ฝึกลูกขับถ่าย เริ่มเมื่อไหร่ดี ฝึกอย่างไร

ฝึกลูกขับถ่าย เริ่มเมื่อไหร่ดี ฝึกอย่างไร
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2022 07 10

ลูกน้อยของเราเติบโตขึ้นทุกวัน เมื่อลูกเริ่มทานอาหารเสริมอย่างอื่นนอกเหนือจากนม และเริ่มพูดจาสื่อสารได้บ้างแล้ว  คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็กำลังอยากฝึกลูกให้รู้จักวิธีใช้ห้องน้ำ และเรียนรู้การขับถ่ายด้วยตัวเองอยู่ใช่ไหมคะ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเริ่มฝึกลูกเมื่อไหร่ดี ทักษะการใช้ห้องน้ำ และควบคุมการขับถ่าย เป็นอีกทักษะที่สำคัญที่จะทำให้เห็นว่าลูกมีพัฒนาการด้านร่างกาย และด้านอารมณ์ที่ดีขึ้นค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเริ่มต้นฝึกก็ควรอาศัยจังหวะที่ดี เพราะหากเป็นการฝืนธรรมชาติของเด็กมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสภาวะจิตใจของลูกได้เช่นกันค่ะ

ฝึกลูกขับถ่ายเริ่มเมื่อไหร่ดี

เด็กส่วนใหญ่เริ่มมีความพร้อมที่จะฝึกการใช้ห้องน้ำเพื่อขับถ่าย ในช่วงอายุ 18 เดือน ถึง 3 ขวบ หรือบางรายอาจยาวไปถึง 4 ขวบ ก็เป็นไปได้ค่ะ และจากการศึกษาพบว่า…

เด็กผู้หญิงมักจะแสดงสัญญาณความพร้อมในการฝึกขับถ่ายเร็วกว่าเด็กผู้ชาย
อายุเฉลี่ยของเด็กผู้หญิงคือ 28 เดือน
ส่วนอายุเฉลี่ยของเด็กผู้ชายคือ 33 เดือน
และมีแนวโน้มว่าเด็กผู้หญิงสามารถฝึกได้ง่ายกว่าเด็กผู้ชายด้วยค่ะ

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตสัญญาณความพร้อมต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้อาศัยจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มฝึก และสามารถช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ลูกด้วยการหาหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับการขับถ่าย การใช้ห้องน้ำอย่างถูกวิธีมาอ่านให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น และเป็นการเตรียมความเข้าใจคำศัพท์ที่จะใช้สำหรับฝึกขับถ่ายเบื้องต้นให้ลูกด้วยค่ะ หรือคุณพ่อคุณแม่เองอาจจะบอกเล่าประสบการณ์การใช้ห้องน้ำให้ลูกฟังบ่อย ๆ เพื่อลูกจะได้รู้สึกว่าเป็นกิจวัตรประจำวันที่ทุกคนต้องทำกันค่ะ

รู้ได้อย่างไรว่าลูกพร้อมฝึกการขับถ่าย

การพิจารณาความพร้อมของลูกด้วยปัจจัยด้านอายุอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะควบคุมการขับถ่ายได้เอง หรือฝึกการใช้ห้องน้ำได้สำเร็จ เขาจะต้องผ่านการฝึกทักษะอื่น ๆ ให้เชี่ยวชาญเสียก่อนด้วยเช่นกันค่ะ วิธีสังเกตสัญญาณความพร้อมของลูก มีดังนี้ค่ะ

ลูกแสดงความสนใจ

เป็นสัญญาณแรกที่สำคัญที่พ่อแม่สามารถต่อยอดนำไปสู่การฝึกลูกขับถ่ายได้สำเร็จ คือ ลูกแสดงความสนใจ และอยากเรียนรู้วิธีการใช้กระโถน โดยอาจจะแสดงออก ดังนี้ค่ะ

  • ลูกสนใจที่จะรักษาความสะอาด ไม่ชอบความเปียกชื้นของผ้าอ้อมสำเร็จรูป
  • ลูกเริ่มอยากรู้ว่าพ่อแม่ทำอะไรเมื่อเข้าไปในห้องน้ำ
  • ลูกอยากใส่กางเกงในเหมือนเด็กโต หรือไม่อยากใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปอีกแล้ว

ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของลูกแห้งสนิท

หลังจากตื่นนอนกลางวัน ที่หลับยาวกว่า 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น แล้วพบว่าผ้าอ้อมของลูกยังแห้งสนิทแสดงว่าลูกของคุณแม่มีการพัฒนาความจุ และการควบคุมกระเพราะปัสสาวะได้ดีมากขึ้นแล้วค่ะ

ลูกส่งสัญญาณบอกเมื่อรู้สึกอยากขับถ่าย

ลูกจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ถ้าลูกยังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ เวลาที่ต้องคอยบอกลูกให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของตัวเอง เช่น นี่คือความรู้สึกปวดปัสสาวะ นี่คือปวดอึ  นอกจากคำบอกกล่าวแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องคอยสังเกตอาการของลูกที่บ่งบอกอาการอยากขับถ่ายของลูกด้วย เช่น

  • แสดงสีหน้าบางอย่าง หรืออาการหน้าแดง
  • มักเข้ามุมส่วนตัว ซ่อนหลังโซฟา หรือแอบหลังผ้าม่าน เพื่อแอบไปปัสสาวะ หรืออุจจาระ
  • ลูกชี้ หรือจับที่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เวลาที่ปัสสาวะ หรืออุจจาระ

ลูกอยากทำด้วยตัวเอง

เมื่อลูกมีอายุอยู่ในช่วง 1-3 ขวบ ลูกจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น (Autonomy/ Independence) อยากลองทำอะไรหลายอย่างด้วยตัวเอง หากลูกของคุณพ่อคุณแม่เริ่มอยากทานข้าวเอง แต่งตัวเอง และรวมไปถึงอยากจัดการการขับถ่ายด้วยตัวเอง นั่นก็เป็นอีกสัญญาณความพร้อมหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกฝนลูกได้ค่ะ

ลูกสามารถถอดกางเกงเองได้

สำหรับเด็กที่ยังอยู่ในวัยหัดเดินอาจดูเป็นเรื่องยากที่ลูกจะสามารถถอดกางเกงเองได้ อาจต้องใช้เวลาในการฝึกฝนสักระยะเพื่อให้ลูกเรียนรู้การถอดเสื้อผ้า และแต่งตัวด้วยตัวเอง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสร้างแรงจูงใจ หรือช่วยลูกได้นะคะ ด้วยการไม่สวมเสื้อผ้าที่ถอดลำบากให้ลูก เช่น ชุดมีกระดุมติดตรงเป้า ชุดที่มีซิป ชุดที่รัดจนเกินไป หรือกางเกงที่มีเข็มขัด หากลูกอยากเลือกเสื้อผ้าด้วยตัวเองพ่อแม่ก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมให้กับตัวเองค่ะ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัวเองเลือก

ลูกสามารถทำตามคำแนะนำได้

สำหรับผู้ใหญ่การเข้าห้องน้ำถือเป็นกิจกรรมอัตโนมัติไปแล้ว เราจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับเด็กๆ เขาจะต้องผ่านขั้นตอนความท้าทายหลายอย่างเลยค่ะ เช่น การสังเกตความรู้สึกของตัวเอง เข้าห้องน้ำให้ทัน เปิดไฟ ถอดกางเกง นั่งชักโครก กดชักโครก ล้างมือหลังจากทำภาระกิจเสร็จ ดังนั้นไม่ใช่แค่ความเต็มใจที่ลูกจะอยากฝึก หรืออยากทำตามคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่ แต่ลูกต้องได้รับโอกาส และระยะเวลาที่มากพอในการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ด้วยค่ะ

ลูกสามารถนั่งนิ่ง ๆ ได้

การฝึกตัวเองให้ขับถ่ายโดยเฉพาะการอุจาจาระ จะต้องอาศัยความอดทนในการนั่งนิ่ง ๆ สักระยะหนึ่ง ดังนั้นลูกของคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะสามารถนั่งนิ่ง ๆ ได้หลายนาทีโดยที่ไม่หงุดหงิดเสียก่อนค่ะ

ลูกสามารถสื่อสารได้

หากจะเริ่มฝึกลูกขับถ่ายลูกควรที่จะสามารถบอกพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงดูได้ด้วยคำพูด หรือส่งสัญญาณอื่น ๆ ว่าต้องการเข้าห้องน้ำได้ เพราะหากพ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ลูกจะไม่สามารถขอความช่วยเหลือเวลารู้สึกอยากขับถ่ายกับพี่เลี้ยง หรือคนอื่นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความไม่มั่นใจของลูกได้ค่ะ

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนการฝึกลูกขับถ่าย

เตรียมตัวลูก

พ่อแม่จะต้องเริ่มบอกแผนการฝึกให้ลูกฟัง เช่น บอกลูกว่า “เราจะเริ่มฝึกการขับถ่ายให้ลูกในอีก 2 วันข้างหน้านะคะ”  และอาจใช้สื่อต่าง ๆ เป็นตัวช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องการขับถ่ายหรือการเข้าห้องน้ำ อย่างหนังสือนิทาน ภาพวาด หรือวิดีโอสั้น ๆ ให้ลูกเข้าใจคำว่า ฉี่ อึ กระโถน การขับถ่าย และห้องน้ำ เพื่อที่ลูกจะได้เตรียมตัว และเข้าใจคำศัพท์ที่จำเป็นในการฝึกขับถ่ายค่ะ

เตรียมตัวพ่อ แม่ และผู้ดูแลเด็ก

ทุกคนที่ร่วมดูแลลูกจะต้องเข้าใจแผนการฝึกที่ตรงกัน และต้องไม่คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป เพราะลูกอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้นานหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปีกว่าที่ลูกจะสามารถขับถ่ายได้ด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์ ทุกคนจะได้พร้อมให้เวลาในการฝึกอย่างสม่ำเสมอทุกวัน  และพ่อแม่ต้องแจ้งสัญญาณที่ลูกใช้สื่อสารเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระให้แก่ผู้ดูแลคนอื่นทราบด้วย เพื่อจะได้ช่วยลูกฝึกได้สำเร็จง่ายขึ้น

กระโถน/ แผ่นรองนั่งชักโครก

ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกอุปกรณ์ด้วยตัวเอง ควรเลือกขนาดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ลูกจะต้องรู้สึกนั่งสบาย ไม่เกร็ง ไม่หนีบขา และอาจต้องมีอุปกรณ์ที่เหมือนกันมากกว่า 1 อัน ไว้สำหรับสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่ต้องฝากเลี้ยงในระหว่างวัน และต้องไม่เปลี่ยนห้องที่วางกระโถน ในห้องที่ลูกต้องไปขับถ่ายอาจวางของเล่น หรือหนังสือ เพื่อช่วยลูกให้นั่งได้นานขึ้นค่ะ

ชุดชั้นใน

ลูกควรมีส่วนร่วมในการเลือกกางเกงในลายที่ลูกชื่นชอบด้วยตัวเอง และพ่อแม่ช่วยเลือกแบบที่ใส่สบาย ไม่รัดรูป เพราะจะทำให้ลูกสามารถดึงขึ้นลงได้ง่ายด้วยตนเองค่ะ

วิธีฝึกลูกขับถ่าย

หลังจากที่สังเกตว่าลูกมีสัญญาณความพร้อมในหลาย ๆ ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น ซึ่งอาจจะไม่ครบทุกข้อ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถชวนลูกเข้าสู่กระบวนการฝึกขับถ่ายได้นะคะ โดยอาจเลือกช่วงเวลาในการเริ่มฝึกตอนที่คุณแม่สามารถหยุดยาวสัก 3 วัน เพื่อที่คุณแม่จะได้มีเวลาอยู่กับลูกได้ตลอดทั้งวัน

วันที่ 1 ของการฝึก

ทันทีที่ลูกตื่นนอน ให้ถอดผ้าอ้อมออก

ปล่อยให้ลูกได้ใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน กับความโล่งเบาสบายแบบไม่มีผ้าอ้อมช่วยซึมซับ เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ความจำเป็นในการใช้ห้องน้ำมากขึ้น

พาลูกไปที่กระโถนทันที หากลูกเริ่มมีอาการ

หากสังเกตเห็นอาการปวดปัสสาวะ หรือปวดอุจจาระของลูกให้พาลูกไปที่กระโถน หรือเข้าห้องน้ำ (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ลูกเคยชิน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณแม่)

หาช่วงเวลาที่เหมาะสม

การฝึกลูกให้อุจจาระ คุณแม่ควรหาช่วงเวลาที่ลูกมักจะปวดอุจจาระบ่อย ๆ เช่น ช่วงเช้าหลังตื่นนอน หลังทานอาหารเช้า หรือหลังทานอาหารเที่ยง เพื่อกำหนดเป็นเวลาฝึกให้ลูกนั่งอุจจาระในทุก ๆ วัน ให้ลูกเคยชินการนั่งชักโครก/กระโถน

อาจตั้งเวลาทุก ๆ 2 ชั่วโมง

การฝึกลูกปัสสาวะ คุณแม่อาจตั้งเวลาทุก 2 ชั่วโมง ชวนลูกเข้าห้องน้ำ เมื่อลูกปัสสาวะเสร็จสอนให้ลูกล้างมือทุกครั้งเพื่อปลูกฝังนิสัยที่ดีต่อสุขภาพให้กับลูกด้วยค่ะ

พ่อแม่ควรใจเย็น ไม่หงุดหงิดใส่ลูก

หากลูกทำเลอะเทอะพื้น หรือเข้าห้องน้ำไม่ทัน คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามอย่าแสดงอารมณ์หงุดหงิด แต่ให้ชวนลูกมาช่วยทำความสะอาด และบอกเพียงว่า ปวด ฉี่/อึ ให้ไปที่ห้องน้ำ

กล่าวชื่นชมหากลูกทำได้

ถ้าลูกสามารถเข้าห้องน้ำได้ทันเวลา ให้คุณพ่อคุณแม่กล่าวคำชม หรืออาจจูงใจด้วยรางวัล เช่น สติ๊กเกอร์ความดี หรือขนมเล็กๆน้อยๆ แล้วแต่ลักษณะนิสัยของลูกแต่ละบ้านได้เลยค่ะ

วันที่ 2-3 ของการฝึก

ทำเหมือนวันที่ 1

หากมีเหตุจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมเสื้อผ้าสำลองติดไปด้วย หากลูกทำเลอะเทอะก็อย่าดุลูก แค่เปลี่ยนชุดใหม่ แล้วบอกลูกว่า เราอึ/ฉี่ที่ห้องน้ำ

ฝึกกลางวันดีกว่ากลางคืน

การฝึกขับถ่ายช่วงกลางวันจะทำได้ง่ายกว่าช่วงกลางคืน คุณพ่อคุณแม่ลองประเมินความพร้อมของลูกดูนะคะว่าจะฝึกทั้งกลางวันกลางคืน หรือจะฝึกแค่ช่วงกลางวันก่อน คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาหรือถามความสมัครใจของลูกได้ด้วยว่าลูกพร้อมเลิกแพมเพิร์สแบบไหนให้ลูกเลือกด้วยตัวเอง เป็นการเสริมความมั่นใจของลูกเพิ่มขึ้นค่ะ

ลูกจะเริ่มเข้าใจวิธีการมากขึ้น

เมื่อเข้าวันที่ 3 ของการฝึกคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเห็นว่าลูกเริ่มเข้าใจคอนเซปต์ของการฝึกนั่งกระโถน / ชักโครกมากขึ้น

หยุดฝึกสักระยะ หากลูกยังไม่พร้อม

หากฝึกไปสักระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าลูกยังไม่พร้อม หรือรู้สึกไม่ดีกับการนั่งกระโถน คุณพ่อคุณแม่สามารถหยุดการฝึกได้ทันทีนะคะ อาจทิ้งช่วงห่างไปอีกสัก 2-3 อาทิตย์ค่อยลองฝึกใหม่อีกที อย่าบังคับหรือฝืนลูก เพราะอาจส่งผลเสียทำให้เป็นเด็กไม่อยากนั่งชักโครก ส่งผลต่อลักษณะนิสัยการขับถ่ายที่ไม่ดีได้ค่ะ

การฝึกขับถ่ายให้ลูกอาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากของคุณแม่ด้วยเช่นกันที่ต้องปรับตัวเรื่องความเลอะเทอะของลูกในช่วงแรก ๆ ที่ลูกอาจยังไม่สามารถทำตามคำแนะนำของคุณแม่ได้ทันที  ต้องเหนื่อยเพิ่มในการซักเสื้อผ้าสกปรก เช็ดทำความสะอาดบ้าน ตอนแม่กิฟท์ฝึกลูกก็ต้องย้ายลูกมานอนกลางวันที่พื้นค่ะ ใช้ฟูกบาง ๆ ราคาไม่แพง จะได้ไม่เสียดาย และทำความสะอาดง่ายหน่อย ใส่กางเกงผ้าอ้อมแบบซักได้ เมื่อลูกปัสสาวะลูกจะรู้สึกแฉะ ๆ ไม่สบายตัว แต่ปัสสาวะจะไม่ไหลลงพื้นทันที ทำให้แม่ดูแลได้ง่ายขึ้น ลูกก็สามารถจับความรู้สึกเลอะเทอะได้ด้วยตัวเอง คุณแม่ท่านอื่นอาจลองนำวิธีนี้ไปใช้ดูได้นะคะ


Mommy Gift

158,210 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save