เทคนิคการฝึกสมาธิให้ลูก เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์
เด็กในวัยเล็ก เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น และต้องการแหล่งการเรียนรู้ที่จะช่วยให้พัฒนาการทางสมองดียิ่งขึ้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะสังเกตเห็นได้ เมื่อเด็กมีวัยที่เริ่มโตขึ้น คืออาการอยู่ไม่นิ่ง หรือ มีอาการที่ซนมากกว่าปกติ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมักจะขาดสมาธิในการทำกิจกรรม ซึ่งอาจส่งผลต่อตัวเด็กในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเรียน หรือการเข้าสังคมกับบุคคลรอบตัว แน่นอนว่ามันอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวล และต้องการหาทางแก้ไข
ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ ให้รู้จักวิธีในการพัฒนาทางด้านสติปัญหาและทางด้านอารมณ์ของลูกน้อย เราได้มีวิธีหรือเทคนิคการฝึกสมาธิให้ลูกและแนวทางในการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์มาฝากคุณพ่อคุณแม่ มาดูกันว่าจะมีเทคนิคใดบ้าง
การฝึกสมาธิให้ลูกน้อย มีความสำคัญอย่างไร
- จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ช่วยในการพัฒนาสมอง
- เกิดสมาธิขึ้นในตัวเด็ก ทำให้มีความตั้งใจในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสำเร็จ
- ช่วยให้เข้าสังคมได้ง่าย มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- ช่วยควบคุมความจำ ความคิด การเรียนรู้ และการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
องค์ประกอบของการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์
องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ที่จะช่วยพัฒนาสมาธิของลูกน้อยให้ดียิ่งขึ้น จะถูกจำแนกออกเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่
ทางด้านดี
ในด้านความสามารถของการควบคุมอารมณ์และความรับผิดชอบเมื่ออยู่กับร่วมกับผู้อื่น โดยจะมีการประเมินจากความสามารถดังต่อไปนี้
- การควบคุมอารมณ์ของตนเอง
- การรู้ความต้องการของตนเองและใส่ใจอารมณ์ของผู้อื่น
- การยอมรับผิดและแสดงออกอย่างเหมาะสมต่อส่วนรวม
ทางด้านเก่ง
การมีสัมพันธภาพที่ดี และเรียนรู้ตนเอง มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการประเมินจากความสามารถดังต่อไปนี้
- ความมุ่งมั่นพยายาม และสร้างแรงจูงใจให้แก่ตนเอง
- กล้าที่จะตัดสินใจ และเผชิญกับปัญหา รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
- กล้าแสดงออก แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และมีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
ทางด้านความสุข
ทางด้านความพร้อมของอารมณ์ ที่จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความพึงพอใจและภาคภูมิใจในตนเอง โดยจะมีการประเมินจากความสามารถ ดังต่อไปนี้
- มีความพอใจ เชื่อมั่น และเห็นคุณค่าในตนเอง
- มองโลกในแง่ดี รู้จักปรับอารมณ์และมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ
- มีความรื่นเริงใจในการสร้างความสุขและรู้จักที่จะผ่อนคลายเพื่อสร้างความสงบในจิตใจ
เทคนิคการฝึกสมาธิให้ลูก
เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
เพราะคุณพ่อและคุณแม่เป็นคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับลูกน้อยมากที่สุด การแสดงออกทางอารมณ์และทางกายที่ไม่ดี อย่างเช่น อารมณ์โมโห เกรี้ยวกราด และพูดจาไม่ดีใส่ลูกบ่อย ๆ มักจะถูกซึมซับจนกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีได้ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ ต้องการให้ลูกน้อยเป็นเด็กที่มี EQ ที่ดี ต้องเริ่มจากการพูดคุยที่เหตุผล ใจเย็น และอ่อนโยน จะช่วยให้ลูกมีอารมณ์ที่ดีร่วมด้วย
พาทำกิจกรรมฝึกสมาธิ ค้นหาความสามารถ
เพราะเด็กเล็กยังไม่รู้ว่าตนเองมีความสามารถพิเศษทางด้านใด เพื่อเป็นการกระตุ้นความสามารถและศักยภาพทางด้านนี้ คุณพ่อและคุณแม่สามารถสังเกตได้จากกิจกรรมที่เห็นว่าลูกชอบทำ หรือ พาลูกทำกิจกรรมหลาย ๆ ด้าน หากสังเกตได้ว่าลูกน้อยมีความชอบในกิจกรรมทางด้านใด นั่นคือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ค้นพบและควรให้การส่งเสริมทางด้านนั้น และปล่อยให้เขาได้เรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ
นอกจากการพัฒนาทางด้านการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือการพัฒนาด้านสุขภาพ นอกจากกีฬาจะช่วยในเรื่องของสุขภาพแล้ว แต่ทางด้านกติกาในการเล่นกีฬาต่าง ๆ ยังสามารถช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของลูกน้อยให้รู้จักแพ้ชนะ และยังเป็นตัวช่วยการในการจัดการอารมณ์ของช่วงวัยเด็กได้โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำ เพื่อให้ลูกมีระเบียบวินัย และรู้จักที่จะเล่นอยู่ในกฎกติกา
ถาม – ตอบ เพื่อให้เกิดความคิดทางด้านอารมณ์
ให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นพูดคุยโต้ตอบกับลูกโดยการตั้งคำถามสถานการณ์สมมติ เพื่อให้ลูกใช้ความคิด รับฟังปัญหา และหาทางแก้ปัญหาไปด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสถานการณ์สมมติ ด้วยการถามถึง กรณีที่ลูกน้อยถูกเพื่อนแกล้งจะทำอย่างไร ให้ลูกแสดงออกถึงความในใจ และให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยแก้ปัญหา พูดคุยถึงเหตุผล การจัดการอารมณ์โมโห เพื่อเป็นการสอนให้ลูกเข้าใจ และรู้จักแก้ปัญหา รวมถึงปรับอารมณ์ของตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ดี
ดนตรี เสียงเพลงจะช่วยเยียวยาจิตใจ
เสียงเพลงจะช่วยทำให้ลูกน้อยมีสมาธิ และความจำที่ดีมากยิ่งขึ้น หลังจากทำกิจกรรมหลายอย่างเสร็จ ลองชวนลูกน้อยมาฟังเสียงของดนตรีที่จะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทางสมองมากยิ่งขึ้น ช่วยให้สมองจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี และยังเป็นการพัฒนาทางด้านอารมณ์ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ หรือหากลูกมีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี การชวนลูกมาเล่นเครื่องดนตรีที่ชอบ นอกจากจะเป็นการพัฒนาการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิให้แก่ลูกด้วย
อย่างไรก็ตาม การฝึกสมาธิให้ลูก จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและความอบอุ่นของคุณพ่อคุณแม่ ในช่วงแรกอาจจะยากที่จะทำให้ลูกเกิดสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน แต่หากมีความอดทนและทำอย่างสม่ำเสมอ เราเชื่อว่าจะทำให้ลูกน้อยเติบโตมาอย่างบุคคลที่มีคุณภาพภายในสังคม มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมสังคมได้อย่างดีเยี่ยม