“เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข แบบพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวทำได้จริงหรือ?”
อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำใจ เมื่อชีวิตรักต้องพังทะลายลง ทิ้งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดูแลครอบครัวเพียงลำพัง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เลือกที่จะมีชีวิตใหม่บนเส้นทางที่ต่างออกไป แน่นอนว่า นอกจากความทุกข์ ความเศร้าโศก เสียใจ ความหวาดวิตก และความกังวลทั้งหลาย เหมือนจะพร้อมใจกันถาโถมลงมาทับพ่อและแม่ ที่ตกอยู่ในสภานะ “พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว” แต่เชื่อเถอะว่า คุณคือคนสำคัญที่ลูกต้องการ และคุณเท่านั้นที่จะมอบความรัก ความอบอุ่นให้กับลูกน้อย ได้ดียิ่งกว่าใครทั้งหมด ดังนั้นจงรวบรวมกำลังใจทั้งหมด ส่งเป็นพลังบวก เพื่อผลักดันให้ตัวคุณก้าวไปสู่จุดหมายใหม่ นั่นคือการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เก่ง ดี มีความสุข เช่นเดียวกับที่ครอบครัวอื่น ๆ ทำได้…และคุณเองก็จะทำได้ด้วยเช่นกัน!
10 เทคนิคการ เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข
เทคนิคการเลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุขที่ทุกครอบครัวสามารถนำมาปฏิบัติร่วมกันได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเลี้ยงดู เพราะไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่มีความสมบูรณ์พร้อม พ่อ และแม่ทุก ๆ คนก็ล้วนต้องการเห็นลูกของตนเองเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเทคนิคในการเลี้ยงลูกให้เก่ง ดี และมีความสุขนั้น สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ คือ
เลี้ยงลูกแบบเปิดกว้าง
เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ ค้นหาความสามารถของตนเอง ตามความสนใจ และความถนัด โดยคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นเพียงผู้สนับสนุน ให้คำแนะนำ และให้โอกาสเขาได้ทำตามความต้องการ
ให้ลูกได้เรียนรู้จากการเล่น
ให้เขาได้เล่นสนุกตามวัยของตนเอง ยิ่งถ้าคุณพ่อ หรือคุณแม่ เป็นส่วนหนึ่งในการเล่นของลูกได้ ก็จะยิ่งช่วยให้เขารู้สึกถึงความอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกเหมือนพ่อหรือแม่ คือส่วนสำคัญในแต่ละก้าวการเรียนรู้ของเขาเสมอ
สอนให้ลูกรู้จักการเข้าสังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
สอนให้เขารู้จักรักผู้อื่น เช่นเดียวกับการรักตนเอง สอนให้รู้จักพูดคำว่า “ขอบคุณ” “ขอโทษ” เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างบุคคล เด็ก ๆ ควรได้รับการปลูกฝังนิสัยการแบ่งปัน และการให้อภัย รู้จักการใช้เหตุผล มากกว่าอารมณ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เทคนิคการสอนลูกให้ขอโทษจากใจ
อย่าเลี้ยงลูกราวกับเป็นไข่ทองคำในหินก้อนมหึมา
คือพ่อ หรือแม่เป็นผู้เก็บรักษา ทนุถนอม และตีกรอบป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกทุก ๆ ด้าน จนลูกไม่กล้าที่จะต่อสู้ ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
เป็นพลังบวกให้ลูกเสมอ
แม้จะคอยดูอยู่ห่าง ๆ แต่อย่าปล่อยให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว คอยประคับประคองเมื่อเขาล้ม คอยให้กำลังใจเวลาที่เขารู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง คอยเป็นกำลังใจ และพร้อมจะยืนเคียงข้างลูกเสมอ เมื่อเขาต้องการคุณ
การให้เวลากับลูก
ทั้งในเรื่องการปรับตัว การเรียน การเล่น การทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงหน้าที่เล็ก ๆ น้อยที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อ และแม่ได้ เช่น ช่วยล้างจาน ช่วยทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
ไม่เครียด ไม่กดดัน
รวมถึงไม่ตั้งเป้าหมายไว้กับลูกจนสูงเกินเอื้อม ด้วยการบังคับให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการที่พ่อ หรือแม่ คิดว่าดีที่สุดสำหรับเขา แต่ควรสนับสนุน ผลักดัน ส่งเสริมให้ลูกเกิดความมั่นใจ ในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา หรือสถานการณ์ที่ต้องคิด และตัดสินใจ
โภชนาการอาหารที่ดี
และมีคุณค่าเหมาะสมกับวัยของเด็ก ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง สุขภาพดี และมีความสุขด้วยเช่นกัน
ห้ามเปรียบเทียบ
ไม่ควรเปรียบเทียบลูกคุณกับลูกของคนอื่นโดยเด็ดขาด! เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง เกิดเป็นความประหม่า น้อยเนื้อต่ำใจ และกลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเองในที่สุด ที่สำคัญคือการใช้คำพูด และการแสดงอารมร์ของคุณพ่อ หรือคุณแม่ ควรใช้คำพูดที่อ่อนโยน สุภาพ เสริมสร้างกำลังใจ แทนที่จะใช้คำพูดที่รุนแรง ก้าวร้าว ด่าทอ เพราะคำพูดต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อพฤติกรรม และจิตใจของลูกอย่างมาก เมื่อเขาเติบโตขึ้น
เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็น
พ่อแม่เปรียบเสมือกระจกบานใหญ่ ที่ลูกมองเห็นอยู่ทุกวัน เมื่อเขาเห็นสิ่งใดในกระจก เด็ก ๆ ก็จะเกิดการจดจำ และเริ่มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ซึ่งคงไม่ดีแน่ หากคุณพ่อคุณแม่จะแสดงความโกรธ ความก้าวร้าว ดุดัน เกรี้ยวกราด ให้ลูกได้เห็น เพราะนั่นจะเป็นการปลูกฝังนิสัยเช่นนี้ลงในหัวใจของเด็ก ๆ และเมื่อถึงวัยหนึ่งเขาก็จะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ออกมาบ้าง เมื่อความต้องการไม่สมดังความปรารถนา และแน่นอนว่า ช่องว่างระหว่างคุณกับลูกก็จะยิ่งขยายใหญ่ออกไปเรื่อย ๆ เพราะกระจกที่คุณสร้างมันขึ้นมา นั่นเอง
ปัญหาที่พบบ่อยในการเลี้ยงลูก สำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
ปัญหาที่พบบ่อยที่สุด สำหรับผู้ที่ตกอยู่ในสถานะ “พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว” คือ ความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ เช่น เรื่องค่าใช้จ่าย ความพร้อมในการดูแลลูกเพียงลำพัง ความกลัวที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ แบบไม่คาดคิด ความกังวลและ ความกลัวที่จะล้มเหลวในการดูแลเอาใจใส่ลูกไปพร้อมๆ กับการทำงานนอกบ้าน รวมถึงความเครียดที่จะต้องแบกรับภาระทั้งหมดในครอบครัวเพียงลำพัง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเคยเกิดขึ้นมาแล้วสำหรับคุณพ่อ และคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายครอบครัว ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ความเข้มแข็ง และความกล้าหาญเท่านั้น ที่จะพาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
แนวทางการแก้ปัญหาในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
ทั้งนี้ วิธีแก้ปัญหาพื้นฐาน เมื่อคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ มีดังนี้ คือ
ให้กำลังใจตนเอง
และอย่าละเลยที่จะดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองด้วยเช่นกัน ความเข้มแข็งของจิตใจ และความแข็งแรงของร่างกายจัดเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็นต้องมี เพราะถ้าคุณป่วย(ทั้งกายและใจ)คุณจะเอาเรี่ยวแรงและกำลังใจที่ไหนไปดูแลลูกได้
ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้าง
หากจำเป็น เพราะทุกคนไม่ได้เข้มแข็ง และกล้าหาญอยู่ตลอดเวลา ช่วงเวลาแห่งความเหนื่อยล้า และท้อแท้ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นมืออันอบอุ่นที่ยื่นมาเบื้องหน้า เพื่อประคองคุณให้ลุกขึ้นได้อีกครั้ง จึงมีความสำคัญอย่างมาก
สร้างกลุ่ม ชุมชน หรือพูดคุยกับคนที่ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน
เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต รวมถึงเทคนิค วิธีการดูแลลูกเพียงลำพัง เป็นต้น
อาศัยการวางแผนในชีวิต
ทุกสิ่งในชีวิตต่อจากนี้ต้องมีการวางแผน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และตัวคุณเอง คุณพ่อ หรือคุณแม่ที่อยู่ในสถานะเลี้ยเดี่ยว จำเป็นต้องบริหารการเงินอย่างรอบคอบ เพื่ออนาคตของลูก และของตัวคุณเองด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ หรือมีโอกาสที่จะหารายได้เสริม เพื่อเพิ่มรายรับให้กับครอบครัว โดยไม่ส่งกระทบต่อการดูแลลูก ก็ควรจะต้องทำ
สอนลูกให้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ
ด้วยการฝึกให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเอง รู้จักการทำกิจวัตรประจำวัน และเข้าใจกฎกติกา ที่ทุกคนในครอบครัวต้องปฎิบัติร่วมกัน
ก้าวข้ามความผิดพลาดให้ได้
ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและกล้าหาญ ให้กำลังใจตนเองอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งอาจต้องพบกับความเหนื่อยล้า และท้อแท้ แต่ไม่ควรท้อถอยเป็นอันขาด พยายามตั้งสติ คิดบวกอยู่เสมอ และที่สำคัญคือ หมั่นหัวเราะ ทำจิตใจให้ร่างเริงแจ่มใส ไม่หมกมุ่นกับความทุกข์ และความรู้สึกเดิมๆ ที่ผ่านมาแล้ว
ตั้งใจรับฟังและตอบคำถามลูกอย่างจริงใจ
เมื่อวันหนึ่งลูกตั้งคำถามที่ตอบยากกับคุณ จงอย่าปฏิเสธที่จะตอบคำถามของลูก แต่ควรรับฟังทุกถ้อยคำและความคิดเห็นของลูกอย่างตั้งใจ และตอบคำถามของเขาด้วยความจริงใจ และซื่อตรง อธิบายให้เขาเข้าใจว่า เพราะเหตุใดครอบครัวของเขาจึงมีเพียง พ่อ หรือแม่เพียงคนเดียวเท่านั้น อาจเป็นเรื่องยากสักหน่อยที่ลูกจะทำความเข้าใจในระยะแรก หรือในช่วงวัยที่เขายังไม่เข้าใจความซับซ้อนของผู้ใหญ่ แต่จงบอกลูกของคุณเถอะว่า “แม้เขาจะมีเพียงพ่อ หรือแม่ที่อยู่กับเขาเพียงลำพัง แต่คุณจะเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับเขาเอง ลูกไม่ต้องกังวลใด ๆ ทั้งสิ้น!”
เมื่อความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาจบลง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเดินจากไปใช้ชีวิตใหม่ตามทางที่เลือก ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นผู้ดูแลลูกต่อไป ปัญหาความเครียด ความวิตกกังวล และความไม่สบายใจสารพัดอย่างเกี่ยวกับตัวลูกจะถาโถมเข้าหาพ่อ หรือแม่ ซึ่งต้องตกอยู่ในสถานะ “เลี้ยงเดี่ยว” อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งจะผ่านพ้นไปด้วยดี หากคุณพ่อคุณแม่ที่ตกอยู่ในสถานะเลี้ยงเดี่ยว เปลี่ยนความทุกข์ ความเศร้า ความผิดหวัง ให้กลายเป็นพลังในด้านบวก แล้วหันมาโฟกัสที่ “ลูก” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ ณ ตอนนี้ และจงเชื่อมั่นในตนเองอย่างกล้าหาญว่า คุณพ่อ หรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวแบบคุณนี่แหละ ที่จะทำให้ลูกเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุขที่สุด ที่มีคุณอยู่ข้างๆ เขาตลอดมา และตลอดไป…