อีกหนึ่งปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาคลาสสิกของคุณพ่อคุณแม่นั่นก็คือ “ทำไมลูกชอบกัดเล็บ?” และ “จะแก้ไขหรือจะปรับพฤติกรรมอย่างไรดี?” ปัญหานี้โน้ตก็เคยเจอค่ะ ไปค่ะ เราไปดูสาเหตุ และวิธีแก้ไขกันแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น และที่สำคัญลูกไม่หงุดหงิดอีกด้วยค่ะ
ทำไมลูกชอบกัดเล็บ?
การที่คุณพ่อคุณแม่จะแก้ไขหรือจะปรับพฤติกรรมอะไรสักอย่างของลูก สิ่งหนึ่งที่จำเป็นมาก ๆ เลยก็คือ การที่เราต้องรู้สาเหตุค่ะ แต่สาเหตุที่ลูกชอบกัดเล็บนั้นสามารถเกิดได้หลายอย่าง ดังนี้
- ลูกกำลังใช้ความคิดอย่างหนัก
- ลูกกำลังเครียด หรือวิตกกังวลอยู่กับอะไรสักอย่าง
- กำลังมีสมาธิ หรือมีใจจดจ่อกับบางเรื่องเป็นอย่างมาก
- ลูกรู้สึกเหงา และเบื่อ
- ลูกทำตามคนเลี้ยงดู
- ลูกเลียนแบบเพื่อน
- ลูกมีความโกรธ โมโห แต่หาทางออกไม่ได้
ผลเสียจากการที่ลูกชอบกัดเล็บ
การที่ลูกชอบกัดเล็บ แน่นอนว่าต้องมีผลเสียแน่ ๆ โน้ตจะขอแบ่งออกเป็นแต่ละด้าน ดังนี้นะคะ
ผลเสียต่อบุคลิกภาพ
- เพราะการกัดเล็บจะทำให้เล็บเว้าแหว่ง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของลูกดูไม่มี
- มีฟันที่เก ผิดรูป หรือบิ่น ส่งผลให้ฟันไม่สวย รักษาความสะอาดได้ยาก
- เด็กบางคนมีหนังรอบ ๆ เล็บที่ดูไม่สวยไปด้วย เพื่อถูกน้ำลายมาก จนทำให้ผิวชั้นนอกเปื่อย และขาด
ผลเสียด้านจิตใจ
- เด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานนั้น ๆ หรือสิ่งนั้น ส่งผลต่อให้เด็กมีความคิดแบบ Low Self-esteem (การไม่นับถือตัวเอง) อีกด้วย คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ
- ไม่กล้าแสดงออก หรือแสดงออกแต่ไม่สุด เพราะความคิดเรื่องเล็บไม่สวยดึงรั้งไว้
- ไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากการขาดความมั่นใจในข้างต้น
- สุดท้าย คือ ขาดความเป็นผู้นำ
ผลเสียต่อสุขภาพ
- เล็บผิดรูปอย่างถาวร ยิ่งถ้าลูกกัดเข้าไปถึงฐานเล็บ และกัดเข้าไปถึงเนื้อ ก็จะทำให้เลือดออกได้
- เล็บติดเชื้อ เช่น จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงเชื้อไวรัสทีผิวหนัง ซึ่งเชื้อโรคดังกล่าวปนเปื้อนมากับน้ำลายนั่นเอง
- เคลือบฟันสึกกร่อน ฟันบิ่น ฟันเก ดูแลรักษายาก ส่งผลให้ฟันดำ และผุ
- เป็นการรับเชื้อโรคเข้าร่างกาย ที่อาจติดอยู่กับซอกเล็บ ซึ่งทำให้เกิดโรคได้ เช่น โรคท้องร่วง อาเจียน โรคมือ เท้า ปาก รวมถึงโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงโรคพยาธิเส้นด้าย เป็นต้น
วิธีแก้ไขพฤติกรรมลูกชอบกัดเล็บ
วิธีแก้พฤติกรรมลูกชอบกัดเล็บ สามารถทำได้หลายวิธีค่ะ
อธิบายผลเสียของการกัดเล็บให้ลูกฟัง
ข้อนี้จะเป็นการพูดคุยอย่างมีเหตุมีผลค่ะ อธิบายให้ลูกฟังถึงผลกระทบหากลูกยังชอบกัดเล็บอยู่แบบนี้ จะส่งผลเสียในเรื่องอะไรบ้าง เช่น ถ้าหนูยังกัดเล็บอยู่แบบนี้ เล็บของหนูก็จะกุด ดีไม่ดีกุดเข้าเนื้อ เลือดออก เจ็บนิ้วอีกจะเล่นก็ลำบาก ประมาณนี้ค่ะ
ไม่พูดหรือทำอะไรที่กดดันลูก
เพราะสาเหตุหนึ่งที่ลูกชอบกัดเล็บก็มาจากความเครียด ความกังวลใช่ไหมคะ ดังนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่หาสาเหตุก่อนว่าที่ลูกกัดเล็บนั้นมาจากอะไร เช่น อาจจะต้องเข้าเรียนในชั้นอนุบาล ซึ่งลูกเกิดความกังวล ไม่อยากห่างจากคุณพ่อคุณแม่ และลูกก็ไม่รู้ว่าที่โรงเรียนจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แบบนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ถามลูกเลยค่ะว่าใช่สาเหตุนี้ไหม ถ้าใช่…ให้คุณพ่อคุณแม่พูดอธิบายกับลูกในเชิงบวก พร้อมกับพาลูกไปเดินดูโรงเรียน และห้องเรียนที่เขาจะเรียน เพื่อลดความกังวลให้ลูกค่ะ
ไม่ควรดุด่าลูก
เช่น “กัดเล็บอีกแล้ว อยากนิ้วกุดหรือไง? กัดอยู่ได้” แบบนี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนจิตใจลูกอีกด้วยนะคะ
แสดงท่าทางนัย เพื่อบอกว่าไม่ควรกัดเล็บ
เช่น เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกกำลังกัดเล็บ ให้เอามือแตะลูกเบา ๆ และเตือนลูกว่าหนูกำลังกัดเล็บอยู่ เพราะมีหลาย ๆ กรณีเลยค่ะ ที่ลูกกัดเล็บไปโดยที่ไม่รู้ตัว
เบี่ยงเบนความสนใจด้วยกิจกรรมอื่น
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกน้อยกัดเล็บ ให้รีบชี้ชวนลูกชมนกชมไม้ หรือหาของเล่นมาชวนลูกเล่นไปก่อนค่ะ เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ หรือจะหากิจกรรมที่เล่นกันเพลิน ๆ ยาว ๆ ไปเลยได้ยิ่งดีค่ะ เป็นการใช้เวลาคุณภาพกับลูกได้อีกด้วย
ตัดเล็บลูกให้สั้นเสมอ
การตัดเล็บลูกให้สั้นอยู่เสมอก็เป็นอีกตัวช่วยที่ดีค่ะ แต่ก็มีเหมือนกันที่แม้ว่าเล็บจะสั้นแล้ว แต่ลูกก็ยังพยายามแซะกัด ถ้าเจอแบบนี้ให้คุณแม่แตะที่มือลูกเบา พร้อมกับส่ายหน้าและส่งสายตาว่าไม่ควรกัดเล็บ เท่านี้ก็พอค่ะ
ป้ายยาขมหรือบอระเพ็ด
ข้อนี้อาจใช้ได้กับเด็กบางคนนะคะ เพราะโน้ตเคยลองแล้วค่ะ กับยาขม เอามาฝนที่ปลายเล็บ เริ่มแรกน้องมินก็ขม แต่นาน ๆ ไป อร่อยค่ะ กินยาขมจนหมด สรุปลูกสามารถทลายกำแพงแห่งยาขมไปได้ ก็กัดเล็บต่อเลยทีนี้
เมื่อยาขมเอาไม่อยู่ โน้ตก็ใช้วิธีแตะมือห้ามเบา ๆ ค่ะ เราอาจจะเหนื่อยหน่อยในช่วงแรก แต่สุดท้ายแล้วลูกก็จะเลิกกัดเล็บไปเองจากการคุยกับลูกด้วยเหตุและผลค่ะ เพราะลูกโตขึ้น เขาจะสามารถเข้าใจอะไร ๆ ได้มากขึ้นเอง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นสักหน่อย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- ทำอย่างไรให้ลูกมี Self-esteem (การเห็นคุณค่าในตัวเอง)