โรคที่มากับหน้าหนาว จะดูแลลูกวัยแรกเกิด – 1 ปี อย่างไร ไม่ให้ป่วย
ช่วงนี้ก็ปลายเดือนตุลาคมแล้ว บางพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มสัมผัสอากาศเย็นกันแล้วนะคะ โดยเฉพาะภาคเหนือและยอดดอย หลายคนรอคอยเวลานี้มานาน แต่ในขณะที่คนเป็นแม่ที่มีลูกในวัย 0-1 ขวบ คงต้องมีการเตรียมการรับมือกับอากาศหนาว เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยป่วย
ชวนคุณแม่มาทำเช็คลิสต์กันซักหน่อยดีกว่าค่ะ ว่ามีอะไรที่ต้องเตรียมหรือต้องป้องกันให้ลูกน้อยบ้าง
ดูแลลูกน้อยหน้าหนาวอย่างไรไม่ให้ป่วย
เพราะเด็กเล็กยังเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันไม่มากเหมือนผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้น เวลาอากาศเปลี่ยนแปลงทีก็จะส่งผลต่อเด็กได้เร็ว ปรับตัวกันไม่ทัน เด็กที่ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยจากการรับเชื้อไวรัสเข้าไป เพราะเชื้อตัวนี้เจริญเติบและแพร่กระจายได้ดีในหน้าหนาว ซึ่งวันนี้โน้ตมีวิธีดูแลลูกให้ห่างไหลความเจ็บป่วยโดยเฉพาะในหน้าหนาวมาฝากค่ะ
หมั่นรักษาความสะอาด
ล้างมือให้สะอาด
แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการจับต้องลูกน้อยทุกครั้ง เพราะสาเหตุที่ลูกป่วยส่วนหนึ่งมักมาจากเชื้อโรคที่ติดตัวอยู่กับผู้ใหญ่มา
ของเล่นลูกน้อย
ควรหมั่นเช็ดล้างทำความสะอาดอยู่เสมอเช่นกันค่ะ เพราะส่วนใหญ่เวลาที่ลูกเล่นก็มักจะชอบเอาของเล่นเข้าปาก ซึ่งตัวของเล่นเองก็จะมีเชื้อโรคไปเกาะอยู่ด้วยเช่นกัน เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดของโรคในเด็กเล็กทั้งสิ้น
เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ลูก
ควรเช็ดหรือล้างทำความสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะขวดนม จุกนม หรือแม้แต่เครื่องนอนของลูก
ให้ร่างกายลูกอบอุ่นอยู่เสมอ
เตรียมเสื้อผ้า
เพื่อให้ลูกน้อยมีร่างกายที่อบอุ่นอยู่เสมอ คุณแม่ควรเตรียมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวไว้ ซึ่งถ้าอากาศไม่เย็นมากเราสามารถสวมทับได้ แต่หากอากาศเย็นมากแนะนำเสื้อกันหนาว หมวกไหมพรม ถุงมือ ถุงเท้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดเกินไป เพื่อให้ลูกไม่เกิดความอึดอัด
ผ้าห่ม
ควรเลือกผ้าห่มที่มีความหนาพอสมควร อาจเป็นผ้าสำลีก็ได้ค่ะ หรือจะเป็นเนื้อผ้าอื่น ๆ ที่ให้ความนุ่ม อุ่น แต่ไม่หนัก เพื่อไม่ให้ลูกน้อยห่มแล้วระคายเคืองผิว หรือเกิดความรู้สึกอึดอัด
ดูแลสุขภาพผิวของลูกน้อยไม่ให้แห้ง แตก และคัน
อาบน้ำอุ่น
สำหรับเด็กเล็ก อาบน้ำวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอแล้วค่ะ เพราะระบบการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายของลูกน้อยยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่และทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งในน้ำอุ่น คุณแม่สามารถผสมเบบี้ออยล์ได้เล็กน้อย และที่สำคัญ ควรอาบอย่างเบามือที่สุดค่ะ
หลังอาบน้ำให้ทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวสำหรับเด็ก
ให้คุณแม่เทใส่มือ แล้วค่อย ๆ ลูบให้ทั่วแขน ขา และลำตัวของลูก พยายามให้ครีมกระจายให้ทั่ว เพื่อให้ครีมปิดที่รูขุมขน แบบนี้จะสามารถคงความชุ่มชื้นของผิวลูกน้อยได้ค่ะ เริ่มแรกของการใช้ครีม ควรทาแต่น้อยก่อน เพื่อทดสอบว่าลูกน้อยมีอาการแพ้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ทุกแบรนด์จะเคลมว่า “ผ่านการทดสอบทางการแพทย์แล้ว ว่าไม่มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว” แต่เนื่องจากผิวของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากเริ่มน้อย ๆ ก่อน เวลาที่เกิดอาการแพ้ก็จะไม่มีอาการมากค่ะ
ทาครีมระหว่างวัน
หากอากาศที่ยังเย็นไม่ควรเอาลูกออกไปนอกบ้านนาน ๆ นะคะ เพราะอากาศเย็นจะส่งผลให้ผิวลูกยิ่งแห้ง แตก ลูกก็จะคัน ยิ่งคันก็ยิ่งเกา เกาไปเกามาผิวลูกจะถลอก มีเลือดซิบ ๆ และเกิดการอักเสบขึ้นได้ ดังนั้น หากคุณแม่เห็นว่าผิวลูกเริ่มแห้งแล้ว สามารถทาครีมหรือหรือโลชั่นสำหรับเด็กได้ค่ะ แบบบาง ๆ นะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวลูกแห้งเกินไป
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
สำหรับลูกน้อยที่วัย 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่สามารถทำอาหารเสริมให้ลูกได้แล้ว โดยเน้นคุณค่าทางอาหารได้ค่ะ อาทิ ฟักทองบดหรือซุปฟักทองกับแครอท ซึ่งอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ และวิตามินซี หรือจะเป็นซุปบรอกโคลี หรืออะโวคาโดบดก็ได้ค่ะ เนื่องจากอะโวคาโดอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ซึ่งส่งเสริมการสร้างเซลล์สมอง
ให้ลูกจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ
เพราะอากาศที่หนาว ร่างกายลูกน้อยจึงต้องการน้ำเพื่อการปรับความสมดุลจากอากาศที่แห้งและหนาวเย็น อาจเป็นเหตุให้ร่างกายสูญเสียน้ำในร่างกายได้มากกว่าปกติ การจิบน้ำอุ่นจะช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวกับอากาศภายนอกได้ ป้องกันไม่ให้ลูกเจ็บป่วยง่าย ป้องกันปากแห้ง และที่สำคัญ ช่วยลดอาการท้องผูกได้อีกด้วยค่ะ