วัยต่อต้าน โรคดื้อต่อต้าน (ODD) คืออะไร? เริ่มที่อายุเท่าไหร่? แก้อย่างไร?
เมื่อลูกของเราโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องพอเจอกับความลำบากในช่วงหนึ่ง นั่นก็คือช่วงที่ลูกอยู่ในวัยต่อต้าน ทั้งดื้อ ทั้งไม่ยอมฟัง ไม่ทำตามกฎระเบียบที่เคยตกลงร่วมกัน ทั้งยังมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายเกินกว่าปกติ หากลูกของคุณมีอาการเหล่านี้เรียกได้ว่าเข้าข่าย “โรคดื้อต่อต้าน” แล้วล่ะค่ะ ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่าลูกดื้อตามวัยแต่ความเป็นจริงแล้วถ้าปล่อยเอาไว้นานจะส่งผลเสียต่อลูกในอนาคตได้ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องวัยต่อต้านมาฝากทุกคนกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะได้เตรียมรับมือได้ทันท่วงทีและด้วยความเข้าใจค่ะ
วัยต่อต้าน คืออะไร?
วัยต่อต้านหรือสามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “โรคดื้อต่อต้าน Oppositional Defiant Disorder : ODD” เป็นพฤติกรรมที่จะแสดงให้ผู้ปกครองเห็นในช่วงวัย 1-2 ปีและในช่วงที่จะก้าวเข้า สู่วัยรุ่น เด็กจะรู้สึกอยากใช้ความคิดของตัวเองมากยิ่งขึ้น ต่อต้านคำสั่งคำแนะนำต่าง ๆ มีพฤติกรรมดื้อมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าการดื้อของเด็กจะเป็นเรื่องปกติแต่เมื่อปล่อยให้ดื้อจนนานเกินไปหรือดื้อเกินกว่าเด็กในช่วงวัยเดียวกันจะส่งผลเสียต่อทั้งตัวของเด็กเอง ส่งผลเสียต่อครอบครัว และส่งผลเสียต่อสังคมได้
อาการ วัยต่อต้าน โรคดื้อต่อต้าน
เด็กที่อยู่ในช่วงวัยต่อต้านมักแสดงอาการให้ผู้ปกครองเห็นได้ชัดว่าเขาไม่ต้องการทำในสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ เด็ก ๆ อยากที่จะทำตามความต้องการของตนเองมากกว่า ซึ่งการการที่แสดงออกหลัก ๆ ว่าเด็กเป็นโรคดื้อต่อต้านมีดังนี้
ตั้งใจที่จะก่อกวน
เด็กจะปฏิบัติตนแบบก่อกวน ก่อความรำคาญ หรือเมื่อใดที่รู้สึกว่าตนเองแพ้จะหาทางตอบโต้ด้วยวิธีของตัวเอง
พูดไม่เพราะ
เมื่อเด็กอยู่ในวัยต่อต้านมักจะพูดจาไม่เพราะ ใช้แต่คำหยาบคาย เถียงพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดเวลา ไม่ทำตามข้อตกลง รวมไปถึงไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองทำผิด
หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย
เด็กจะมีอารมณ์ที่รุนแรงมากกว่าปกติ หงุดหงิดมากกว่าที่เคยเป็น มีอารมณ์ฉุนเฉียว จะรู้สึกไม่พอใจทุกครั้งที่ผู้ปกครองพูดหรือดุ
วัยต่อต้าน สาเหตุ
วัยต่อต้านมักมีสาเหตุเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุมาจากตัวเอง สาเหตุมาจากครอบครัวและที่สำคัญคือสาเหตุจากการดูแลฝึกวินัย
ปัจจัยที่มาจากตัวเด็กโดยตรง
เป็นเด็กที่มีพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ยากกว่าเด็กปกติ มีส่วนในการควบคุมยับยั้งอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดี มีความผิดปกติในระบบสารสื่อประสาท มีความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย รวมไปถึงมีความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาหรือเป็นโรคสมาธิสั้น
ปัจจัยจากครอบครัว
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่ดีเท่าที่ควรในตอนเด็ก อาจจะทำให้พื้นฐานการเลี้ยวดูลูกไม่ถูกต้องเท่าที่ควร การทำงานอย่างหนักหน่วงของผู้ปกครองก็ส่งผลให้เด็กสามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน อีกหนึ่งความสำคัญคือความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวถ้ามีปากเสียงกันอยู่เสมอจะส่งผลให้เด็กอารมณ์ฉุนเฉียวได้
ปัจจัยที่มาจากการเลี้ยงดู
เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบปล่อยปะละเลยจะส่งผลให้เด็กเชื่อฟังผู้ปกครองน้อยลงเป็นอย่างมาก การใช้ความรุนแรงแทนการสอนหรือการตามใจเด็กมากจนเกินพอดีจะส่งผลให้เด็กมีอารมณ์ก้าวร้าวหรือดื้อมากยิ่งขึ้น
วิธีปรับพฤติกรรม ลูกต่อต้าน
เด็กในวัยต่อต้านมักจะฟังพ่อแม่ผู้ปกครองน้อยลง เพราะพวกเขาจะเน้นใช้อารมณ์และความคิดของตัวเองในการตัดสินใจทุก ๆ อย่าง จนทำให้ผู้ปกครองเกิดอาการณ์เครียดเรามีแนวทางการปรับพฤติกรรมเมื่อลูกต่อต้านมาฝากกันค่ะ
ปรับพฤติกรรม
การเสริมแรงทางบวกให้แก่ลูกนับว่าเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติเป็นอย่างมาก ไม่ว่าลูกจะทำความดีอะไรก็ตามสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือให้คำชมโดยตรง เช่น หนูเล่นแล้วเก็บของเล่นเข้าที่แบบนี้เก่งมากเลยลูก เป็นต้น และเมื่อเด็กทำผิดการลงโทษต้องไม่ใช่การใช้ความรุนแรงเพราะสิ่งที่จะตามมาคือเด็กก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน
การที่ผู้ปกครองสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกับลูก ใช้เวลาว่างร่วมกันไม่ว่าจะเป็น การทำอาหาร การทำขนม การปลูกต้นไม้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กลดความหงุดหงิดลงและรับฟังผู้ปกครองมากยิ่งขึ้น
การดูแลและฝึกวินัย
การฝึกวินัยในการใช้ชีวิตให้เด็กนับว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเวลาในการรับประทานอาหาร เวลาในการเข้านอน ควรสร้างกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนแต่ก็ต้องมีเหตุผลประกอบไปด้วยเช่นเดียวกันและผู้ปกครองควรทพการติดตามผลของกฎเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ลูกมีระเบียบวินัย
เด็กที่สามารถเป็นโรคดื้อต่อต้านได้จะอยู่ในช่วงวัย 2-3 ขวบ (Terrible Twos) และช่วง 10 ขวบ ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ที่เคยสร้างไว้ ซึ่งสาเหตุโดยส่วนใหญ่แล้วมาจากผู้ปกครองที่ใช้ความรุนแรงหรือเลี้ยงดูลูกแบบตามใจมากเกินไป หรือสาเหตุจากเด็กที่มีอาการสมาธิสั้น หากคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำทางด้านบนแล้ว 1-2 เดือน ลูกยังไม่ดีขึ้นจำเป็นที่จะต้องพบจิตแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป