การเตรียมนมให้ลูกเป็นอีกเรื่องที่พ่อแม่ต้องทำเป็นประจำ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่รู้หรือไม่คะว่าวิธีชงนมให้ลูกอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำนั้นทำอย่างไร เพราะหากรักษาความสะอาดไม่พอ สามารถทำให้ลูกติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย และหากสัดส่วนการชงนมไม่ถูกต้องก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพลูกได้หลายประการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องอืด ท้องผูก ขาดน้ำ ขาดสารอาหาร ระบบย่อยอาหารทำงานได้ลำบาก ดังนั้น วันนี้เราลองมาดูกันค่ะว่ามีขั้นตอนไหนบ้างหรือไม่ ที่เราต้องปรับในเรื่องวิธีชงนมให้ลูก
อุปกรณ์ที่ใช้ในการชงนมให้ลูก
นอกจากอุปกรณ์ชงนม ก็ยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้วิธีการชงนมให้ลูกมีความสะอาดปลอดภัยด้วย ดังนี้
- ขวดนม
- ที่นึ่งขวดนม หรือ หม้อต้ม / ที่ผึ่งวางแยกจากอุปกรณ์อื่นๆ หรือ เครื่องอบฆ่าเชื้อ
- น้ำต้มสุก
- นมผง
การเตรียมในการชงนมให้ลูก
พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญกับการตระเตรียมอุปกรณ์และทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนจะถึงวิธีการชงนมให้ลูก โดยเฉพาะทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน, ทารกที่คลอดก่อนกำหนด รวมถึงทารกที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนี้
ขวดนมต้องสะอาด
ขวดนมและชิ้นส่วนต้องล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาล้างขวดนมทุกครั้งที่ใช้เสร็จ อุปกรณ์สำหรับล้างขวดนมควรแยกต่างหากไม่ควรใช้ร่วมกับอุปกรณ์การล้างอื่น ๆ จากนั้นนำขวดนมและชิ้นส่วนมานึ่ง หรือผ่านการต้มเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียทุกครั้งห สามารถวางผึ่งให้แห้งในที่วางที่มั่นใจว่าสะอาดปลอดภัย และแยกเป็นสัดส่วนจากของใช้อื่น ๆ ปัจจุบันมีเครื่องนึ่งขวดนม หรือเครื่องอบฆ่าเชื้อยูวีก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
อ่านสลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด
สลากข้างผลิตภัณฑ์นมผงจำเป็นมากที่พ่อแม่ต้องอ่านทำความเข้าใจอย่างละเอียด และปฏิบัติติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนการชงนม, วันหมดอายุ และวิธีจัดเก็บที่ถูกต้อง เป็นต้น รวมไปถึงความสมบูรณ์ของบรรจุภัณฑ์ด้วย ควรเลือกซื้อที่ไม่มีรอยบุบ บวม หรือฉีกขาด เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อแบคทีเรียภายในที่เรามองไม่เห็นได้
ล้างมือให้สะอาด
พ่อแม่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจับขวดนมและชงนมให้ลูก รวมไปถึงพื้นที่ที่ใช้ในการชงนมก็ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน
วิธีชงนมให้ลูกอย่างถูกต้อง
การชงนมที่ถูกวิธีจะทำให้ลูกปลอดภัยจากอาการท้องเสียหรือท้องร่วง รวมถึงมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ไปค่ะ เริ่มชงพร้อมกันไปทีละขั้นตอนได้เลยค่ะ
ล้างมือและทำความสะอาดบริเวณที่ชงนม
เริ่มจากการทำความสะอาดบริเวณที่ชงนมก่อน จากนั้นค่อยล้างมือให้สะอาด เพื่อเตรียมชงนมให้ลูก
เตรียมน้ำต้มสุกใส่ลงในขวดนม
- การชงนมจะไม่ใช้น้ำร้อนจัดชงนมโดยตรง เพราะน้ำร้อนสามารถทำลายสารอาหารบางชนิดในนมผงได้ และยังทำให้นมผงจับตัวเป็นก้อนอีกด้วย
- ควรใช้น้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้ให้เย็นลงเป็นเวลา 30 นาที หรือมีอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส หรือดีที่สุดคือ น้ำต้มสุกตามอุณหภูมิห้อง
- เทน้ำต้มสุกใส่ขวดนมตามปริมาณที่สลากข้างผลิตภัณฑ์ระบุก่อนเสมอ
- บางท่านยังเข้าใจผิด ใส่นมผงก่อนใส่น้ำต้มสุก จึงทำให้ปริมาณน้ำที่ใส่น้อยกว่าความเป็นจริง เป็นสาเหตุให้ลูกรับนมในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้มีอาการท้องอืดหรือท้องผูกได้
ตวงนมผงใส่ตามลงไป
- ตวงนมผงใส่ลงในขวดนมที่มีน้ำต้มสุกตามอัตราส่วนที่สลากระบุเท่านั้น
- พ่อแม่บางท่านเพิ่มความเข้มข้นของนมผงเอง เนื่องจากอยากให้ลูกรับสารอาหารที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องดี เพราะลูกจะได้รับแคลอรี่จากนมที่มากเกินมาตรฐาน และความเข้มข้นของนมที่สูงขึ้นนั้น จะไปเพิ่มภาระการย่อยอาหารในท้องของลูก และทำให้สุขภาพไม่สมดุล ส่งผลให้ลูกท้องผูกเพราะได้รับน้ำน้อยเกินไป
- ควรใช้ช้อนตวงที่ให้มากับผลิตภัณฑ์เท่านั้น เพื่อที่อัตราส่วนระหว่างน้ำและนมผงจะได้ตรงตามที่สลากระบุ
ไม่เขย่าขวดนม แต่ใช้การหมุนวนอย่างเบามือ
- ใส่จุกนมและปิดฝาให้แน่น
- ใช้วิธีหมุนวนขวดนมไปรอบ ๆ เพื่อให้น้ำและนมผงผสมเข้ากันโดยไม่เกิดฟองอากาศ
- ไม่เขย่าขวดนมขึ้นลงอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศจำนวนมาก เมื่อลูกดูดเอาฟองอากาศเข้าไปทำให้เกิดแก๊สในกระเพราะอาหาร เป็นสาเหตุให้ลูกท้องอืด ไม่สบายท้อง
ทดสอบอุณหภูมินมก่อนเสมอ
ก่อนที่จะยื่นขวดนมให้ลูก พ่อแม่ควรทำการทดสอบอุณหภูมิของนมก่อนเสมอ โดยการหยดนมลงบนหลังฝ่ามือ หรือบริเวณข้อมือด้านใน อุณหภูมิควรอุ่นๆหรือเย็น แต่ไม่ร้อน
การชงนมให้ลูกพ่อแม่ควรศึกษาวิธีชงนมให้ลูกก่อน และจะต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดในทุกขั้นตอนของการเตรียมและการชงนมเป็นอย่างมากนะคะ เพราะแม้แต่ภายในบรรจุภัณฑ์เองหากจัดเก็บไม่ถูกวิธีก็อาจเป็นการเพาะเชื้อแบคทีเรียโดยไม่รู้ตัว และนมที่ชงแล้วหากใน 2 ชม. ยังไม่ได้กินควรนำเก็บในตู้เย็นแล้วกินให้หมดภายใน 24 ชม. หรือหากกินไม่หมด ก็ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 ชม. นะคะ