ลูกชอบกรี๊ดเพราะอะไร? พร้อมวิธีรับมือด้วยความเข้าใจ

ลูกชอบกรี๊ดเพราะอะไร พร้อมวิธีรับมือด้วยความเข้าใจ-01
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 09 09

แม้พฤติกรรมชอบกรี๊ดของเด็ก ๆ จะเป็นเรื่องปกติสามัญ ที่เกิดขึ้นได้กับเด็กในวัย 3 – 5 ขวบ แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าคุณพ่อคุณแม่ พี่เลี้ยง หรือผู้ดูแลเด็ก สามารถที่จะหาวิธีรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม แทนที่จะมองข้าม หรือปล่อยปละละเลยให้ผ่านไปวัน ๆ…

พัฒนาการด้านอารมณ์ เด็กวัย 3 – 5 ปี

ไม่ใช่แค่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้น แต่ผู้ใหญ่หลายคน ก็คงเคยเจอกับสถานการณ์เด็กชอบกรี๊ด บ้างก็ร้องโวยวายในที่สาธารณะ หนักข้อหน่อยก็ถึงกับลงไปชักดิ้นชักงอกับพื้นกันเลยก็มี ซึ่งบางคนอาจสงสัย และคาดคะเนกันไปต่าง ๆ นานา ถึงสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ บ้างก็มองว่าเป็นเด็กก้าวร้าว เอาแต่ใจ บ้างก็ว่าเป็นเพราะผลจากการเลี้ยงดู แต่ในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเด็กวัย 3 – 5 ปี (บางครั้งถูกเรียกว่า เด็กวัยกรี๊ด หรือวัยต่อต้าน) และยังเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนของการเจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กปฐมวัย ที่กำลังจะก้าวไปสู่วัยแห่งความเข้าใจ และการรู้จักใช้เหตุผล ในการดำเนินชีวิตต่อไป นั่นเอง

สำหรับพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กในวัย 3 – 5 ปีนั้น เด็ก ๆ จะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น บางครั้งก็มีพฤติกรรมอยากรู้ อยากเห็น ชอบจินตนาการ แถมยังช่างสงสัย ช่างซักช่างถาม ชอบที่จะเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ชอบให้คนชม ชอบเรียกร้องความสนใจ อยากเป็นคนสำคัญ ชอบการเลียนแบบ นอกจากนี้เด็กในวัย 2 – 4 ปียังมักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเปิดเผย และตรงไปตรงมาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กเข้าสู่วัย 5 ปี การแสดงออกของพฤติกรรม และการใช้อารมณ์อย่างขาดเหตุผล รวมถึงความเอาแต่ใจตนเองของเด็ก ๆ จะค่อย ๆ ลดน้อยลงตามลำดับ เด็ก ๆ จะเรียนรู้ถึงการปรับตัว และเข้าใจเรื่องเหตุผล และความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ชอบที่จะทำตามคำบอกของผู้ใหญ่ เพื่อที่จะให้ตนเองเป็นที่รัก และได้รับคำชื่นชม เป็นต้น

สาเหตุลูกชอบกรี๊ด

สาเหตุที่ทำให้ลูกชอบกรี๊ด มีดังนี้

ปรับตัวไม่ทันกับการเจริญเติบโต

เช่น อยากทำบางอย่างแต่ทำไม่ได้ จึงรู้สึกอึดอัด ขัดใจไปหมด ไม่รู้จะบอก หรืออธิบายอย่างไร ก็เลยแสดงออกด้วยวิธีกรี๊ด

ข้อจำกัดเรื่องภาษา

เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถใช้ภาษาพูด ภาษาเขียน ในการสื่อสารได้ดีเท่าเด็กโต หรือวัยผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้การส่งเสียงร้อง การกรี๊ด การแสดงอารมณ์ คือพื้นฐานขั้นแรกที่เด็กๆ สามารถแสดงออกทางร่างกาย เมื่อต้องการสื่อสารให้ผู้ใหญ่เข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการ (หรือไม่ต้องการ) แทนการใช้คำพูด นั่นเอง

อยากได้รับความสนใจ

เด็กในวัยนี้จะชอบเรียกร้องความสนใจ ชอบให้คนเอาใจใส่ ชื่นชม หรือเห็นความสำคัญของพวกเขาเสมอ ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ อยากเป็นคนสำคัญอยู่ตลอดเวลา นั่นเอง

รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว

โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ฯลฯ เด็กในวัยนี้จะยังไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้มากนัก เช่น เมื่อปวดอุจจาระ ปัสสาวะ เด็ก ๆ จะรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว อยากบอกผู้ใหญ่ หรือใครสักคน แต่ไม่รู้ว่าควรจะพูดอย่างไร ก็ได้แต่ส่งเสียงร้อง เพื่อให้คนหันมาสนใจ เป็นต้น  ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ พี่เลี้ยง หรือคนใกล้ชิดจำเป็นต้องบอกเหตุผล และสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เปิดโอกาสให้เขากล้าที่จะพูด และบอกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้อย่างตรงไปตรงมา เด็ก ๆ จะเข้าใจเหตุผล และไม่กลัวที่จะบอกความจริงกับผู้ใหญ่

มีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่

เช่น เด็กเห็นการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ก้าวร้าว ดุดัน ของผู้ใหญ่เวลาทะเลาะกัน เมื่อเห็นบ่อยเข้าก็จะเกิดการจดจำ และทำตาม ดังนั้นผู้ใหญ่จึงไม่ควรแสดงตัวอย่างให้เด็กเห็น อีกทั้งยังควรอธิบาย ทำความเข้าใจกับเด็ก ๆ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ อ่อนโยน และใจเย็น บอกให้พวกเขาเข้าใจถึงสิ่งที่ควร หรือไม่ควรกระทำ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังควรมีการตั้งกติกาที่ชัดเจน เพื่อให้เด็กได้ใช้เป็นบรรทัดฐาน ในการแสดงออกของพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไปอีกด้วย

สาเหตุที่อยู่นอกเหนือกฎของธรรมชาติ

ยกตัวอย่างกรณีที่เด็กเจ็บป่วย มีโรคประจำตัว รวมถึงการใช้ยาบางชนิด ที่มีผลกระทบต่อฮอร์โมน และการควบคุมอารมณ์ของเด็ก เป็นต้น

วิธีรับมือลูกชอบกรี๊ด

วิธีรับมือลูกกรี๊ด-01

เข้าใจความต้องการของเด็ก

ความเข้าใจคือพื้นฐานแรก ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านจำเป็นจะต้องมี ทั้งนี้เพราะเด็กในวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองทุกท่านควรมีเวลาที่จะเอาใจใส่เด็กในวัยนี้ให้มาก ๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการ ที่จะนำพวกเขาไปสู่ช่วงวัยแห่งเหตุผลต่อไป

ควบคุมสถานการณ์

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองทุกท่าน ควรจะควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้เสียก่อน พยายามตั้งสติ และใจเย็น หาจังหวะและเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยกับเด็กๆ บอกให้เขาเข้าใจถึงความปรารถนาดี อธิบายเหตุ และผลอย่างอ่อนโยน หลีกเลี่ยงแสดงการแสดงอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ดุดัน ด้วยการดุด่าว่ากล่าว หรือทุบตี หรือแม้กระทั่งการเพิกเฉย ไม่สนใจไยดี เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยิ่งจะทำให้เด็กรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่เข้าใจ เกิดความรู้สึกที่แย่ลงกว่าเดิม จนถึงขั้นอาจเกิดพฤติกรรมการต่อต้านขึ้นได้ ในที่สุด

รู้จักวิธีการ (ในการรับมือ)

การรับมือกับเด็กชอบกรี๊ดนั้น แตกต่างกันออกไปตามช่วงวัยของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ในเด็กที่ยังเล็กมากๆ การอธิบายด้วยเหตุผลอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะเด็กในวัยนี้ยังมีทักษะทางภาษาและการสื่อสารน้อยมาก เด็กๆ จะยังไม่เข้าใจในเรื่องของเหตุผล ดังนั้นวิธีที่ดีคือ เบี่ยงเบนความสนใจ พาเขาออกไปจากสถานการณ์อันตึงเครียดนั้น กระทั่งเมื่อเด็กหยุดร้อง และหันไปสนใจสิ่งอื่นแทน คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง จึงค่อยหันกลับมาพูดคุยทำความเข้าใจกับเด็ก ถึงความต้องการต่างๆ ที่ทำให้ต้องส่งเสียงร้องออกมาเช่นนั้น เป็นต้น

เรียนรู้กฎเกณฑ์

การลดทอนพฤติกรรมการชอบกรี๊ดของเด็กๆ ในช่วงวัยนี้สามารถทำได้โดยการพาเขาออกไปสู่สถานการณ์ใหม่ๆ เช่น การพบปะกับเพื่อนเด็กๆ ในวัยเดียวกัน การทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว ระหว่างคุณพ่อคุณแม่ และตัวเด็กเอง เพื่อให้เขาได้รับการเรียนรู้ในเรื่องของกฎเกณฑ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ รวมไปถึงการรู้จักที่จะทำตามกฎ กติกาของสังคมด้วยเช่นกัน

รู้ทันความต้องการของตนเอง

การทำความรู้จักกับตนเอง เข้าใจตนเอง คือเรื่องสำคัญที่เด็กๆ ควรเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลต่อไปในอนาคต นั่นเอง  ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถที่จะสอนหรืออธิบายให้เด็กรู้เท่าทันตัวเองได้โดยผ่านสื่อต่างๆ ที่เด็กชอบ และสนใจ เช่น นิทาน การ์ตูน ภาพยนต์(ที่เหมาะสำหรับเด็ก) ซึ่งขณะที่เด็กทำกิจกรรมเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองควรอยู่ข้างๆ เพื่อที่จะได้อธิบายสอดแทรกให้เด็กๆ เข้าใจว่า พฤติกรรมแบบไหนของตัวละคร(หรือตัวการ์ตูน) ที่ควรทำ และแบบไหนที่ไม่ควรทำ เพราะอะไร เป็นต้น

การที่ลูกชอบกรี๊ด ตะโกนส่งเสียงดัง ร้องโวยวาย เอาแต่ใจ หรือมีพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างรุนแรง อาทิ การขว้างปาข้าวของ กระทืบเท้าปึงปัง ลงไปนอนดิ้นกับพื้น ฯลฯ  พฤติกรรมบางส่วนถือเป็นเรื่องปกติ ที่มักเกิดขึ้นกับเด็กในวัย 3 ขวบ เนื่องจากพัฒนาการทางสมองของเด็กในวัยนี้ จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การแสดงออกตามสัญชาติญาณ ไปสู่การแสดงออกทางอารมณ์ และความรู้สึก กระทั่งเมื่อเข้าขวบปีที่ 4 เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้ และเข้าใจเหตุผลมากขึ้น จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ถูกต้อง และเหมาะสมได้ด้วยตัวเอง ตามลำดับขั้นพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย แต่ถึงกระนั้น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง พี่เลี้ยง หรือผู้อยู่ใกล้ชิดก็ควรทำความเข้าใจกับเด็ก ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และบอกให้เขารู้ว่าพ่อแม่ (หรือผู้ดูแล) คาดหวังจะให้เขาแสดงความต้องการของตนเองด้วยวิธีใด ซึ่งแน่นอนว่า การตามใจยอมให้เด็กได้ทุกอย่างที่เขาต้องการในเวลาที่พวกเขากรี๊ดร้อง หรือแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดออกมา ย่อมไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะแทนที่เด็กจะเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ได้ กลับกลายจะติดเป็นนิสัย เพราะเข้าใจไปว่า ถ้าทำแบบนี้แล้ว ก็จะได้ทุกอย่างตามที่ตนเองต้องการ เป็นต้น

โปรดจำไว้เสมอว่า อารมณ์ที่กราดเกรี้ยว การดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรง รวมถึงการทุบตี นอกจากจะไม่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์ และนำไปสู่ความเข้าใจในเหตุผลได้แล้ว ยังจะเป็นการสร้างความกดดันให้เด็กอีกด้วย เด็กๆ จะเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงออก จนอาจกลายเป็นเด็กเก็บกด เงียบขรึม ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ยาก หรือในทางตรงข้าม อาจกลายเป็นเด็กก้าวร้าว มีอารมร์รุนแรง และขาดความเข้าใจในเหตุผลได้ในที่สุด

ดังนั้นแล้ว ผู้ใหญ่ หรือคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองทุกท่าน จึงควรอย่างยิ่ง ที่จะทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อย่างมีสติ และใจเย็นที่สุด เพื่อลูกน้อยของท่านเองจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และมีคุณภาพในที่สุด


waayu

329,408 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save