พฤติกรรมลอกเลียนแบบของวัยรุ่นไทย เรื่องธรรมดา หรือน่ากังวลใจ
วัยรุ่น คือช่วงวัยที่กำลังอยู่ระหว่างความเป็นเด็ก และการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงพบว่ามีความหลากหลายของพฤติกรรมเป็นอันมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสดงออก ที่บางครั้งอาจดูเอาแต่ใจตัวเองเหมือนเด็กเล็กๆ แต่ในบางครั้งก็กลับมีความสุขุมลุ่มลึกคล้ายกับผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะเป็นต้นแบบของพฤติกรรมให้ลูก ๆ ได้ เพราะครอบครัวคือ พื้นฐานแรกของพฤติกรรมลอกเลียนแบบของลูกวัยรุ่น นั่นเอง
สาเหตุที่วัยรุ่นมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ
การที่วัยรุ่นมีพฤติกรรมที่ชอบลอดเลียนแบบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
พฤติกรรมการเลียนแบบของวัยรุ่น เกิดจากความต้องการในการแสดงออก เพื่อ
- สร้างความโดดเด่น ความน่าสนใจ ความน่าเชื่อถือ
- สร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม
- ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน
- เพื่อต้องการให้พ่อแม่ ครอบครัว และคนรอบข้างหันมาสนใจ หรือเห็นความสำคัญของตนเอง
ตัวอย่างพฤติกรรมที่วัยรุ่นเลียนแบบ
จะเห็นได้ว่า สื่อ และพฤติกรรมของสังคม ที่ปรากฎเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือแม้แต่บนโลกออนไลน์ นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบของวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะพฤติกรรมความรุนแรง การใช้อารมณ์ ความก้าวร้าว และพฤติกรรมหยาบคาย เป็นต้น ซึ่งยกตัวอย่างพฤติกรรมการเลียนแบบของวัยรุ่น เช่น
เลียนแบบดารา
การแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม เลียนแบบดารา หรือไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบ
ใช้สินค้าแบรนด์เนมตามไอดอล
หากดาราหรือไอดอลของเขา ใช้เครื่องประดับหรือมีสินค้าที่เลิศ หรู ราคาแพง พวกเขาก็พร้อมที่จะเลียนแบบได้ทันที บางคนถึงขั้นก็หนี้ยืมสินมาเพื่อซื้อของหรูตามดาราที่เขาชื่นชอบก็มี
เลียนแบบจากตัวละคร
การเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในภาพยนตร์ที่กำลังโด่งดัง โดยเฉพาะภาพในแง่ลบ เช่น การแข่งรถ การแสดงกิริยาหยาบคาย ถ่มน้ำลายรดพื้น การเดินล้วงกระเป๋าแบบจิ๊กโก๋ รวมถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี การทำตัวเป็นนักเลง การพกอาวุธ การยกพวกตีกัน และการทำร้ายผู้อื่นในที่สาธารณะ เป็นต้น
เลียนแบบจากข่าวในโซเชียล
การเลียนแบบพฤติกรรมที่เป็นข่าวในโลกโซเชียล เช่น การขว้างปา ทุบ ทำลาย พ่นสีอาคาร สถานที่สำคัญของราชการ การจุดระเบิด การใช้อาวุธปืน ยิงหรือทำร้ายคนในครอบครัว รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง จลอดจนการใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นต้น
เมื่อไหร่ที่พ่อแม่ควรกังวล กับพฤติกรรมของวัยรุ่น
การเลียนแบบถือเป็นพฤติกรรมปกติของวัยรุ่นทั่วไป ที่ต้องการเป็นที่จับตามอง และเป็นจุดสนใจของผู้คนรอบข้าง เป็นพฤติกรรมที่อาจส่งผลได้ทั้งในด้านบวก และลบ และที่สำคัญ คือหากลูกเริ่มติดเพื่อนมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกด้วยว่าลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ในด้านลบหรือด้านบวก
แต่เมื่อใดก็ตามที่การเลียนแบบพฤติกรรมของวัยรุ่น นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องพฤติกรรมทางเพศ อบายมุข บุหรี่ สุรา ยาเสพติด รวมถึงการมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม เช่น การแสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าว หยาบคาย มีการใช้กำลัง และความรุนแรงในการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน และชีวิตของผู้อื่น เป็นต้น
ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ อาจนำอันตรายมาสู่ชีวิตของลูกวัยรุ่นได้เช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่ และผู้ปกครอง จึงควรให้ความสนใจกับพฤติกรรมความเปลี่ยนแปลงของลูกวัยรุ่นเป็นพิเศษ อาจให้เวลาคุณภาพกับลูกๆ มากขึ้น มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ทราบถึงความคิด และความสนใจของลูกวัยรุ่นในขณะนั้น ว่ากำลังเป็นไปในทิศทางใด
หากความสนใจของวัยรุ่นเป็นไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง เช่น การแต่งตัวโป๊เปลือย การมีข่าวเสียๆ หายๆ ไม่เว้นแต่ละวันของดารา นางแบบ หรือเน็ตไอดอล จนทำให้ผู้คนเหล่านั้นเป็นที่จับตามองของสังคม โด่งดัง และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ แล้วทำให้เด็กวัยรุ่นพยายามจะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น เพื่อสร้างบุคคลิกภาพของตนให้โดดเด่น เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนฝูง พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กวัยรุ่น (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง) ก็จะเป็นไปในด้านลบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การสอดส่องพฤติกรรม หรือการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น ไม่ควรถึงกับต้องซักไซร้ คาดคั้น จนดูคล้ายการจ้องจับผิด ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่กล้าที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผู้ใหญ่ก็จจะไม่รู้อะไรจากลูกเลย จนกระทั่งพฤติกรรมการเลียนแบบเหล่านั้น นำไปสู่ความเสื่อมเสีย และเกิดการสูญเสียในที่สุด
แนวทางการปรับพฤติกรรมของลูกวัยรุ่น
แนวทางการแก้ไข หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า พฤติกรรมการเลียนแบบของลูกวัยรุ่น กำลังนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยง และอาจกลายเป็นความสูญเสียได้ หากไม่ป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ คือ
มีข้อจำกัดในการดูสื่อต่างๆ
เช่น การดูข่าวที่มีพฤติกรรมความรุนแรง การดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา และภาพที่ส่อไปในทางผิดศีลธรรม มีพฤติกรรมความรุนแรง ก้าวร้าว และพยาบคาย โดยคุณพ่อคุณแม่อาจนั่งดูอยู่ด้วย เพื่อให้คำแนะนำ หรือพูดคุยกับลูก อธิบายถึงผลดี และผลเสีย หากลูกประพฤติเช่นเดียวกับในสื่อเหล่านั้น รวมถึงการจำกัดเวลาในการเข้าถึงสื่อต่างๆ ที่เป็นมลพิษทางความคิดของลูกให้เหลือน้อยลง เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นเสพความก้าวร้าว รุนแรง มากเกินไป นั่นเอง
พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี
ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดงออกถึงการกระทำต่างๆ เช่น การไม่พูดจาก้าวร้าว หยาบคาย ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งกันและกัน เพราะเด็กๆ จะเริ่มซึมซับพฤติกรรมของคนในครอบครัวตั้งแต่วัยเยาว์ และแสดงออกด้วยการลอกเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น และก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
การพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ
ในการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และใช้เวลานาน แต่ก็จำเป็นต้องทำ แต่หากพฤติกรรมการลอกเลียนแบบของลูกวัยรุ่นมีความรุนแรง จนถึงขั้นน่าวิตก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมาพบจิตแพทย์ เพื่อรับการรักษา และเยียวยาจิตใจของลูกต่อไป
สรุป
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ ที่นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยง อาจทำได้ยากและต้องใช้เวลานาน กว่าจะปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ฝังหัวลูกวัยรุ่นออกไปได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า กล่าวคือ พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างความประพฤติที่ดีให้แก่ลูก เช่น การไม่แสดงออกถึงความรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคายต่อคนในครอบครัว แต่ปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพ อ่อนโยน และมีเหตุผล หรือการไม่หยิบฉวยเอาของที่มิใช่ของตนเองโดยไม่ขออนุญาต รวมถึงการแสดงออกของพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น การกล่าวคำขอโทษเมื่อทำผิด การกราบไหว้ผู้ใหญ่ การกล่าวคำขอบคุณเมื่อมีใครทำสิ่งดีๆ ให้ เป็นต้น