เมื่อลูกยังเป็นทารกอ้อแอ้ พ่อแม่อย่างเราก็เร่งวันเร่งคืนอยากให้ลูกพูดคุยสนทนาตอบโต้ได้ไว ๆ ลุ้นว่าเมื่อไหร่ลูกจะพูดคำแรกสักที แต่หลังจากลูกพูดได้แล้ว ในช่วงวัยประมาณ 2 ขวบเป็นต้นไป พ่อแม่หลายคนเริ่มเหนื่อยจะฟัง เพราะลูกพูดมาก พูดไม่หยุด พูดทั้งวัน ถามทั้งวัน และเรียกแม่ทั้งวันเช่นกัน แต่วันนี้ผู้เขียนจะชวนพูดถึงประเด็นที่ว่าอะไรทำให้เด็กคนหนึ่งพัฒนาทักษะการพูดได้ขนาดนี้ และส่งผลดีต่อลูกอย่างไรบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ
พัฒนาการด้านการพูดแต่ละช่วงวัย
ทารกเริ่มพัฒนาการทางด้านภาษาตั้งแต่เมื่อตอนอยู่ในครรภ์ พวกเขาเรียนรู้และจดจำภาษาด้วยการฟังหรือการได้ยินเป็นลำดับแรก โดยในแต่ละช่วงวัยทารกมีพัฒนาการด้านภาษา ดังนี้
วัย 1 เดือน
ทารกในวัยหนึ่งเดือนสามารถส่งเสียงร้อง เมื่อหิว ง่วง หรือรู้สึกไม่สบายตัว
วัย 2-3 เดือน
เริ่มทำเสียงอ้อแอ้ได้บ้างแล้ว คล้ายการเริ่มชวนพ่อแม่คุย
วัย 5-6 เดือน
เริ่มเล่นเสียง mama papa จนพ่อแม่เข้าใจได้ว่า ลูกเรียกพ่อแม่ได้แล้ว แต่ความจริงทารกส่งเสียงเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ ทั้งยังหัดเปล่งเสียงสูง เสียงต่ำ ได้บ้างแล้ว วัยนี้ทารกจะชอบเล่นน้ำลาย เป่าปาก ส่งเสียงจากลำคอ
วัย 9 เดือน
การสื่อสารเริ่มรู้เรื่องมากขึ้น เลียนแบบการเล่นเสียง หรือเริ่มพูดตาม พูดคำเดียวพอได้บ้าง
วัย 10 เดือน – 1 ปี
พูดคำที่มีความหมาย เช่น หม่ำ หรือชี้ไปทางแม่ แล้วเรียก แม่
วัย 1 ปี 6 เดือน
พูดคำ 1 พยางค์ได้มากขึ้น เริ่มพูดคำ 2 พยางค์ที่เอามารวมกัน สื่อสารสิ่งที่ต้องการได้ เวลาไม่ชอบ ไม่เอา ก็เอ่ยคำว่า ไม่ ออกมา
วัย 2 ปีขึ้นไป
ลูกในวัยนี้จะเริ่มพูดประโยคสั้น ๆ ได้ มีคำศัพท์มากขึ้นในการสื่อสาร บางครั้งเรียงรูปประโยคไม่ถูกต้องแต่สามารถสื่อสารความต้องการได้แล้ว หากลูกอายุ 2 ขวบแล้ว ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้ พูดได้แค่คำเดียว พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ข้อคิดที่น่าสนใจของพัฒนาการด้านการพูดของลูก
เมื่อลูกเรียนรู้และจดจำภาษาจากการชวนพูดคุยของพ่อแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มามากพอแล้ว ต่อไปจึงเป็นขั้นตอนของการสร้างภาษาเองซึ่งในขั้นตอนนี้จะนานกว่าขั้นตอนความเข้าใจภาษา เด็กบางคนสามารถพูดได้ไว บางคนพูดช้า เป็นเพราะอะไรกันนะ
การเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับทักษะภาษา
เด็กที่ได้รับโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวแขนขา และการทำงานของมืออย่างอิสระมากพอ จะส่งผลให้การสร้างรูปประโยค และการเปล่งเสียงมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กที่การเคลื่อนไหวน้อย ยังไม่สมดุล และมั่นคง ดังนั้นพ่อแม่สามารถสังเกตได้ว่าหากลูกมีความสมดุลของการเคลื่อนไหวร่างกายดี ทักษะด้านภาษาของลูกก็จะดีไปด้วย
ภาษาที่มีชีวิตเท่านั้นจะช่วยกระตุ้นการใช้ภาษาได้
ภาษาต้นแบบที่กระตุ้นให้ลูกเกิดการใช้ภาษาที่ดีต้องมาจากแหล่งกำเนิดที่มีชีวิต และสัมพันธ์กับเหตุการณ์ บริบททางอารมณ์ และความสัมพันธ์ของเหตุและผลในชีวิตของลูก เพื่อที่ซิแนปส์ (Synapse) ที่เชื่อมต่อกันระหว่างเซลล์ประสาทจะสามารถเก็บบันทึกความทรงจำของเด็กอย่างมีความหมาย ดังนั้น ภาษาจากหน้าจอต่าง ๆ จึงมากเกินไปสำหรับพัฒนาการทางภาษาของเด็กก่อนวัยเรียน พ่อแม่สามารถเป็นต้นแบบทางภาษาให้ลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ด้วยการชวนพูดคุย เล่าเรื่องราวการทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆระหว่างวันให้ลูกฟังอยู่เสมอขณะทำกิจกรรมนั้น ๆ
การเลี้ยงดูและพันธุกรรมส่งผลต่อการพูด
เด็กบางคนมีลักษณะของการเป็นคนช่างพูด หรือบางคนเป็นคนสงวนคำมาโดยธรรมชาติของเขา รวมถึงสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูที่บางครั้งพี่น้องทุกคนพูดเก่ง พูดมาก เด็กบางคนจึงเรียนรู้การเป็นผู้ฟัง ก็เป็นได้
ลูกพูดมาก มีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้มากกว่า เพราะอะไร?
พูดเก่งแสดงว่าสื่อสารได้ดี
การที่ลูกพูดเก่ง นอกจากจะแสดงถึงความพร้อมทางด้านการเคลื่อนไหวของร่างกายแล้ว ยังแสดงถึงความสามารถด้านการสื่อสารของลูก ซึ่งจะส่งผลดีในอนาคต เพราะเด็กที่มั่นใจในการเปล่งเสียงพูด ทำให้ได้ฝึกฝนการพูดบ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกกล้าพูดมากขึ้น ยิ่งถ้าได้เรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น เรียบเรียงประโยคได้เก่งขึ้น อาชีพมากมายก็รอลูกอยู่ในอนาคต
มีไหวพริบในการสื่อสาร
เด็กที่คุยเก่ง หรือได้ฝึกทักษะการพูดและอยู่ท่ามกลางกลุ่มสนทนาบ่อยๆนั้นจะทำให้รู้ว่า คนอื่นกำลังสื่อสารเรื่องอะไร รู้ว่าตัวเองต้องพูดอย่างไร และการสื่อสารแบบไหนที่ทำให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมทักษะการพูดให้ลูกไปอีกขั้น นำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ช่างซักถามคือการใฝ่รู้
เด็กในวัยที่กำลังเรียนรู้ มักอยากรู้อยากเห็น ช่างซักถาม ถ้าได้พูดคุยกับผู้ที่มีความรู้และเข้าใจธรรมชาติของเด็ก จะยิ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีและได้ความรู้มากขึ้นไปอีก พ่อแม่จึงควรพาลูกไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้โลกภายนอก และซักถามจากผู้เชี่ยวชาญที่มีเมตตาต่อเด็ก
ทักษะทางสังคมที่ดีกว่า
เด็กที่พูดเก่งมักจะเข้าสังคมเก่งไปด้วย เพราะชักชวนคนโน้นคนนี้พูดคุยตลอดเวลา มีความมั่นใจที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอ ทำให้มีเพื่อนใหม่ได้ไม่ยาก
กล้าแสดงความคิดเห็น
หากเด็กพูดมาก พูดเก่ง และได้รับการฝึกฝนกติกาการเข้าสังคมที่ถูกต้อง จะยิ่งทำให้เขากล้าคิด กล้าเสนอไอเดีย หรือแสดงออกด้านความคิดและจินตนาการออกมา ซึ่งพ่อแม่สามารถสังเกตและต่อยอดพรสวรรค์ของลูกได้
มีสมรรถนะทางด้านร่างกายดี
อย่างที่บอกแล้วว่า เมื่อร่างกายของลูกมีการเคลื่อนไหวที่สมดุลจะนำไปสู่ทักษะการสื่อสารที่ดีด้วย ดังนั้น ลูกพูดมาก พูดเก่ง แน่นอนว่าจะชอบว่ิงเล่น และเคลื่อนไหวร่างกายด้วยเช่นกัน หากพ่อแม่เข้าใจจุดนี้ก็จะทำให้การส่งเสริมทักษะของลูกเป็นไปอย่างเหมาะสม
มองสิ่งรอบตัวเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
การเชื่อมโยงโลกภายนอกกับร่างกายและจิตใจของลูกนั้นทำผ่านสื่อกลางทางภาษา เพราะฉะนั้นเด็กที่พูดมาก พูดเก่งก็จะมีลักษณะนิสัยที่ชอบสนใจสิ่งรอบตัว หากพ่อแม่เข้าใจความสัมพันธ์นี้จะทำให้พ่อแม่สนับสนุนลูกให้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งรอบตัว พาไปท่องเที่ยวนอกสถานที่ และชักชวนพูดคุยถึงสิ่งที่ลูกพบเจอภายนอก เพื่อนำไปสู่การขยายการรับรู้ของลูกให้กว้างขึ้น
ทักษะการสื่อสาร และทักษะด้านภาษา มีความเชื่อมโยงจากฐานร่างกายที่สมดุล แข็งแรง และมั่นคง ดังนั้นในวัยที่ลูกหัดเดินพ่อแม่สามารถส่งเสริมและสังเกตพัฒนาการของลูกได้ เพราะจะนำไปสู่การส่งเสริมให้ลูกพูดมาก พูดเก่งด้วยเช่นกัน แต่พ่อแม่ควรฝึกฝนให้ลูกรู้กติการการเข้าสังคมอย่างถูกต้องควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ความฉลาด และความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในอนาคตได้นั่นเองค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- ลูกพูดติดอ่าง พ่อแม่ควรทำอย่างไร?
- ลูกชอบพูดซ้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ ผิดปกติหรือเปล่า