ลูกติดมือถือมาก ทำไงดี และวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ลูกติดมือถือเป็นเรื่องกังวลใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายบ้านเพราะบางบ้านลูกติดมือถือมากเกินไปจนส่งผลเสียหลายอย่างทั้งด้านอารมณ์ ร่างกาย และสภาพจิตใจของเด็ก ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารต่างๆ มีความทันสมัยมากขึ้นทำให้เราเข้าถึงสื่อ ความบันเทิง ข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆอาทิ มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยนี้เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ ติดมือถือมากถึงร้อยละ 10-15% ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ควบคุมการเข้าถึงสื่ออนไลน์กับลูกๆ อาจทำให้ลูกติดมือถึงจนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อย่างไรก็ตามอาการติดมือถือไม่เกิดเพียงในช่วงวัยเด็กเท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นมากในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่อีกด้วย
สาเหตุที่ลูกติดมือถือ
ลูกติดมือถือเกิดขึ้นด้าจากหลายหลายปัจจัยร่วมกันที่อาจทำให้เด็กใช้เวลาจดจ่อกับหน้าจอมากกว่าการใช้ชีวิตกับโลกของความเป็นจริงและสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาดูกันค่ะว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กติดมือถือเกิดจากอะไรบ้าง
พ่อแม่ขาดความใส่ใจ
หรือเกิดจากการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาหรือใช้เวลากับลูกรวมถึงให้ความอบอุ่นกับเด็กๆ อาจเนื่องด้วยภาระหน้าที่ ความเหนื่อยล้า ทำให้ไม่มีกิจกรรมที่ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน หรือการตัดความรำคาญโดยการโยนมือถือให้ลูกเล่นสนุกจากหน้าจอแทน
ความห่างเหินและสังคมก้มหน้า
ความห่างเหินหรือการขาดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนในครอบครัวเช่น พ่อแม่อยู่มุมหนึ่ง ลูกอยู่อีกมุมต่างฝ่ายต่างจดจ่อกับสิ่งที่ตนสนใจจนทำให้เกิดความห่างเหินกันในครอบครัว
ลูกเล่นมือถือตั้งแต่เด็ก
การปล่อยให้ลูกใช้สื่อหรือติดมือถือตั้งแต่เด็กโดยไม่มีการควบคุม จำกัดเวลาเล่นนั่นเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กติดมือถือ
ลูกติดเกม
เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เด็กติดมือถือเนื่องจากการเล่นนานจนเกินไปจนทำให้ติดจนหยุดเล่นไม่ได้ หรือต้องการความชนะจากเกมทำให้เด็กๆสนใจหน้าจอมือถือมากกว่าสิ่งรอบข้าง
อาการที่บอกว่าลูกติดมือถือ
ลูกเราเสี่ยงเป็นเด็กติดมือถือหรือไม่ มาเช็คอาการหรือสัญาณเตือนว่าหากลูกมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้อาจกำลังเตือนว่าลูกติดมือถือมากจนเกินไป สังเกตุพฤติกรรมของลูกเพื่อหาวิธีรับมือที่เหมาะสมต่อไป
จับมือถือตลอดเวลา
ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือมากกว่าสนใจทำกิจกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นตอนกินข้าว ทำการบ้าน ก่อนนอน เป็นต้น
โลกส่วนตัวสูง
ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว มักใช้เวลาอยู่เงียบๆเพื่อเล่นมือถือ เล่นเกมคนเดียว หรือเก็บตัวคนเดียวเป็นเวลานานโดยไม่สนใจใคร
สมาธิสั้น
เด็ก ๆ จะสมาธิสั้น วอกแวก ไม่สามารถจดจ่อทำกิจกรรมอื่นได้นานอยู่ไม่นิ่งเวลาที่ไม่ได้จับมือถือ
สื่อสารกับครอบครัวลดลง
รวมถึงคนใกล้ตัว มีปฏิสัมพันธ์ พูดน้อย ไม่ค่อยคุยหรือสนใจกับสิ่งรอบข้าง และซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ละเลยหน้าที่
ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนพึงปฏิบัติเช่นการขาดเรียน โดดเรียน ไม่ช่วยทำงานบ้าน เป็นต้นไม่สนใจหรือเลิกทำกิจจกรรมที่เคยชอบ เมื่อความสนใจเปลี่ยนไปอยู่บนหน้าจอมือถือทำให้เด็ก อาจใช้เวลากับกิจกรรมที่เคยชอบน้อยลง
คุมเวลาเล่นมือถือของตัวเองไม่ได้
ไม่สามารถความควบให้ตัวเองหยุดเล่นหรือเล่นเป็นช่วงเวลาได้ทำใก้จับมือถือหลายชั่วโมงติดต่อกัน
มีพฤติกรรมก้าวร้าว
สาเหตุอาจมาจากการเสพความรุนแรงจากสื่อบนโลกออนไลน์เช่น เกม หนัง ซีรีย์ การ์ตูน เป็นต้น
มีอาการง่วงซึม
รวมถึงอ่อนเพลีย เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอและได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณน้อย
ผลกระทบจากการติดมือถือ
ผลเสียจากการให้ลูกติดมือถือหรือหน้าจอ มีดังนี้
หงุดหงิดง่าย
มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เด็กที่ติดมือถือ คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตมักจะควบคุมตัวเองไม่อยู่เมื่อมีอารมณ์ โมโห หงุดหงิดง่าย ทำให้เขาแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวไม่น่ารักออกมา
พัฒนาการช้า
การตอบสนองเช่นการพูดคุย สื่อสาร คิดคำนวณ วิเคราะห์ ความจำมักช้ากว่าเด็กๆ ในรุ่นเดียวกัน สมองเล็กลงพัฒนาการของเชาว์ปัญญาไม่ดี
มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาก่อนวัย
เมื่อมีการจดจ่อหรือจ้องหน้าจอเป็นเวลานานต่อเนื่องหลายชั่วโมง แสงสีฟ้าจากหน้าจอสามารถทำให้เกิดผลเสียกับดวงตาได้เช่น เกิดอาการตาแห้ง ตาล้า สายตาสั้น เป็นต้น
ขาดสมาธิ
ไม่สามารถจดจ่อหรืออยู่นิ่งได้นานกับกิจกรรมที่ต้องอาศัยสมาธิได้นาน เกิดอาการวอกแวกอยู่ตลอดเวลา
เข้าสังคมได้ยาก
เนื่องจากเด็กๆ วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อาการติดมือถือ แท็บเล็ต มักใช้เวลาให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าการเข้าสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เข้าสังคมปกติได้ยาก
วิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือ
ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะติดมือถือหรือหน้าจอแล้ว แต่หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจอยากให้ลูกน้อยถอยห่างออกจากหน้าจอ ก็ยังพอมีวิธีการ ดังนี้
กำหนดเวลาเล่นมือถือให้ชัดเจน
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลจำกัดเวลาในการใช้งานให้เหมาะสมตามวัย ไม่ปล่อยให้เด็กๆใช้เวลาต่อเนื่องหลายชั่วโมงกับมือถือหรือแท็บเล็ต และต้องเล่นภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น
สร้างกิจกรรมทดแทน
หากิจกรรมใช้เวลาร่วมกับลูกให้มากขึ้นเช่นชวนเขาออกกำลังกาย ออกไปเที่ยว ทำอาหาร เล่นกีฬา หรือกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเล่นมือถือ ให้เขาได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เช่น เล่นกีฬา ร้องเพลง อ่านหนังสือ ไปเที่ยว ฝึกทำอาหาร เรียนภาษา เต้น และงานศิลปะอื่น ๆ เป็นต้น
สานความสัมพันธ์
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ไม่พูดจารุนแรง ตำหนิหรือใช้ถ้อยคำรุนแรง เน้นคำพูดเชิงบวกและหากิจกรรมทำร่วมกัน และให้คำชมเมื่อลูกทำสิ่งดีๆ เพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจให้เด็กๆ
เลือกประเภทเกมที่เหมาะสม
พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกเกมที่เหมาะสมตามช่วงวัยให้ลูกๆ ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอตามลำพัง
พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
ไม่เล่นมือถือหรือติดหน้าจอมากเกินไปเมื่อใช้เวลากับลูก ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
ไม่เก็บมือถือไว้ในห้องนอน
เพื่อป้องกันเด็กๆแอบเล่นมือถือก่อนนอน และให้เขาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เมื่อถึงเวลาต้องพักผ่อน
สรุป
อาการลูกติดมือถือหนักอาจต้องใช้เวลาในการรักษาระยะยาวและมีโอกาสกลับมาติดมือถือได้อีก ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดมือถือ, แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์มากจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจต้องดูแลใส่ใจและจำกัดเวลาหรือหากิจจกรมเสริมสร้างทักษะ พัฒนาการด้านต่าง ๆ และความสนุกให้เด็กๆ ได้ทำเพื่อลดเวลาจดจ่อกับหน้าจอมือถือ ที่สำคัญ คือ ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักดิบลูก
ยิ่งปัจจุบันการเข้าถึงสื่อที่ง่ายดายและรวดเร็วอาจไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่มีอาการติดมือถือแต่ยังพบว่าวัยรุ่น วัยทำงาน ผู้ใหญ่มีอาการติดมือถือเช่นเดียวกัน เพื่อสุขภาพที่ดีและลดปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาควรใช้เวลากับหน้าจอมือถือให้เหมาะสม