ลูกวัยรุ่นหนีออกจากบ้าน สาเหตุ พร้อมวิธีป้องกัน

ลูกวัยรุ่นหนีออกจากบ้าน ปัญหาที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
การเลี้ยงลูก

ไม่ใช่เฉพาะเด็กเล็ก ๆ เท่านั้นที่ “บ้าน” ในความรู้สึกของพวกเขาคือ เซฟโซน หรือสถานที่ที่เขาจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย และอบอุ่นหัวใจอย่างที่สุด เพราะแม้แต่เด็กวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่อย่างเราทุกคน ต่างก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่า “บ้านคือวิมานของเรา” แต่หากความจริงมันมิได้เป็นเช่นนั้นเล่า อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ซึ่งมีความอ่อนไหว และมีอารมณ์ที่แปรปรวนได้ง่าย หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งกระทบความรู้สึกของพวกเขาอย่างรุนแรง และมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา ให้หนีออกจากบ้านได้

สาเหตุที่ลูกหนีออกจากบ้าน

ข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงาเปิดเผยว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ลูกหนีออกจากบ้านมีอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ ลูกหนีออกจากบ้านเพราะต้องการหนไปให้พ้นจากความทุกข์ที่ประสบอยู่ และหนีออกจากบ้านเพื่อต้องการค้นหาความสุข ซึ่งอาจสรุปเป็นรายละเอียดของสาระสำคัญได้ดังนี้ คือ

อยู่บ้านแล้วไม่มีความสุข

โดยเฉพาะการที่ลูกต้องพบเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ กันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกัน บางครั้งก็พาลมาทุบตีลูกด้วย รวมไปถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยในสวัสดิภาพของตนเอง เช่น การถูกพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรือญาติที่มาพักอาศัยอยู่ด้วยทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัว อึดอัด ทรมานใจ เป็นต้น

วิธีสร้างความสุขภายในบ้าน

คือ คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนพฤติกรรมจากการชอบดุด่า พูดจาทำร้ายจิตใจ หรือทำโทษลูกอย่างรุนแรง มาเป็นการสร้างความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยให้กับลูก โอบกอด ปลอบโยนเมื่อลูกมีทุกข์ ให้กำลังใจเมื่อลูกรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ ไม่ทำโทษด้วยการดุด่าว่ากล่าว หรือทุบตีอย่างรุนแรงเมื่อลูกทำผิด แต่ใช้การอธิบายด้วยเหตุผลแทน อาจมีคำชื่นชมบ้างเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี ที่เหมาะสม เป็นต้น

เพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนเกิน

ปัญหานี้มักเกิดกับครอบครัวที่คุณพ่อ หรือคุณแม่แต่งงานมีครอบครัวใหม่ ทำให้ลูกคิดว่าตนเองไม่มีความสำคัญ พ่อหรือแม่ไม่รักตนเองเท่ากับครอบครัวใหม่ ก่อให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า จนบางครั้งก็ใช้วิธีเรียกร้องความสนใจแบบผิดๆ เมื่อถูกว่าถูกตำหนิ ก็จะรู้สึกเสียใจมาก จึงตัดสินใจประชดด้วยการหนีออกจากบ้าน เป็นต้น

วิธีทำให้ลูกรู้ว่าลูกสำคัญ

คือ อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของครอบครัว บอกให้ลูกรู้ว่าลูกยังสำคัญสำหรับพ่อและแม่เสมอ แสดงให้ลูกเห็นว่า ลูกไม่ได้เป็นส่วนเกินของครอบครัว แต่ลูกคือส่วนสำคัญของครอบครัว

ถูกล่อลวงโดยคนแปลกหน้า

บางครั้งเมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าคนรอบข้างไม่มีใครเข้าใจตนเองเลยสักคน ทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนอยู่ตัวคนเดียวในโลก จึงเป็นโอกาสให้คนแปลกหน้าเข้ามาตีสนิท และทำการล่อลวงเด็กๆ ให้หนีออกจากบ้านได้โดยง่าย

วิธีป้องกันการถูกล่อลวง

คือ เตือนลูกเสมอๆ เกี่ยวกับเรื่องภัยของเทคโนโลยี เช่น การคบเพื่อนทางอินเตอร์เน็ต คนที่ไม่รู้จักตัวตนที่แท้ สอนลูกด้วยการยกตัวอย่างข่าวสารหรือเหตุการณ์จริงที่ปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับการถูกล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต

ติดเพื่อน ติดแฟน

บางครั้งแม้ว่าครอบครัวจะไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของความรุนแรง พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือพ่อแม่มีครอบครัวใหม่ แต่ลูกวัยรุ่นก็ยังรู้สึกเหมือนว่าตนเองขาดความเข้าใจ ขาดความรัก รู้สึกเหมือนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เด็กๆ จึงตัดสินใจไปอยู่กับเพื่อน หรือแฟน เพราะเชื่อว่า เพื่อนสนิท หรือแฟนคือคนที่เข้าใจตนเองมากที่สุด

วิธีป้องกันการติดเพื่อนหรือแฟน

คือ สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เช่น หาเวลาพูดคุย หรือทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกัน อาจให้ลูกพาเพื่อน หรือแฟนมาร่วมกิจกรรมของครอบครัวได้ด้วย เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของครอบครัว เป็นต้น

ตามใจมากไป หรือเข้มงวดไป

การเลี้ยงดูที่เข้มงวดจนเกินไปจะกลายเป็นแรงกระตุ้น ที่บีบคั้นจิตใจให้ลูกอยากหนีออกจากบ้าน เพราะไม่อยากถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนไม่อยากทำ ในขณะที่การตามใจมากจนเกินไป กลับเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนีออกจากบ้านโดยไม่รู้ตัว เพราะเด็กๆ อาจคิดว่า พ่อแม่ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจว่าตนจะอยู่บ้านหรือไม่ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน เพื่อเป็นการประชด ซึ่งโดยมากในกรณีนี้เด็กวัยรุ่นมักจะไม่หนีออกจากบ้านไปอยู่คนเดียว แต่จะไปพักกับเพื่อนสนิท หรือแฟน เป็นต้น

วิธีการเลี้ยงลูกแบบสายกลาง

คือ ไม่เข้มงวดกับลูกจนเกินไป ควรให้ลูกมีอิสระทางความคิดและการกระทำบ้าง สอนลูกให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสิน หรือไม่ตามใจลูกมากจนเกินไป เช่น ซื้อของแพงๆ ให้ทุกครั้งที่ลูกอยากได้ เป็นต้น

ทำตามค่านิยมวัยรุ่นแบบผิด ๆ

ภาพยนตร์และสื่อต่างๆ มีส่วนสำคัญสำหรับความรู้สึกนึกคิดของลูกวัยรุ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อที่มักแสดงเรื่องราวการประชดประชันครอบครัว โดยการหนีออกจากบ้าน เพื่อยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ค่านิยมที่วัยรุ่นมักคิดว่า การหนีออกจากบ้านไปอยู่ตามลำพัง หรือใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้ เป็นเรื่องโก้เก๋ เก่งกาจ กล้าหาญ ทำให้ดูแข็งแกร่ง มีภาวะผู้นำ เป็นต้น

วิธีป้องกันความคิดที่ผิด

คือ ปลูกฝังความคิดที่ถูกต้อง สอนให้ลูกเข้าใจถึงภัยอันตรายที่มีอยู่รอบตัวจากคนแปลกหน้า หรือสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การหนีออกจากบ้านไม่ใช่ทางออกของปัญหา หากลูกมีเรื่องใดไม่สบายใจ ให้พูดคุยหรือบอกกับพ่อแม่ตามตรง เพื่ที่จะได้ช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป

6 วิธีเช็คพฤติกรรมก่อนลูกหนีออกจากบ้าน

1.ดูกระเป๋าเสื้อผ้า

ดูว่าลูกเก็บกระเป๋าเสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวที่สำคัญออกไปด้วยหรือไม่ ถ้านำไปด้วยแสดงว่าลูกมีการเตรียมตัวที่จะหนีออกจากบ้าน แต่ถ้าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยังอย่ครบ อาจสันนิษฐานได้ว่า ลูกไม่ได้มีการเตรียมตัว หรืออาจมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับลูกขณะเดินทางกลับบ้าน

2.มีปัญหากับใครหรือไม่

พิจารณาดูว่า ในระยะ 1 เดือนก่อนหน้าที่ลูกจะหนีออกจากบ้าน เคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับคนในครอบครัวหรือลูกถูกทำโทษอย่างรุนแรงหรือไม่ เช่น ถูกยึดโทษศัพท์มือถือ ถูกเฆี่ยนตี ถูกกักขัง เป็นต้น

3.ถามเพื่อนสนิท

ตรวจสอบไปยังเพื่อนสนิทของลูก และครูที่โรงเรียน เพื่อหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด

4.ถามแฟนลูก

ถ้าลูกมีแฟน แฟนของลูกก็คืออีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่จะติดตามหาตัวลูกให้พบ เพราะส่วนใหญ่แล้ว เด็กวัยรุ่นที่หนีออกจากบ้าน มักไม่หนีไปอยู่คนเดียว

5.เช็คพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์

พฤติกรรมก่อนการหายตัวไปของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เช่น ลูกอาจเล่นแชตหรือคุยโทรศัพท์กับใครเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะเวลากลางคืน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ลูกหนีไปอยู่กับคนนั้น เป็นต้น

6.สังเกตการใช้โซเชียลมีเดีย

ช่องทางการสื่อสารที่เด็กใช้ก่อนการหายตัวออกจากบ้าน เช่น ใช้โทรศัพท์ติดต่อใครบ้าง? ใช้อินเตอร์เน็ตโปรแกรมไหน ติดต่อกับใคร ให้ตรวจสอบจากข้อมูลการใช้งานเหล่านั้น เป็นต้น

แนวทางปฏิบัติเบื้องต้น กรณีลูกรหนีออกจากบ้านแล้ว

ขอความช่วยเหลือ

โดยปกติแล้ว เด็กวัยรุ่นที่หนีออกจากบ้านมักมีแนวโน้มที่จะกลับมาได้เอง หากได้รับแรงผลักดันจากพ่อแม่ เพื่อนสนิท หรือแฟน

ปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดู

ถ้าหากปัญหาที่เด็กหนีออกจากบ้านคือ ความรุนแรงในครอบครัว การถูกทำร้าย หรือสภาวะการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม แม้ว่าเด็กจะถูกตามตัวกลับมา พวกเขาก็จะหาทางหนีออกจากบ้านอีกจนได้ ความสัมพันธ์ที่เปราะบาง ความไม่เข้าใจ รวมถึงความไม่ใส่ใจของทุกคนในครอบครัว คือความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กหนีออกจากบ้านได้ทุกเมื่อ

สามารถสอบถามข้อมูลคนหาย หรือเด็กหนีออกจากบ้านได้ที่มูลนิธิกระจกเงา โทร. 080 775 2673

สรุป

อย่างไรก็ตาม การที่ลูกวัยรุ่นหนีออกจากบ้านอาจเป็นแค่บทสรุปของการตัดสินใจ (และอาจไม่ใช่ปลายทางของปัญหา) ซึ่งก่อนจะมาถึงการตัดสินใจในขั้นเด็ดขาดนี้ เราทุกคน (โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง) ควรเหลียวกลับไปมองสำรวจความสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัวอีกครั้ง เพื่อหาทางแก้ไขข้อบกพร่อง ก่อนที่จะมาถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ลูกทนไม่ได้ จนต้องหนีออกจากบ้าน และนั่นอาจสายเกินไปที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองจะหาทางป้องกันผลร้ายที่จะตามมาก็เป็นได้…


waayu

330,876 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save