แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวมีลักษณะวิธีการเลี้ยงลูกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างอาทิหน้าที่การงาน, เวลา และภาระอื่น ๆ เป็นต้น ปัจจุบันเราอาจพบบ่อยว่าหลายครอบครัวมีช่องว่างระหว่างวัยข้างเยอะ ทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่กล้าพูดคุยหรือเปิดอกคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และเป็นเหตุผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนจึงเป็นหนึ่งวิธีที่พ่อแม่สมัยนิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงดูลูกน้อยเพื่อลดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์และทำให้ลูกกล้าเปิดใจคุยกับเรามากขึ้น โดยที่ลูกยังคงให้ความเคารพในฐานะที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อยู่ หรือเรียกได้ว่า เป็นการเลี้ยงลูกแบบมีขอบเขตนั่นเอง
การเลี้ยงลูกแบบเพื่อน คืออะไร
การเลี้ยงลูกแบบเพื่อน เป็นหนึ่งวิธีที่พ่อแม่ ผู้ปกครองใช้สำหรับเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูก ๆ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้ลูกเกิดความไว้ใจ กล้าพูดคุย ปรึกษาพ่อแม่มากขึ้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนมักเป็นคนใจดีและมีความรักต่อเด็ก ๆ เข้าใจเด็กมาก ๆ ไม่มีข้อจำกัด เมื่อพูดถึงเรื่องวินัย
อย่างไรก็ตามการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนในบางครอบครัวอาจกลายเป็นปัญหา เนื่องจากลูกไม่มีความเคารพและโต้เถียงคุณพ่อคุณแม่ด้วยอารมณ์ที่ต้องการการเอาชนะ ดังนั้น การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนมีทั้งข้อดีและเสีย หากครอบครัวไหนใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบเพื่อนอาจต้องมีข้อจำกัด หรือขอบเขตบางอย่างร่วมด้วย
ลักษณะของพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบเพื่อน
มาลองสังเกตุและเช็คลักษณะกันว่าบุคคลิกของเราเหมาะกับการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนหรือไม่ หรือหากครอบครัวไหนกำลังสนใจการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนมาดูว่าคุณพ่อคุณแม่อย่างเรา ควรมีลักษณะอย่างไรบ้างสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้
- ชอบเป็นเพื่อนกับลูกมากกว่าที่จะวางอำนาจเหนือลูก สามารถคุยเล่นเป็นเพื่อนโดยไม่ใช้อำนาจความเป็นพ่อแม่กับลูกมากนัก เป็นเหมือนเพื่อนอีกคนของลูกที่เขาสามารถไว้วางใจได้
- ออกกฎน้อยและ / หรือไม่สอดคล้องกัน ไม่มีข้อบังคับหรือกฎกติกาใด ๆ ในครอบครัว รวมถึง บางครั้งตั้งกฎเกณฑ์ด้วยกันแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใช้อย่างจริงจัง
- เน้นเสรีภาพมากกว่าความรับผิดชอบ เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำตามใจชอบมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต ปล่อยตามธรรมชาติและความอิสระในการเรียนรู้
- ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากเกินไป แทนที่จะกำหนดผลลัพธ์ มักให้โอกาสลูกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเอง ให้พบกับประสบการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง
- มองเห็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงมาก ๆ เป็นโอกาสในการเรียนรู้
ข้อดีของการเลี้ยงลูกแบบเป็นเพื่อน
ลูกเชื่อใจไว้วางใจพ่อแม่
แน่นอนว่าการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนเขาจะมองเราเป็นเหมือนเพื่อนอีกคนที่สามารถวางใจได้ หากลูกมีปัญหาลูกจะกล้าปรึกษา พูดคุยกับเราทุกเรื่อง
มีอิสระทางความคิด
การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนทำให้ลูกเกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการทางด้านความคิดที่กว้างขึ้น มีความคิดสร้างสวรรค์และมีมุมมองที่หลากหลาย
เสริมสร้างความมั่นใจให้ลูก
การที่ลูกมีอิสระทางความคิดทำให้เขาเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ กล้าออกจากกรอบที่วางไว้ ซึ่งประสบการณ์ต่างๆที่เขาได้สัมผัสมักส่งเสริมความมั่นใจ กล้าคิด กล้าตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
เทคนิคการเลี้ยงลูกแบบเพื่อน
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะมีลูกน้อย หรือหาวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้ลูกสามารถเปิดใจคุยกับเราได้ทุกเรื่อง การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนอาจตอบโจทย์ความต้องการของพ่อแม่ได้ มีเทคนิคการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนแบบไหนบ้างที่ช่วยให้ช่องว่างระหว่างวัยของเรากับลูกลดลง และสามารถคุยกับลูก ๆ อย่างเปิดใจได้มากขึ้นไปดูกันค่ะ
รับฟังความคิดเห็นของลูก
เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่าง ๆ ไม่มองความคิดเห็นของลูกเป็นเรื่องของเด็กหรือเรื่องไร้สาระ
วางตัวเป็นเพื่อนอย่างมีขอบเขต
ลูก ๆ อาจต้องการเพื่อนในการขอคำปรึกษา, แลกเปลี่ยน หรือแสดงความคิดเห็น ดังนั้นเมื่อลูกมีปัญหาให้วางตัวเป็นเพื่อนมากกว่าฐานะพ่อแม่ และต้องวางตัวอย่างมีขอบเขตเพราะลูกยังต้องการคนชี้นำเขาอยู่
ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขามีคุณค่าในตัวเอง
มีเวลาแสดงความรัก ความห่วงใย กล่าวคำชื่นชม หรือการกอด สามารถทำได้ทั้งทางคำพูดหรือภาษากาย น้ำเสียง สายตา ท่าทาง หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงกับลูก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางในการสร้างให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเองได้
ให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเอง
เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองคิด ตัดสินใจบางเรื่องที่สำคัญด้วยตัวของเขาเอง ไม่ชี้นำ บังคับ สั่งการลูกมากจนเกินไป ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้สิ่งนั้นด้วยตัวเอง พ่อแม่อาจอยู่ข้าง ๆ คอยสนับสนุนเขาในยามที่เขาต้องการ
สื่อสารเป็นประจำ
การสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two-way Communication) เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะการสื่อสารทำให้เราและลูกเข้าใจกันมากขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยลดปัญหาช่องว่างความสัมพันธ์ในครอบครัวลงได้อีกด้วย
เรียนรู้และเข้าใจกันและกัน
ไม่ว่าลูกจะทำผิดพลาด หรือเกิดปัญหาอะไรขึ้น พ่อแม่ควรเป็นคนที่อยู่ข้างเขาให้คำแนะนำในสิ่งที่ถูก ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งในฐานะของพ่อแม่ที่อบอุ่นและในฐานะเพื่อนที่คุยได้ทุกเรื่อง
ขอบเขตเลี้ยงลูกแบบเพื่อน
การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนมีข้อดีหลายอย่าง ทำให้ลูกกล้าเปิดใจพูดคุย ปรึกษา ไว้วางใจเรามากขึ้น อย่างไรก็ตามอย่างที่กล่าวไปว่าการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนก็ยังมีข้อเสียเช่นกัน ดังนั้น การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนของคุณพ่อคุณแม่ควรต้องมีการกำหนดขอบเขตของพฤติกรรม หรือข้อตกลง และต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ ชี้นำสิ่งที่ถูกต้อง มีการใช้เหตุและผลอธิบายและรับฟังความคิดเห็นของลูก เพื่อให้ลูกเกิดความเคารพคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนอาจไม่จำเป็นต้องให้อิสระหรือเคร่งครัดกับลูกมากเกินไป พ่อแม่สามารถปรับสไตล์การเลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับลูกและคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เชิงบวกมากขึ้นได้ค่ะ
การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนเป็นวิธีที่พ่อแม่สมัยใหม่นิยมใช้เลี้ยงลูกน้อย เพื่อลดช่องว่างของความสัมพันธ์ ให้ลูกไว้ใจการปรึกษา พูดคุยกับพ่อแม่ได้ในทุก ๆ เรื่อง อย่างที่กล่าวไปการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปรับวิธีให้เหมาะสมกับตัวเราและลูกเพื่อให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกมากขึ้น ควรมีขอบเขตและข้อตกลงร่วมกันกับลูกบ้างเพื่อให้ลูกยังเคารพและไม่มีความเกรงใจเราในฐานะพ่อแม่ เพราะการเลี้ยงลูกแบบเพื่อนนั้น เขาไม่ได้ต้องการเพียงเพื่อนที่เข้าใจ แต่ลูกยังต้องการคนชี้นำสิ่งที่ถูกต้องให้กับตัวเขาด้วยในคราวเดียวกัน