วัยรุ่นไทยกับวัฒนธรรม พร้อมเทคนิคการปลูกฝังค่านิยมไทย
วัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิมมานั้นมักจะเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน สุภาพ และละมุนละไม จนเป็นที่ประทับใจของชาวต่างชาติมายาวนานหลายยุคหลายสมัย ทว่า ในปัจจุบันวัฒนธรรมไทยของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะผู้สืบทอดเช่นคนรุ่นหลัง หรือวัยรุ่นยุคใหม่ รับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาประพฤติปฎิบัติ และพากันหลงลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติไทยเราไปบางส่วน เพราะความคิดเห็นว่าไม่ทันสมัย โบราณ เก่า คร่ำครึ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานวัฒนธรรมของชาติก็คงจะสูญสลายไปในที่สุด
วัยรุ่น กับทัศนคติความเป็นไทย
วัยรุ่นถือเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรม และเป็นแบบอย่างของสังคมที่โดดเด่นยิ่งกว่าช่วงวัยอื่นๆ ทั้งนี้เพราะการแสดงออกของวัยรุ่นมักจะเปิดเผย ตรงไปตรงมา หากชอบ หรือพอใจสิ่งใดก็จะแสดงออกอย่างไม่ปิดบัง
ขณะเดียวกันหากว่าวัยรุ่นปฏิเสธที่จะยอมรับ ไม่ชอบ ไม่พอใจต่อสิ่งใด ก็จะแสดงออกอย่าง โดยเฉพาะความรู้สึกที่มีต่อวัฒนธรรม ประเพณี และทัศนคติทางสังคม ที่นับวันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยมีแนวโน้มที่จะยอมรับ และนำเอาค่านิยมต่างประเทศเข้ามาเป็นแบบอย่าง เช่น วัฒนธรรมการแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม สไตล์เกาหลี ญี่ปุ่น วัฒนธรรมการมีเพศสัมพันธุ์และพลาดตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นคุณแม่วัยใสแบบชาวตะวันตก เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องมาจากการที่วัยรุ่นมีทัศนคติต่อวัฒนธรรมความเป็นไทยในด้านลบ หรืออย่างน้อยๆ ก็คือการไม่ยอมรับวัฒนธรรมไทยว่าเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ ควรค่าแก่การปฏิบัติตน หรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่วัยรุ่นทุกกลุ่มจะมีแนวความคิด และทัศนคติในด้านลบต่อวัฒนธรรมไทยไปเสียทั้งหมด
ในสังคมไทยเราทุกวันนี้ยังมีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่รัก และหวงแหนความเป็นไทย มีค่านิยมที่จะอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ที่บ่งบอกความเป็นรากเหง้าที่งดงามมายาวนานหลายร้อยปี ดังนั้น การส่งเสริมให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ ได้แสดงออกถึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมไทย จึงถือเป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะวัฒนธรรมของทุกชนชาติจะคงอยู่ได้ ก็เนื่องมาจากการคนในชาติ ไม่ละทิ้งวัฒนธรรมอันดีงามของตน นั่นเอง
วัฒนธรรมไทยกับวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน
วัฒนธรรมไทยกับวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอันมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกาย การใช้ภาษา รวมถึงการแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น เด็กผู้หญิงวัยรุ่นชอบสวมชุดนอนออกไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้า สวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น โชว์สัดส่วน เลียนแบบตัวละครในภาพยนต์การ์ตูนที่ชื่นชอบ และกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น
ตลอดจนถึงค่านิยมในการใช้ภาษา ใช้คำพูดห้วน สั้น ไม่มีหางเสียง การสร้างคำศัพท์ใหม่ๆ ในภาษาเขียน ที่ทำให้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิม เช่น นิยมเขียนคำว่า “เทอ” แทนคำว่า “เธอ” นิยมเขียนคำว่า “เลา” แทนคำว่า “เรา” เป็นต้น
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก เด็กๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น จึงสามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวจากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างมหาศาล เพราะวัยรุ่นมีค่านิยมที่ชอบเลียนแบบตามกันในหมู่เพื่อน หรือกลุ่มสังคมที่พวกเขาคลุกคลีด้วย นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการแต่งกายตามแบบวัยรุ่นสไตล์เกาหลี ญี่ปุ่น วัฒนธรรมที่นิยมสักลาย และเจาะรูร้อยห่วง ตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ค่านิยมในการทำทรงผม และสีผมที่ฉูดฉาด แปลกตา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้การรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมายึดถือ และลอกเลียนแบบตาม จะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย และรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้ยั่งยืน ยาวนานนัก เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ “เบื่อง่าย” และ “สนใจสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ” ดังนั้นค่านิยมต่างๆ เหล่านี้ จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเมื่อ ตามความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ฉาบฉวยของวัยรุ่น นั่นเอง
เทคนิคการปลูกฝังค่านิยมไทยให้ลูกวัยรุ่น
ค่านิยม และความเป็นไทย เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติ อันมีรากเหง้ามาจากขนบประเพณีอันดีงามของไทยมาแต่โบราณ และสืบทอดต่อมาจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน จึงถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรนำมาปลูกฝังให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกของลูกๆ ทุกคน โดยเฉพาะลูกวัยรุ่น
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะปลูกฝังค่านิยม ความเป็นไทย ให้กับลูกวัยรุ่น ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ คือ
ทำกิจกรรมร่วมกัน
คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาว่างชวนลูก ๆ เล่นเกมส์ หรือทำกิจกรรมแบบไทย ๆ เช่น ชวนลูกใส่บาตรตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน หรือไปทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม ในวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา
รวมถึงอาจมีการจัดกิจกรรม เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น นันสงกรานต์ อาจให้ลูกๆ ได้มีการเล่นน้ำสงกรานต์ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว เป็นต้น
ปลูกฝังการใช้ภาษาไทย
ปลูกฝังการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน เพราะภาษาคือสัญลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นชาติ มีวัฒนธรรม มีรากเหง้าในแบบฉบับของตนเอง ที่ชนชาติใดๆ ในโลกก็มิอาจเสมอเหมือนกันได้
ปลูกฝังความภาคภูมิใจ
ปลูกฝังให้ลูกมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เช่น การแต่งกายที่สุภาพ เรียบร้อย มารยาทอันดีงาม การกราบ การไหว้ การพูดจาสุภาพเรียบร้อย รวมถึงการรู้จักมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครู อาจารย์ และบุคคลที่พึงเคารพ เช่น พระสงฆ์ สมณะ ชี พราหมณ์ ฯลฯ เป็นต้น
ปลูกฝังความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ
ที่เต็มไปด้วยความเรียบง่าย ทว่า อบอุ่น และใกล้ชิด โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของครอบครัว เครือญาติ ที่มักเป็นครอบครัวใหญ่ มีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และเครือญาติที่ไปมาหาสู่ รับรู้สารทุกข์สุกดิบ และคอยช่วยเหลือ เอื้ออาทร แบ่งปัน และมีน้ำใจไมตรีต่อกันเสมอๆ
ปลูกฝังวัฒนธรรมไทย
คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้จักรักศิลปะ ขนบประเพณี และวัฒนธรรมไทย เช่น ดนตรีไทย นาฎศิลป์ไทย ศิลปะภาพวาดเส้นสายลายไทย การละเล่นอย่างไทย เช่น โขน ละครรำ ละครร้อง (ลิเก) ฯลฯ เป็นต้น โดยอาจสนับสนุนให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เช่น การแสดงที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น การพาลูกๆ วัยรุ่นไปเที่ยวชมการแสดงนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์นานาชาติ การแสดงดนตรีไทย รวมถึงสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ หรือเรียนพิเศษเสริมทักษะความสามารถ ในการเล่นดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย เป็นต้น
สรุป
พ่อแม่ ครู อาจารย์ ญาติ พี่น้อง และผองมิตรสหาย ล้วนมีความสำคัญต่อบทบาทความคิด ค่านิยม และทัศนคติของวัยรุ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพ่อแม่ ซึ่งถือเป็นแม่พิมพ์ชิ้นแรกในชีวิตของลูก ตั้งแต่พวกเขาเริ่มเรียนรู้ และทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว จนกระทั่งถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการแสดงออก และถ่ายทอดพฤติกรรมจากการเรียนรู้ทั้งหมด ดังนั้น หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกมีความรักในวัฒนธรรมไทย มีหัวใจรักชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ พ่อแม่จะต้องเป็นผู้นำแบบอย่างที่ดี มาสู่ลูกๆ วัยรุ่น ด้วยตัวเอง เป็นอันดับแรก