พ่อแม่เคยเป็นกันบ้างไหมคะ เวลาที่เพื่อนลูกมาเล่นที่บ้าน เราก็อยากให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจรู้จักแบ่งปัน และเป็นเจ้าบ้านที่ดี แต่หากเพื่อนคนนั้นเกิดอยากเล่นของเล่นชิ้นโปรดของลูกขึ้นมาแล้วลูกไม่อยากแบ่งปัน พ่อแม่อย่างเราควรสอนให้ลูกมีน้ำใจ ยอมแบ่งของชิ้นนั้นให้เพื่อนโดยที่ไม่ละเลยต่อความรู้สึกของลูก วันนี้เรามีวิธีสอนลูกให้กล้าปฏิเสธมาแนะนำค่ะ
การเรียนรู้ที่จะปฏิเสธของลูก
ในวัยเด็กเล็กลูกจะอยู่ใต้อิทธิพลของพ่อแม่ หมายความว่า หากพ่อแม่มีมุมมองต่อเรื่องใดอย่างไร ลูกก็จะเลียนแบบและมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไปในทิศทางเดียวกับพ่อแม่ เรื่องการปฏิเสธ หรือการพูดคำว่า “ไม่” ของลูกก็จะได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่เช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยหัดเดิน การเรียนรู้ต่อการยอมรับคำว่า “ไม่” จากคนอื่นเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคำว่า “ไม่” ด้วยตัวเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญของพ่อแม่คือ “การทบทวนตัวเอง” หากพ่อแม่เป็นคนขี้เกรงใจ และมีน้ำใจยอมให้ผู้อื่นเสมอ สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกส่งผ่านมายังลูก การที่พ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้สัญชาตญาณความรู้สึกภายในของตัวเองแสดงออกต่อสถานการณ์ต่าง ๆ หรือไม่เปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้การตัดสินใจรวมถึงผลของการตัดสินใจด้วยตัวเอง เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเป็นตัวตนของลูกด้วยเช่นกัน
จากสถานการณ์ที่เพื่อนมาเล่นที่บ้านแล้วอยากได้ของเล่นชิ้นโปรดของลูก พ่อแม่ควรเคารพต่อความรู้สึกของลูก และรอให้ลูกพร้อมที่จะแบ่งให้เพื่อน เพราะจะทำให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ความรู้สึก “ภายใน” ของตัวเอง ใช้สัญชาตญาณ และสร้างความมีตัวตนของตัวเองอย่างมั่นใจ
ทำไมคำว่า “ไม่” ถึงสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูและมารยาท ได้กล่าวว่า การมี “มารยาท” ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ จึงแนะนำการเลี้ยงลูกให้มีน้ำใจแต่มีความมั่นใจในตัวเองว่า สิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจต่อการแก้ปัญหานี้ของลูกคือ
“วิธีการสื่อสาร” เช่น การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และภาษากาย ดังนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะพูดคำว่า “ไม่” อย่างมีศิลปะ แต่เด็กปัจจุบันเริ่มเรียนรู้เรื่องนี้ได้ยากขึ้น เนื่องจากมีการสื่อสารกันในโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่การแสดงออกทางสีหน้าและน้ำเสียงขาดหายไป พ่อแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการสอนลูกให้รู้จักศิลปะของการพูดสื่อสาร รวมถึงให้เข้าใจบริบท หรือหน้าที่ของคำว่า “ไม่” เพื่อช่วยป้องกันพวกเขาจากบุคคลอันตราย หรือการกระทำที่นำไปสู่การถูกคุกคามต่าง ๆ ร่วมไปถึงการสอนให้ลูกยืนหยัด และมั่นใจกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่
การสอนลูกให้กล้าปฏิเสธ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ขอแบ่งวิธีการสอนลูกให้รู้จักการปฏิเสธออกเป็น 2 สถานการณ์หลัก ๆ คือ สถานการณ์ปกติ และสถานการณ์อันตราย ดังนี้
ปฏิเสธ – สถานการณ์ปกติ
คือ สถานการณ์ทั่วไปที่ลูกพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เพื่อนขอแบ่งของเล่นชิ้นโปรด ไม่อยากทำสิ่งต่างๆตามที่เพื่อนขอร้อง หรือไม่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นต้น ลูกสามารถพูดปฏิเสธเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง โดยพ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาได้ ดังนี้
เข้าใจสิทธิของตนเองและผู้อื่น
หากเป็นเด็กวัยหัดเดิน พ่อแม่สามารถเริ่มสอนให้ลูกรู้จักสิทธิของตัวเองและของผู้อื่น ผ่านการเล่นและการสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หากลูกจับสิ่งของในบ้านขึ้นมาสำรวจ พ่อแม่บอกลูกได้ว่า อันนี้ของแม่ แม่ขอคืน อันนี้ของพ่อ ขอคืน และอันนี้ของลูก ลูกเล่นได้ และเมื่อลูกเริ่มพูดคำว่า “ไม่” พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้รับการตอบสนองคำว่าไม่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่ลูกจะได้เริ่มเรียนรู้สิทธิของตัวเอง
เปิดรับความเห็นต่าง
บ้านควรเป็นพื้นที่ที่ให้ลูกได้เรียนรู้ ด้วยการรู้จักทบทวนตัวเองด้วยคำถามว่า “สบายใจหรือไม่ หากพ่อมแจะให้ทำในบางสิ่ง” เพื่อนำไปสู่ความสอดคล้องของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของลูกเอง เพราะการสื่อสารระดับนี้จะทำให้ลูกสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้อย่างตรงไปตรงมา และหากมีระดับของความร่วมมือในครอบครัวที่ไม่ได้เกิดจากการบีบบังคับ การติดสินบน หรือการข่มขู่ แน่นอนว่า ผลตอบแทนที่ได้ คือลูกจะไม่ถูกรังแก หรือกดดันจากโลกภายนอก รวมทั้งเพื่อน คนแปลกหน้า เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงานในอนาคต ในขณะเดียวกันลูกก็จะเข้าใจผู้อื่นด้วยเช่นกัน
การปฏิเสธไม่ใช่การตัดขาด
การปฏิเสธที่จะทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอะไรบางอย่าง ไม่ได้แปลว่าตัดขาด หรือเลิกคบกับเพื่อนหรือคนรอบตัว เน้นย้ำให้ลูกเข้าใจว่าเราสามารถเห็นต่างแต่เข้าใจกันได้ ด้วยการใช้ท่าที น้ำเสียง และสีหน้าที่เหมาะสม
การใช้เหตุผล และหนักแน่น
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่า หลังจากการปฏิเสธแล้ว ควรให้เหตุผลกับคู่สนทนาควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้เข้าใจเหตุผลและความรู้สึกของกันและกันมากขึ้น และบางครั้งการปฏิเสธครั้งเดียวอาจยังไม่เป็นผล เพราะอาจมีความพยายามโน้มน้าวจิตใจจากผู้อื่นอยู่บ่อยๆ หากลูกยังไม่พร้อมที่จะทำสิ่งนั้นหรือเข้าร่วมกิจกรรมอะไรบางอย่าง ก็ต้องใช้ความหนักแน่น และการแสดงจุดยืนของตัวเองอย่างเข้มแข็งต่อไป
สถานการณ์อันตราย
คือสถานการณ์ที่ลูกอาจถูกคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกชักชวนให้ทำเรื่องที่ผิดศีลธรรม พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมให้ลูก ดังนี้
พื้นที่ส่วนตัวของร่างกาย
พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักพื้นที่ส่วนตัวบนร่างกายของตัวเอง และสิ่งอันตรายภายนอกบ้านต่าง ๆ อาจเริ่มจากการอ่านหนังสือภาพให้ฟัง หรือรับชมจากสื่อต่าง ๆ เพื่อเตรียมพื้นฐานความเข้าใจให้ลูกรู้จักพื้นที่สงวน หรือพื้นที่ส่วนตัวของเขา จะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
อธิบายความยินยอม
ความยินยอม หมายถึง ยินยอมที่ตนจะปฏิบัติต่อผู้อื่น และรับการปฏิบัติจากผู้อื่นในทิศทางเดียวกัน ลูกสามารถได้รับอนุญาตให้ปฏิเสธต่อผู้อื่นเมื่อพูดถึงร่างกาย อารมณ์ หรือพื้นที่ส่วนตัว และในขณะเดียวกันลูกต้องยอมให้ผู้อื่นทำเช่นเดียวกันด้วย เมื่อมีคนบอกว่าไม่ ก็ควรเคารพการตัดสินใจของผู้อื่นเช่นกัน
จำลองสถานการณ์
เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสอนเพื่อให้เด็กเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้จริง คือ การสวมบทบาทสมมติ เมื่อลูกเจอสถานการณ์จริงจะได้รู้ว่าควรจะต้องปฏิบัติติตนอย่างไร ต้องพูดอย่างไร และด้วยท่าทีอย่างไร
ให้ทำตามสัญชาตญาณ
เปิดโอกาสให้ลูกปฏิเสธบุคคล กิจกรรม หรือสถานการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ ยิ่งลูกได้รับอนุญาตให้ทำตามสัญชาตญาณของตนเองได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสรับฟังสัญชาตญาณของตัวเองในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น
แน่นอนว่าเมื่อพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกปฏิเสธต่อบุคคล กิจกรรม หรือสถานการณ์ ที่ไม่พึงประสงค์ของเขาได้ ก็อาจทำให้เจอกับปัญหาสุดปวดหัว เมื่อลูกมักใช้คำว่า “ไม่” ทำลายสติ และอารมณ์ของพ่อแม่ในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เร่งรีบ แต่อยากให้พ่อแม่สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วดึงสติตัวเองกลับคืนมา เพื่อถามลูกกลับไปว่าเหตุผลคืออะไร เป็นการสร้างบทสนทนาที่เปิดกว้างกับลูก และหาทางออกร่วมกัน นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง และผู้อื่นมากขึ้น