Site icon simplymommynote

ลูกชอบขยี้ตา เอามือถูหน้าตัวเอง เพราะอะไร อันตรายไหม

ลูกชอบขยี้ตา เอามือถูหน้าตัวเอง เพราะอะไร อันตรายไหม

มือน้อย ๆ ของลูกที่แสนจะน่ารัก มักปัดป่ายไปมาอยู่เสมอ เหมือนพยายามหาแขนขาของตัวเองกลางอากาศ แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่ามือน้อย ๆ ที่ปัดป่าย หรือว่าลูกชอบขยี้ตา ถูหน้าตัวเองนั้น เป็นสัญญาณบอกบางสิ่งบางอย่างได้ ถ้าเป็นคุณตาคุณยายเห็นหลานขยี้ตาก็จะบอกว่าหลานง่วงนอนแล้วให้พาเข้านอนซะ แต่ความจริงจากการที่ลูกชอบขยี้ตานั้นเป็นเพราะอะไร แบบไหนควรกังวล หรือจะรับมืออย่างไร วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันค่ะ

ลูกชอบขยี้ตา เป็นเพราะอะไร?

การขยี้ตาของเด็กทารกเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องสังเกต เพราะเกิดได้หลายสาเหตุ ดังนี้

ง่วงนอน

เมื่อทารกง่วงนอน มักขยี้ตาไปด้วยและหาวไปด้วย เพราะการขยี้ตาเป็นเหมือนการนวดผ่อนคลายที่จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อตาและเปลือกตาหายล้า เมื่อทารกขยี้ตาก็จะรู้สึกดีขึ้น จึงมักขยี้ตาบ่อย ๆ

ตาแห้ง

บางครั้งทารกมักจ้องมองอะไรนาน ๆ ด้วยความสนใจโดยไม่กระพริบตา ส่งผลให้ลมเข้าตาจนแห้ง เพราะดวงตาจะมีเยื่อและน้ำหล่อเลี้ยงใส ๆ คอยหล่อเลี้ยงอยู่ ถ้าลืมตาและตาโดนอากาศนาน ๆ น้ำหล่อเลี้ยงก็จะระเหย การขยี้ตาของทารกจึงช่วยให้น้ำตาไหลออกมาเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาได้

มีความสงสัยใคร่รู้

ทารกเป็นวัยที่มีความสงสัยใคร่รู้ และเป็นช่วงของการพัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้อยากจับนู่นสัมผัสนี่ไปหมด บางทีเขาอาจอยากสำรวจลักษณะของดวงตาโดยการเอานิ้วมือถูและขยี้ไปมา หรือสังเกตเห็นว่าเมื่อหลับตาและขยี้ตาแล้วเห็นแสงไฟและลวดลายที่ด้านในของเปลือกตา จึงลองซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อทดลองสิ่งที่เห็นก็เป็นได้

มีบางอย่างเข้าตา

อาจมีอะไรบางอย่างมาทำให้เกิดการระคายเคืองตา ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นผง ขนตา หรือขี้ตา ถ้าลูกขยี้ตาจนบวมแดงและร้องไห้ เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่อาจนำผ้าอ้อมสะอาดชุบน้ำเช็ดบริเวณใบหน้าลูก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งใดระคายเคืองอีก หรือหากมีฝุ่นติดอยู่ในดวงตาให้ใช้สำลีจุ่มน้ำเย็นแล้วค่อย ๆ บีบให้น้ำไหลลงไปในตาของลูก เพื่อที่ฝุ่นผงจะได้หลุดออกมา แต่ห้ามนำสำลีอันเดิมมาเช็ดดวงตาอีกข้างเป็นอันขาด ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์

มีอาการแพ้หรือการติดเชื้อ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกขยี้ตาคือ เกิดจากการแพ้หรือการติดเชื้อ ที่อาจเกิดขึ้นเองจากความเจ็บป่วยหรืออาการคัน ซึ่งอาจรวมถึงอาการตาบวมแดง มีน้ำมูกหรือร้องไห้งอแง ในกรณีเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการตาติดเชื้อหรือภูมิแพ้ของลูกอย่างถูกต้อง

ลูกชอบขยี้ตา อันตรายไหม?

หากอาการขยี้ตาของลูกทำไปเพราะง่วงนอนก็คงไม่เป็นอันตรายกับลูกแต่อย่างใด แต่หากลูกขยี้ตาบ่อยและแรงเกินไป อาจนำไปสู่การเกิดความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ ได้ค่ะ

เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เพราะทารกอยู่ในวัยแบเบาะ คุณพ่อคุณแม่บางท่านสวมใส่ถุงมือให้ลูก ถุงมือนั้นอาจโดนน้ำลายบ้าง ฝุ่นละอองบ้าง สัมผัสจากผู้อื่นบ้าง  หรือหากไม่สวมใส่ถุงมือแต่ทารกอยู่ในวัยสนใจสิ่งรอบตัวการที่มือ หรือถุงมือไปสัมผัสสิ่งต่าง ๆ แล้วมาขยี้ตาสามารถเพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียจะส่งผ่านไปที่ดวงตา และเกิดการติดเชื้อได้

ทำให้สายตาแย่ลงในระยะยาว

การขยี้ตาอย่างต่อเนื่องจะทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาบางลงทำให้สายตาแย่ลงในระยะยาวได้ แม้ว่าผลกระทบอาจไม่เกิดขึ้นทันทีเหมือนการติดเชื้อ แต่ลูกของคุณมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสายตาสั้นได้ในอนาคต

อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ

การขยี้ตาแรง ๆ ขณะที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่นัยน์ตา จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการถลอกที่กระจกตาซึ่งอาจเจ็บปวด และใช้เวลานานกว่าจะหายได้

ลูกชอบขยี้ตาควรทำอย่างไร?

การขยี้ตาบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดบาดแผลทั้งในดวงตาและผิวหน้ารอบดวงตาจากการขีดขวนของเล็บได้ เพื่อลดการบาดเจ็บและรอยขีดข่วนที่ดวงตา คุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดย เมื่อเห็นลูกขยี้ตา อาจจับมือลูกเพื่อขัดจังหวะและหาของเล่นมาเบี่ยงเบนความสนใจของลูกแทน พร้อมกับให้สังเกตที่นับน์ตาของลูกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ ในกรณีเป็นทารกคุณแม่ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพราะทารกเล็บยาวไวมากและอาจขีดข่วนเกิดบาดแผลได้โดยไม่ตั้งใจค่ะ

ลูกชอบขยี้ตาแบบไหนควรกังวล

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าการที่ลูกขยี้ตานั้น ไม่ใช่เพราะเรื่องของการง่วงนอน หรือปวดฟัน ให้นัดตรวจกับกุมารแพทย์เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น สัญญาณใด ๆ ของปัญหาการมองเห็นในเด็กก็ควรได้รับการตรวจเช็ค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากอายุ 6 เดือน สาเหตุส่วนใหญ่ที่ลูกของคุณอาจขยี้ตานั้นค่อนข้างไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เขา รู้สึกไม่สบายทางร่างกาย  จึงควรช่วยลูกโดยการตรวจสอบหาสาเหตุที่เป็นไปได้ ทดลองใช้วิธีแก้ปัญหา และพบกุมารแพทย์หากจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอย่างตรงจุดค่ะ

จากนี้ เมื่อเห็นลูกขยี้ตาก็ไม่ใช่เรื่องของการง่วงนอนเพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการของลูกทุกครั้งที่ขยี้ตา เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะการขยี้ตาของลูกแต่ละครั้งสามารถส่งผลกระทบต่อกระจกตาของลูกในระยะยาวได้ด้วยนั่นเอง

Exit mobile version