่หากทานโปรตีนที่มากเกินไปจะไปสลายแคลเซียมมากขึ้น จึงควรบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะ
อาหารเค็มจัด
เลี่ยงอาหารที่เค็มจัด เช่น ปลาร้า ไข่เค็ม เบคอน ปลาเค็ม อาหารเหล่านี้มีโซเดียมสูง ซึ่งจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็ก
คาเฟอีน
ควรงดเครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลม หรืออาหารที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
ของมัน และขนมขบเคี้ยว
คุณแม่ควรให้ลูกเลี่ยงการทานขนม เพราะในขนมมีพวกน้ำตาลหรือสารให้ความหวานทดแทน ที่มักจะซ่อนอยู่ซึ่งเป็นตัวขัดขวางความสามารถของร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมอย่างดีเลยค่ะ และเลี่ยงอาหารที่มีน้ำมันมากเกินไปด้วยค่ะ เพราะไขมันจะไปรวมกับแคลเซียมทำไห้ประสิทธิภาพของการดูดซึมลดน้อยลง
เลือกอาหารที่ดีถูกหลักโภชนาการและปลอดภัยแล้ว ยังมีเรื่องของการออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมการกระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโต และช่วยยืดแถบกระดูกอ่อนและเอ็นรอบแขนและขาของลูกให้เตรียมรับการเติบโตของกระดูก และเรื่องการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอเพราะฮอร์โมนที่สร้างส่วนสูงจะหลั่งออกมาในเวลากลางคืนตอนที่ลูกนอนหลับสนิท ถ้าคุณแม่สามารถจัดการปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ได้ แน่นอนว่าลูกคุณแม่จะต้องสามารถสูงชนะพันธุกรรมได้อย่างแน่นอนค่ะ
อ้างอิง sneakz.com, amarinbabyandkids.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- อยากให้ลูกสูง แวะทางนี้ กับเทคนิคดี ๆ ได้ผลชัวร์