เทคนิคสอนลูกให้คิดเป็น คิดบวก พ่อแม่ควรรู้
การที่จะ “สอนลูกให้คิดเป็น” ได้นั้น ก่อนอื่นพ่อแม่ก็ควรที่จะเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกได้ด้วยเช่นกัน…แล้วการคิดเป็นนี่มันคืออะไรกันล่ะ? ความเก่ง กล้า สามารถ ความเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาหลักแหลม อย่างนั้นหรือ? ไม่เลย นั่นไม่ใช่ความหมายของการ “คิดเป็น” เพราะการคิดเป็นนั้นเป็นเรื่องของทักษะการใช้ชีวิต การมีความคิดเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักการใช้เหตุผล มีวิจารญาณในการคิดและตัดสินใจ หรือรู้จักคิดก่อนทำ ซึ่งเมื่อคิดเป็นแล้ว ก็จะพัฒนาไปสู่การกระทำที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อไป ดังคำกล่าวที่ว่า “บุคคลใดที่จัดว่าเป็นคนมีคุณภาพ จะต้องเป็นคนที่ คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น” นั่นเอง
เทคนิคการสอน ลูกให้คิดเป็น
เทคนิคในการเลี้ยงลูกให้คิดเป็น สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยผ่านกระบวนการ “เล่น” เพราะการเล่นคือ การพัฒนาสมองของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นแบบไม่มีอุปกรณ์ อย่างการเล่นจ๊ะเอ๋ หรือการเล่นตัวต่อจิ๊กซอว์ เลโก้ ต่อบล็อก การอ่านและฟังนิทาน การเล่นบทบาทสมมุติ การวาดรูป การปั้นดิน การป่ายปีนขึ้นที่สูง ฯลฯ ทุก ๆ กิจกรรมล้วนนำมาซึ่งความสนุกสนาน และกระบวนการพัฒนาทักษะทางความคิดของลูกทั้งสิ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กที่ “คิดเป็น” ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เพราะ การคิดเป็น (Executive Function) เป็นกระบวนการพัฒนาของสมองส่วนหน้า หรือสมองในส่วนของการบริหารจัดการ การแยกแยะ วิเคราะห์ข้อมูล และประมวลผล ซึ่งการคิดเป็นจะประกอบไปด้วย 3 ประการหลัก ๆ คือ
ความยับยั้งชั่งใจ
คือ ความสามารถในการควบคุมความคิด และความต้องการของตนเองในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการรู้จัก “คิดก่อนทำ” นั่นเอง
ความจำเพื่อการนำไปใช้งาน
หมายถึง ความสามารถในการจดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ และพร้อมที่จะนำออกมาใช้ในกระบวนการทางความคิด การสื่อสาร และการตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
ความคิดที่ยืดหยุ่นได้
คือ การปรับความคิด การทำความเข้าใจ และความพร้อม ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
เทคนิคสอนลูกให้คิดบวก
วิธีสอนลูกให้คิดบวก มีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งสามารถจำแนกได้ ดังนี้ คือ
พร้อมที่จะยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น
การที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกเป็นคนคิดเป็นได้นั้น พ่อแม่ต้องพร้อมที่จะยอมรับในความเป็นตัวตัวเองของลูกเสียก่อน เพราะลูกทุกคนต้องการเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ ในแบบที่เขาเป็น ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะเปรียบเทียบเทียบลูกของตน กับลูกของคนอื่น หรือเปรียบเทียบลูกกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน เพราะนั่นอาจจะกลายเป็นการสร้างปมในใจของลูกโดยไม่รู้ตัว ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า นานวันเข้าอาจกลายเป็นเด็กเก็บกด หรือเด็กดื้อเงียบได้ในที่สุด
ให้เวลากับลูกเท่าที่เขาต้องการ
เพราะเวลาของพ่อแม่ที่มีให้กับลูกนั้น คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจของลูก และพ่อแม่ควรใช้ช่วงเวลาที่สำคัญเหล่านี้ให้กลายเป็น “เวลาแห่งคุณภาพชีวิต” ใกล้ชิดกับลูกให้มากที่สุด เช่น ทำความเข้าใจ อธิบายสิ่งต่างๆ หรือตั้งคำถาม เพื่อให้ลูกลองคิดหาคำตอบ
ทุกๆ กิจกรรมการเล่นของลูก คือการพัฒนา
เป็นการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จินตนาการ รวมถึงการพัฒนาทางด้านความคิดด้วยเช่นกัน วัยเด็กจึงเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ หรือวัยที่เรียนรู้จากการเล่น นั่นเอง
อย่าพยายามจับผิด
การที่พ่อแม่จะสอนลูกให้เป็นคนคิดบวกได้นั้น พ่อแม่เองก็จะต้องคิดบวกด้วยเช่นกัน กล่าวคือ พยายามมองลูกในแง่ดี มากกว่าที่จะพยายามมองหาข้อตำหนิในตัวของลูก เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ หวาดระแวง และกลายเป็นเด็กไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำสิ่งต่างๆ เพราะกลัวจะทำแล้วผิด กลัวจะถูกตำหนิ หรือถูกลงโทษ ซึ่งในที่สุดเด็กจะกลายเป็นคนเก็บตัว เก็บกด ไม่กล้าแสดงออก ปลีดตัวจากสังคม เข้ากลุ่มกับผู้อื่นได้ยาก
การลงโทษที่รุนแรง ไม่ใช่หนทางแห่งการพัฒนา
คำโบราณที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” อาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกสถานการณ์เสมอไป เพราะเทคโนโลยี ความรู้ และทักษะการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก การทำร้าย หรือการลงโทษที่รุนแรง โดยปราศจากการให้เหตุผล อาจสร้างปมปัญหาขึ้นในใจของลูก และส่งผลที่ตรงกันข้ามกับที่พ่อแม่คาดคิด ทั้งนี้เพราะการลงโทษที่รุนแรง ด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลจองพ่อแม่ จะทำให้ลูกกลายเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ กลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าว เก็บกด และชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลได้เช่นกัน
ความคิดที่ดีมักเริ่มต้นจากคำถามที่น่าสนใจ
พ่อแม่ไม่ควรแสดงอาการเบื่อหน่าย หรือรำคาญ เมื่อลูกน้อยกลายเป็นนักตั้งคำถาม ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ควรเป็นฝ่ายกระตุ้นให้ลูกรู้จักการตั้งคำถาม และหาคำตอบของสิ่งที่เขาสนใจ หรือสงสัยบ่อยๆ เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านความคิดของลูกได้เป็นอย่างดี
เรียนรู้จากผลของการกระทำ
พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและตัดสินใจด้วยตนเองในการทำสิ่งต่างๆ หรือที่เรียกว่า การลองผิดลองถูก เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้ผลของการกระทำนั้น ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวลูก มากกว่าการที่พ่อแม่ พยายามห้ามปราม ด้วยการบอกกับลูกว่า ห้ามทำสิ่งนั้น ไม่ให้ทำสิ่งนี้ อย่าทำนั่น ไม่ควรทำนี่ เป็นต้น
ฝึกวินัยในตัวลูกด้วยการใช้หลักการ Kind but firm
คือการที่พ่อแม่มีหลักการที่เข้มแข็ง และมั่นคงในความพยายามที่จะฝึกฝนให้ลูกมีระเบียบวินัย และรู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่หวั่นไหว ใจอ่อนกับปฏิกิริยากระเง้ากระงอด งอแง เอาแต่ใจของลูก เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ลูกเรียนรู้วิธีที่จะ “หลีกเลี่ยง” หน้าที่ หรือกฎ กติกา ที่พ่อแม่ตั้งไว้ เพื่อความเป็นระเยียบในครอบครัว นั่นเอง
เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกเสมอ ๆ
มีคำกล่าวที่ว่า ทุก ๆ พฤติกรรม หรือการกระทำของพ่อแม่ ที่แสดงออกให้ลูกเห็นนั้นจะกลายเป็นเบ้าหลอมให้ลูกเติบโตขึ้น ตามแบบอย่างที่เขาได้เห็น ดังนั้นหากพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นเด็กช่างเจรจา มีวาจาอ่อนหวาน ไม่ก้าวร้าว งอแงเอาแต่ใจ พ่อแม่ก็ควรจะทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วยเช่นกัน
พร้อมจะยอมรับในทุกอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของลูก
มนุษย์ทุกคนมีทั้งด้านดีและด้านร้าย อารมณ์ของเด็กๆ ก็เช่นกัน วันหนึ่งๆ เขาอาจมีอารมณ์ที่เปลี่ยนปลงไปนับสิบแบบ ซึ่งอาจมีทั้งดีและร้ายปะปนกัน นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นธรรมชาติของเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรทำ เมื่อเห็นพฤติกรรมเช่นนั้นของลูกก็คือ การยอมรับ ทำความเข้าใจ และสอนลูกให้รู้จักวิธีรับมือกับอารมณ์ของตนเองอย่างถูกต้อง นั่นเอง
เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนล้วนมีความปรารถนาที่จะได้เห็นลูกของตนเองเติบโต ก้าวหน้า และยั่งยืน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มิใช่สิ่งที่จะหาได้จากการเรียนเก่ง เรียนดี มีความรู้ตามตำราอีกต่อไป เพราะโลกที่เปิดกว้าง มีความรู้ที่หาได้จากทุกสารทิศ และไม่มีวันหมดเวลาที่จะเรียนรู้ ดังนั้นการ “เลี้ยงลูกให้คิดเป็น” จึงเป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นมากกว่าการเลี้ยงลูกให้เรียนเก่ง เพราะโลกในวันข้างหน้าย่อมมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งในด้านดี และไม่ดี ดังนั้นผู้ที่จะมีชีวิตอยู่รอดในวันข้างหน้าได้ จะต้องคิดเป็น มีความคิดที่ยืดหยุ่น และสามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตนเองได้ รวมถึงต้องรู้จักแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกจากกัน สามารถวิเคราะห์ ประมวลผล และลงมือกระทำสิ่งนั้นๆ ให้บรรลุผลสำเร็จได้ดังเป้าหมายที่วางไว้ด้วยเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- 5 วิธีสอนลูกให้คิดบวก