วัยรุ่นมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง แนวทางการรับมือ
จากสถิติคดีเด็กและเยาวชนในปี พ.ศ. 2544 – 2548 พบว่า เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มในการกระทำความผิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ชีวิตและร่างกาย เพศ ความสงบสุข ชื่อเสียง และการปกครอง โดยช่วงอายุที่พบว่ามีการกระทำความผิดมากที่สุดคือ 15 – 18 ปี และพบว่ามีผู้กระทำความผิดเพศชาย มากกว่าเพศหญิง และเป็นเด็กที่อยู่ในระดับชั้นมัธยมต้น มากกว่ามัธยมปลาย และระดับมหาวิทยาลัย
คำถามคือ เพราะเหตุใด เด็กวัยรุ่นจึงมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจ?
สาเหตุที่วัยรุ่นมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ
ปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยในด้านสังคม ตัวอย่างเช่น สภาพสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่เด็กๆ อาศัยอยู่มีความล่อแหลม ชวนให้มีการกระทำความผิดได้ง่าย หรือได้พบเห็นการกระทำอันเป็นเหตุแห่งการยั่วยุอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในแหล่งชุมชนแออัด สถานบันเทิงยามราตรี เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจัยทางสังคมอื่นๆ ที่เราพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันก็มีผลต่อทัศนคติ และพฤติกรรมความรุนแรงในวัยรุ่นได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ข่าวอาชญากรรม ภาพยนตร์ และเกมส์ ที่มีเนื้อหาแสดงความรุนแรง เป็นต้น
ปัจจัยจากครอบครัวและคนใกล้ชิด
การที่เด็กอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีการปฏิบัติต่อกันด้วยความรุนแรง ก้าวร้าว เช่น การที่พ่อแม่และคนในครอบครัวชอบทะเลาะกัน พ่อแม่ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน หรือการที่พ่อแม่มีพฤติกรรมการลงโทษลูกที่รุนแรง เช่น การทุบตี กักขัง ด่าทอ หรือแม้แต่การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง เช่น ตามใจมากจนเกินไป หรือเข้มงวดมากเกินไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนนำไปสู่พฤติกรรมความรุนแรงในวัยรุ่นได้ทั้งสิ้น
ปัจจัยจากตัวเด็กเอง
ยกตัวอย่าง เช่น เด็กที่มีพัฒนาการทางสมองช้า มีภาวะออทิสติก และสมาธิสั้น จะมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง และมีอุปนิสัยก้าวร้าว ชอบใช้กำลัง มากกว่าเด็กปกติ ที่มีพัฒนาการตามวัย เนื่องจากพื้นฐานทางอารมณ์ของตัวเด็กเอง เป็นต้น
พฤติกรรมที่เข้าข่ายความรุนแรงเบื้องต้น
พฤติกรรมที่เข้าข่ายความรุนแรงในเบื้องต้น อาจสังเกตได้จาก
- การที่เด็กมีพฤติกรรม หรืออุปนิสัยที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็น เช่น จากที่เคยชอบนั่งดูทีวี หรือทำกิจกรรมร่วมกับทุกคนในครอบครัว ก็เริ่มทำตัวแปลกแยก เก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา หรือสุงสิงกับคนในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน
- มีศักยภาพในการเรียนลดลง ผลการเรียนต่ำลง ความสนใจ และใส่ใจในกิจกรรมที่ถนัดลดลงจนน่าแปลกใจ
- ชอบทะเลาะกับเพื่อน ทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเอง และทำร้ายผู้อื่น
- มีความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ จิตวิญญาณ เครื่องรางของขลัง รวมถึงมีความสนใจในลัทธิ และพิธีกรรมทางศาสนามากผิดปกติ
- มีความคิดวิตกกังวล หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน
- เคร่งเครียด หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตัวเอง ดื้อรั้น ดันทุรัง และชอบเอาชนะ
วิธีปรับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงในวัยรุ่น
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกวัยรุ่น ลด ละ และเลิก พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ ครู อาจารย์ เพื่อนร่วมชั้น เพื่อนสนิท ตลอดจนผู้ใกล้ชิด นับว่ามีบทบาทอย่างมากทีเดียว ยกตัวอย่าง เช่น
เป็นแบบอย่างที่ดี
พ่อแม่ และคนใกล้ชิด ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในการแก้ปํญหา เช่น การที่พ่อแม่รู้จักใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา มากกว่าการใช้อารมณ์ และความรุนแรง รู้จักการให้อภัย การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เมื่อใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัวประสบกับปัญหา และความยุ่งยากในชีวิต ก็ไม่คิดจะซ้ำเติม เป็นต้น
ให้การยอมรับและความเข้าใจ
พ่อแม่ และคนใกล้ชิดต้องเข้าใจ และยอมรับพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และจิตใจของวัยรุ่น รู้จักการมองโลกในแง่ดี และสอนให้ลูกเข้าใจหลักของเหตุผล มีทัศนคติที่ดีต่อปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หรือปลูกฝังให้ลูกมีความคิดเชิงบวก มากกว่าความคิดในด้านลบ นั่นเอง
จัดสิ่งแวดล้อม พาลูกห่างจากความเสี่ยง
พ่อแม่ และผู้ปกครองควรมีบทบาทในการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกให้อยู่ห่างไกลจากความเสี่ยง และความล่อแหลมอันจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ เช่น ในช่วงวันหยุด สุดสัปดาห์อาจพาลูกไปผ่อนคลายความตึงเครียด ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์ และสังคม เช่น ไปทำบุญที่วัด ไปร่วมกิจกรรมปลูกป่า เที่ยวเชิงธรรมชาติอนุรักษ์ ไปอ่านหนังสือให้คนป่วยหรือคนชราตามสถานสงเคราะห์ฟัง หรืออ่านนิทาน ร้องเพลงให้เด็กๆ ตามโรงพยาบาล หรือสถานรับเลี้ยงเด็กฟัง โดยอนุญาตให้ลูกสามารถพาเพื่อนๆ ไปร่วมกิจกรรมด้วยได้ เป็นต้น
สรุป
วัยรุ่น นับเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นช่วงวัยที่ล่อแหลม และมีความหลากหลายทางอารมณ์ สังคม และพฤติกรรมในการแสดงออก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเพื่อนๆ จึงนับว่ามีบทบาท และส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยประคับประคองให้เด็กๆ ในช่วงวัยนี้ เจริญเติบโต ก้าวผ่านไปสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างเข้มแข็ง และงดงาม ดังนั้น หากทุกคนมีความเข้าใจ ห่วงใย และเอื้ออาทรต่อกันแล้ว ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นก็จะลดลงในที่สุด