นิทานมีผลดีต่อพัฒนาการของลูกด้านใดบ้าง?
ปัจจุบันถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูของหนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กเลยก็ว่าได้ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเริ่มให้ความสำคัญกับการอ่านนิทานให้ลูกฟังแทบจะตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ เพราะงานวิจัย หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่กุมารแพทย์เองก็แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่จัดสรรเวลานิทานกับลูกอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เรื่อยไปกว่า 10 ปีของอายุลูก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้เราได้รวบรวมเหตุผล วิธีการเล่านิทานรูปแบบต่าง ๆ และเทคนิคการเล่านิทานเพื่อสนับสนุนจิตนาการของลูกอย่างแท้จริงมาแนะนำค่ะ
รูปแบบการเล่านิทาน
การเล่านิทานไม่จำเป็นต้องใช้การเปิดหนังสือนิทานอ่านให้ลูกฟังเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวิธีการเล่านิทานรูปแบบอื่น ๆ อีกที่สามารถส่งเสริมจินตนาการของลูกได้ เช่น
นิทานหุ่น
นิทานหุ่นกระบอก หุ่นชักใย หรือหุ่นนิ้วมือ คุณพ่อคุณแม่สามารถประดิษฐ์ด้วยตัวเอง แล้วแบ่งหน้าที่กันโดยคนหนึ่งอ่านเนื้อเรื่อง อีกคนเป็นคนเชิด นิทานลักษณะนี้สามารถช่วยสร้างความสงบ และการเยียวยาให้กับลูกได้เป็นอย่างดี เพื่อนำไปสู่กิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ
นิทานปั้น
นิทานปั้น คือการชวนลูกปั้นตัวละครตามจินตนาการที่อิสระด้วยดินน้ำมัน หรือขี้ผึ้ง แล้วคุณพ่อคุณแม่นำมาจัดวางบนโต๊ะร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเล่าให้ลูกฟัง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านภาษาของลูกได้ในลำดับต่อไป เพราะเมื่อเด็กเห็นตัวอย่าง ก็จะอยากปั้นและเล่าด้วยตัวเองบ้าง อีกทั้งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงอีกด้วย
นิทานผ่านการเคลื่อนไหว
นิทานแบบนี้ อาจต้องใช้พื้นที่สักหน่อย เพราะต้องมีการทำท่าทางประกอบการเล่าให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง หรือเรียกว่า Body Percussion นิทานรูปแบบนี้เหมาะกับการเรียกสมาธิ และดึงความสนใจลูกจากสิ่งอื่นๆ เพื่อให้ลูกพร้อมที่จะเริ่มกิจกรรมต่อไป
นิทานเงา
นิทานเงา เป็นการเล่นกับแสงและเงา สร้างจินตนาการได้อย่างมาก เพราะเงาที่เกิดขึ้นมีเพียงโครงร่าง พร่ามัว ไม่ชัดเจน และเนื้อหานิทาน ทำให้ลูกไม่ถูกตีกรอบภาพของตัวละครที่ชัดเจนเกินไป
ประโยชน์ของนิทานสำหรับเด็กเล็ก
นิทานสำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ 0-7 ขวบ สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกในด้านต่าง ๆ ดังนี้
พัฒนาการทางด้านร่างกาย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการเล่านิทาน เช่น นิทานปั้นที่ลูกได้ปั้นตัวละครเอง ส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็ก นิทานผ่านการเคลื่อนไหว ที่เมื่อคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานพร้อมทำท่าประกอบ แล้วลูกทำตาม สามารถส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ต่างๆของลูก เป็นต้น
พัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจ
ขณะที่ลูกฟังนิทาน ลูกจะมีความสนุก เพลิดเพลิน มีความสงบ สุขุม เยือกเย็น และทำให้มีสมาธิหรือขยายความสนใจได้ยาวนานขึ้น จากความตั้งใจในกิจกรรมการเล่านิทาน นำไปสู่การคิดจินตนาการ มีความกล้าแสดงออก ส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และคุณพ่อคุณแม่ ได้มีเวลาคุณภาพกับลูกอย่างแท้จริง นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
พัฒนาการทางด้านสังคม
เนื้อหาในนิทานจะช่วยทำให้ลูกสามารถเชื่อมโยงความเข้าใจกับคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมอื่นๆรอบตัวของลูกได้ เช่น ประเภทนิทานเทพนิยาย จะช่วยพัฒนาจิตสำนึกความเป็นปัจเจกของคนและตัวละครทุกตัวเป็นด้านหนึ่งของชีวิตจึงสะท้อนออกมาให้ลูกรับรู้ นิทานสุภาษิตจะพูดถึงลักษณะของคนที่เกินจริงและมีแนวโน้มที่จะอยู่ในรูปของสัตว์เพื่อแสดงบทเรียนทางจริยธรรม
พัฒนาการทางด้านสติปัญญา
นิทานช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญาขอลูกได้อย่างมาก เช่น การฟังนิทานจะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษา การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน การจดจำคำศัพท์ที่มีในนิทานเป็นการขยายประสบการณ์ของลูกให้กว้างขวางมากขึ้น นักจิตวิทยาทางด้านพัฒนาการ กล่าวว่า “พัฒนาการของจินตนาการในกระบวนการคิดนั้นเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการในวัยเด็ก ซึ่งสัมพันธ์กับรูปแบบในการเล่น การสร้างสรรค์ และอาจนำไปสู่การประสบความสำเร็จในอนาคต”
เทคนิคการเล่านิทานที่พ่อแม่ควรรู้
ใช้น้ำเสียงราบเรียบในการเล่า
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านยังมีความเข้าใจผิดในการใช้นำเสียงเล่านิทาน มักดัดเสียงตามลักษณะของตัวละคร เปลี่ยนเสียงไปมา จริง ๆ แล้ว ควรใช้น้ำเสียงสม่ำเสมอราบเรียบ เพื่อปล่อยให้เนื้อเรื่องของนิทานทำงานกับความเข้าใจ และจินตนาการของลูกได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกอิทธิพลจากจินตนาการของคุณพ่อคุณแม่
นิทานควรมีเนื้อเรื่องที่สมดุล
การเลือกเนื้อเรื่องนิทานที่สมดุลจะเป็นการช่วยตอกย้ำคุณธรรม จริยธรรมในใจลูกที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เช่น คนดีต้องชนะคนร้าย เมื่อลำบากก็จะได้สุขสบายตอนจบ แม่มดสุดท้ายถูกลงโทษ เป็นต้น
ละนิทานที่ส่งผลลบต่อความรู้สึก
มีนิทานหลายเรื่องที่ดี แต่หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจที่จะเล่าเรื่องนั้น เช่น หมาป่าใจร้ายถูกผ่าท้อง แม่มดถูกลงโทษโดยสวมร้องเท้าไฟ ร้องเจ็บปวด เนื้อหานิทานลักษณะนี้คุณพ่อคุณแม่บางท่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่รุนแรง ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องฝืนความรู้สึกเพื่อเล่าให้ลูกฟัง เพราะจะเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกไม่สบายใจไปให้ลูกด้วยเช่นกัน
เลือกเล่าเพียงเรื่องเดียว
ในเด็กเล็ก เมื่อฟังนิทานซ้ำ ๆ จะรู้สึกปลอดภัยที่สามารถจดจำ และคาดเดาเนื้อเรื่องตอนต่อไปได้ และจะนำความจำเหล่านี้ไปฉายภาพซ้ำวนไปมาหลายครั้งในจินตนาการของเขาผ่านการเล่น หรือช่วงนอนหลับ เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น ดังนั้น ก่อนนอนคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่านิทานเพียง 1-2 เล่มแล้วเข้านอนได้ค่ะ
ไม่ต้องสรุปตอนจบ
เมื่อเล่านิทานจบ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสรุปเนื้อเรื่องอีกครั้ง หรือ ไม่ควรบอกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…….” หรือพยายามจะสอดแทรกการสอนอะไรสักอย่าง เพราะจะทำให้ลูกหลุดจากความเพลิดเพลินของจินตนาการอย่างเป็นอิสระของเขาได้
จังหวะการเล่าที่สม่ำเสมอ
เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ควรเล่านิทานไม่ควรเร่งเร้าจังหวะให้ตื่นเต้น หรือเนิบช้าจนลูกหลุดความสนใจ แต่ให้รักษาจังหวะที่สม่ำเสมอเหมือนลมหายใจเข้า-ออก เพื่อลูกจะได้รับบรรยากาศที่สงบ เย็น และทำงานกับจินตนาการของตนเองได้อย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะเล่านิทานด้วยวิธีการใดก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ความสม่ำเสมอ ทำเป็นเวลา เช่น ก่อนนอน ก่อนกิจกรรมศิลปะ เป็นต้น และทำซ้ำ โดยการเล่านิทานเรื่องเดิม ซ้ำบ่อย ๆ (หรือที่เรียกว่า เวลาคุณภาพนั่นเองค่ะ)เป็นการส่งสัญญาณว่าจะเริ่มกิจกรรมต่อไป หรือเล่าเพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์รอบตัวของลูก เช่น วันคริสมาส เล่าเรื่องการมาของพระเยซู วันพืชมงคล เล่านิทานเรื่องต้นข้าวน้อย เป็นต้น จึงทำให้ลูกเกิดการพัฒนาทักษะด้านภาษา การสื่อสาร พัฒนาด้านอารมณ์จิตใจ สติปัญญา และสังคมโดยการเชื่อมโยงตนเองออกสู่โลกภายนอกได้ดีขึ้นค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- อ่านนิทานให้ลูกฟัง ประโยชน์ที่ได้รับ เริ่มเมื่อไหร่ดี?
- 10 หนังสือนิทาน ที่ได้รางวัลกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับเด็กวัย 3 เดือน – 6 ปี
- 13 หนังสือนิทานอีสป 2 ภาษา ปลูกฝังทั้งคุณธรรม ทั้งภาษา