สอนลูกอย่างไรให้เคารพผู้ใหญ่ ใครเห็น ใครก็รัก
ความแตกต่างในเรื่องประสบการณ์ระหว่างวัย ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่ และเด็กเป็นอันมาก ในขณะที่ความก้าวหน้าของสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีที่มีมาอย่างไม่จำกัด เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก โลก 2 ใบที่รู้สึกเหมือนจะเดินขนานกันไป เด็กก็อยู่แต่กับหน้าจอไม่เข้าหาผู้ใหญ่ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ เด็กแสดงออกถึงความก้าวร้าวต่อผู้ใหญ่มากขึ้น จนบางคนดูเหมือนจะขาดเรื่องสัมมาคารวะไป คุณพ่อคุณแม่อาจจะเจอกับคำถามที่ว่า จะสอนลูกอย่างไรให้เคารพผู้ใหญ่ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
วิธีสอนลูกให้คารพผู้ใหญ่
วิธีสอนลูกให้เคารพผู้ใหญ่นั้น ต้องอาศัยหลายๆ ฝ่ายร่วมมือกัน จริงอยู่หน้าที่หลักคือเป็นของคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็มีส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้เลี้ยงดู (ที่ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่) ครู และอาจารย์ โดยมีวิธีการสอนลูก ดังนี้
เป็นต้นแบบที่ดี
คุณพ่อคุณแม่ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องควรเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก โดยเฉพาะการแสดงความเคารพนบนอบ และการแสดงความเอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยกว่า ไม่ใช่แค่เพียงพี่ ป้า น้า อา หรือปู่ย่า ตายาย ของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้อาวุโสอื่นๆ อีกด้วย
ให้เวลากับเด็กอย่างเพียงพอ
การมีเวลาให้เด็กได้ใกล้ชิด หรือมีเวลาคุณภาพร่วมกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันภายในครอบครัว จะช่วยสานสัมพันธภาพ และความอบอุ่นในครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยอาจจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว เพื่อให้เด็กได้ทำความคุ้นเคย ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ หรือผู้อาวุโสวัยกว่า และเรียนรู้ที่จะเคารพ ให้เกียรติ และแสดงความเอื้ออาทรกับบุคคลต่างๆ เหล่านั้น ผ่านกิจกรรมที่พ่อแม่จัดขึ้น ในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันพ่อ วันแม่ เป็นต้น
รักลูกให้ถูกทาง
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีระเบียบวินัย รู้จักการควบคุมตนเอง เข้าใจเรื่องของเหตุและผล รู้ว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ เพราะเหตุใด สอนให้เด็กๆ รู้จักการแบ่งปัน การให้อภัย และการเสียสละ ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดื้อรั้น เอาแต่ใจ
ไม่ทำโทษลูกอย่างรุนแรง
เมื่อลูกกระทำความผิด เพราะแทนที่จะสอนให้เขาจดจำข้อผิดพลาดและนำไปแก้ไขได้ กลับจะกลายเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน และแสดงอารมณ์รุนแรงต่อพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ลงโทษเขา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเขาเติบโตขึ้น และก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
ทางออกที่เหมาะสม คือการพูดคุยกันถึงเหตุและผลของเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใจเย็น ให้คิดว่าเมื่อตอนที่เรายังเล็กขนาดนี้ก็ยังมีอะไรหลายอย่างที่เราไม่เข้าใจอยู่เยอะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจในตัวเด็ก เพื่อการปรับพฤติกรรมที่ถูกต้อง
กิจกรรมเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าคนในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้น การสอนลูกในเรื่องต่างๆ จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะคุณพ่อคุณแม่จะรู้วิธีการสอนลูก รู้ว่าลูกเราจะต้องสอนด้วยวิธีไหนถึงจะได้ผล ซึ่งวันนี้เรามีตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันในครอบครัวมาฝาก ดังนี้
การรับประทานอาหารร่วมกัน
ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือญาติผู้ใหญ่ อาจเป็นมื้อใดมื้อหนึ่ง เช่น มื้อค่ำ ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้า ได้พูดคุยระหว่างการรับประทานอาหาร มีโอกาสได้ถามถึงสารทุกข์สุขดิบ แลกเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ รวมถึงอาจมีส่วนร่วมในการคิดแก้ไขปัญหาของแต่ละคนอีกด้วย
การทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงวันหยุดพิเศษ
เช่น วันสงกรานต์ วันปีใหม่ ได้มีโอกาสไปทำบุญร่วมกัน มีการรดน้ำดำหัวอวยพรผู้ใหญ่ การขอขมาลาโทษจากผู้ใหญ่ ปู่ย่า ตายาย รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวร่วมกันทั้งครอบครัว เป็นต้น
ชวนกันไปออกกำลังกายนอกบ้าน
เพื่อการกระชับความสัมพันธ์ที่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกๆ ไปออกกำลังนอกบ้าน อาจเป็นสวนสาธารณะในหมู่บ้าน หรือจะเดินทางไปสวนสาธารณะใกล้บ้านก็ได้ค่ะ ระหว่างทางเราก็ยังได้ชวนลูกพูดคุยกันได้อีกด้วย
ชวนกันเข้าครัว
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีลูกสาวหรือลูกชายก็สามารถชวนลูกเข้าครัวได้หมดนะคะ ถ้าเป็นการทำกับข้าว อาจให้ลูกช่วยเด็ดผักง่ายๆ หรือถ้าจะชวนทำขนมก็สามารถทำได้เช่นกัน อาจเป็นการทำขนมไทยหรือขนมนานาชาติก็ค่ะ ลูกๆ จะได้คลึงแป้งกันอย่างสนุกสนาน ที่สำคัญเทคนิคการเข้าครัวนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องลูกกินยากได้อีกด้วยนะคะ
ชวนกันปลูกต้นไม้
การปลูกต้นไม้นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบค่ะ เพราะพวกเขาจะได้เล่นดิน ใส่ปุ๋ย และรดน้ำต้นไม้ เป็นการสร้าบรรยากาศดีให้กับครอบครัว
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองครู อาจารย์ จะสอนให้เด็กๆ มีความเคารพ และให้เกียรติผู้อื่นได้นั้น เราทุกคนควรที่จะทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กๆ เสียก่อน และควรจะเป็นไปอย่างปกติวิสัย เมื่อเด็กๆ ได้เห็นการกระทำอันดีเหล่านี้แล้ว เขาก็จะจดจำ และทำตามได้เอง โดยบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องมีการสอนสั่งเลยด้วยซ้ำ