Site icon simplymommynote

ทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่…จริงหรือ?

ทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่...จริงหรือ

ทารกท้องเสีย

แม่มือใหม่หลังคลอดตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ แต่ก็เจอปัญหาว่าลูกถ่ายบ่อยเป็นสิบครั้ง คล้ายอาการทารกท้องเสียจนแม่ชักกังวลใจว่าลูกท้องเสียจากน้ำนมแม่หรือเปล่า เพราะถ่ายเยอะจนก้นแดงไปหมด แถมลูกยังร้องงอแง แบบนี้ลูกแพ้อะไรหรือเปล่า ควรหยุดนมดีไหม หรือต้องไปหาหมอดี วันนี้เรามีข้อมูลมาแนะนำค่ะ

สารบัญ

Toggle

น้ำนมแม่ส่วนหน้า และน้ำนมแม่ส่วนหลัง

น้ำนมแม่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งสำหรับลูก เพราะเต็มไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ครบตามความต้องการ ของลูกในแต่ละช่วงวัย มีภูมิคุ้มกันโรค และสามารถลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กแรกเกิดได้ เพราะมีไขมันดีที่ช่วยพัฒนาสมอง และมีน้ำตาลในน้ำนมที่เป็นอาหารให้แบคทีเรียตัวดีในลำไส้ใช้ในการป้องกันการท้องร่วงได้ด้วย

น้ำนมแม่ส่วนหน้า

นมแม่ส่วนหน้าจะมีลักษณะใส เนื่องจากมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 80 % มีปริมาณไขมันต่ำกว่า มีวิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอกับความต้องการของลูก มีน้ำตาลแลคโตส ที่ช่วยพัฒนาสมอง ระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ทั้งยังช่วยดูดซึมแคลเซียม และธาตุเหล็กด้วย และน้ำนมแม่ส่วนหน้านี้ยังสามารถเก็บแยกไว้สำหรับกระตุ้นการขับถ่ายของลูกเมื่อมีปัญหาท้องผูก

น้ำนมแม่ส่วนหลัง

น้ำนมแม่ส่วนหลังจะมีความข้นกว่าน้ำนมแม่ส่วนหน้า เนื่องจากมีโปรตีนและไขมันสูงกว่า หากนำไปเก็บในถุงนมหรือขวดนมไว้จะสังเกตเห็นว่านมแม่ส่วนหลังเกิดการแยกชั้นเป็นสีขาว หรือเป็นไขมัน บางครั้งนำไปแช่แข็งแล้วอาจขึ้นเป็นดอกขาว ๆ ซึ่งยังสามารถให้ลูกดื่มได้ตามปกติ เพราะอุดมไปด้วย Omega, ARA และไขมันดีหลากหลายชนิดที่จะนำไปสร้างใยสมอง ช่วยในการเพิ่มน้ำหนักตัวของลูก และช่วยให้ลูกอึได้อย่างปกติ

ทารกท้องเสีย จากน้ำนมแม่ได้จริงหรือ?

จากการทำความเข้าใจเรื่องน้ำนมแม่แต่ละส่วนไปแล้วนั้นจะเห็นว่า การที่ลูกกินแต่นมแม่อย่างเดียวแล้วถ่ายบ่อยนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ โดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล ได้ให้เหตุผลว่าเพราะน้ำนมแม่ย่อยง่าย โดยเฉพาะทารกที่เกิดใหม่ใน 1 เดือนแรก เรียกได้ว่า กินนมแม่ไปถ่ายไปเลยก็มี แต่น้ำหนักของทารกก็ยังขึ้นได้ดี สำหรับทารกที่ถ่ายบ่อย จนก้นแดง อาจมีสาเหตุมาจาก

ปริมาณน้ำนมแม่มีมาก

เมื่อทารกกินนมแม่แล้วได้น้ำนมส่วนหน้าไปมากจนเต็มท้องก่อน จึงดูดไม่ถึงน้ำนมส่วนหลังเป็นผลให้ได้รับส่วนประกอบของน้ำเข้าไปมาก ส่งผลให้กระตุ้นการขับถ่าย

เปลี่ยนเต้าทั้งที่ยังไม่เกลี้ยงเต้า

ลูกเปลี่ยนเต้าทั้งที่ยังกินไม่เกลี้ยงเต้า การที่ทารกกินน้ำนมแม่จากเต้าแรกไม่นาน แล้วเปลี่ยนไปกินอีกข้างหนึ่ง หรือเปลี่ยนไปมาบ่อย ๆ ในมื้อเดียวกัน ทั้งสองกรณีนี้ จะทำให้ลูกได้น้ำนมแม่ส่วนหน้าเข้าไปมาก ซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่สูง ทำให้ผ่านลงไปสู่ลำไส้เร็วกว่า และแลคโต๊สจำนวนมากที่ลงสู่ลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้รับมือไม่ไหว ไม่สามารถดูดซึมได้หมด ทำให้มีแลคโต๊สมาก และมีน้ำออกมาจากผนังลำไส้เพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ถ่ายมีน้ำและลมปู๊ดป๊าดมาก

ทั้งนี้ แลคโต๊สในน้ำนมแม่นั้นทารกย่อยได้อยู่แล้ว เพียงแต่ปริมาณที่ลงสู่ลำไส้มากกว่าที่ควร เพราะผ่านลงไปเร็ว ลำไส้จึงย่อยไม่ทัน

วิธีรับมือ ทารกท้องเสีย

เมื่อลูกถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย ถ่ายจนก้นแดงจากการกินน้ำนมแม่ มีวิธีรับมือดังต่อไปนี้ค่ะ

แม่บีบนมออกครึ่งเต้า

หากแม่มีน้ำนมแม่มาก ให้แม่บีบน้ำนมส่วนหน้าที่มาก ๆ ออกก่อนสักครึ่งเต้า เอาไปแช่แข็งไว้ก่อน แล้วค่อยเอาลูกเข้าเต้า โดยทำอย่างนี้ทั้งสองข้างสักระยะหนึ่งลูกก็จะเริ่มถ่ายดีขึ้น

ให้ลูกดูดให้เกลี้ยงเต้า

หากลูกกินนมแม่จากเต้าแรกไม่นาน แล้วเปลี่ยนไปกินอีกข้าง ให้แก้ปัญหาด้วยการให้ลูกดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้าเป็นข้าง ๆ ไป ให้ได้น้ำนมส่วนท้ายที่มีไขมันมากจะได้อยู่ท้อง และไม่ลงไปทำให้มีน้ำมากในลำไส้

ลักษณะอุจจาระทารกปกติ ที่กินนมแม่อย่างเดียว

ก่อนที่จะรู้ว่าลูกท้องเสีย หรือถ่ายผิดปกติหรือไม่นั้น พ่อแม่จะต้องรู้จักความปกติอุจจาระลูกเสียก่อน ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกต…

โดยอุจจาระทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะค่อนข้างเหลว บางครั้งทารกก็ถ่ายเป็นน้ำ ทำให้แม่คิดว่าทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่ ตั้งแต่วัยทารกแรกเกิดหรือเพิ่งคลอด สีอุจจาระของทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจออกมาเป็นน้ำสีเขียว ๆ ปนเม็ดมะเขือ เป็นน้ำสีเหลือง หรือน้ำสีเขียวจำนวนไม่มากติดออกมากับผ้าอ้อม บางคนมีมูกเขียว ๆ ปนออกมาด้วย กลิ่นของอุจจาระจะยังคงเป็นกลิ่นหอมอ่อน ๆ ต่างจากลักษณะ อุจจาระทารกท้องเสียทั่วไปที่จะมีกลิ่นเหม็นเน่าหรือเหม็นเปรี้ยวอันเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส

ลักษณะอุจจาระทารกที่กินนมแม่ตามช่วงวัย

พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล บอกเล่า ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ว่า ลักษณะและสีของอุจจาระทารก จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุของทารกและอาหารที่แม่รับประทานเข้าไปด้วย โดยมีการเปลี่ยนแปลงของอุจจาระทารกที่กินนมแม่ตามช่วงวัย ดังนี้

อุจจาระทารกแรกเกิด 1-2 วันแรก

ทารกจะถ่ายไม่บ่อย เพียงวันละ 1 – 2 ครั้ง ในช่วง 1-2 วันแรก ลักษณะอุจจาระทารกแรกเกิด จะเหนียว สีจะออกสีเขียวเข้มถึงดำคล้ายน้ำมันดิน เรียกกันว่า ขี้เทา

อุจจาระทารกแรกเกิด วันที่ 2

เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สีของอุจจาระทารกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางลง ลักษณะของอุจจาระเริ่มมีน้ำปนมากขึ้น ทารกบางคนมีสีน้ำตาลปนเม็ด ๆ ในอุจจาระ อย่างไรก็ตาม ทารกที่ขับถ่ายขี้เทาได้ดีในวันแรก ๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ทารกได้รับพลังงานจากน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ ข้อดีอีกอย่างคือ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตัวเหลืองหลังคลอด

อุจจาระทารกแรกเกิด วันที่ 3-4

สีอุจจาระจะค่อย ๆ จางลงจากเขียวเข้มเป็นสีเขียวปนเหลือง เพราะทารกได้ดูดนมแม่บ่อยขึ้น ลักษณะของอุจจาระจะเหนียวน้อยลงและมีน้ำปนมากขึ้น และทารกจะเริ่มขับถ่ายบ่อยขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 4 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว

อุจจาระทารกแรกเกิด วันที่ 4 เป็นต้นไป

เมื่อถึงวันที่ 4 ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจถ่ายท้องคล้ายกับอาการท้องเสีย สีอุจจาระทารกออกเป็นสีเหลืองทอง คล้ายโจ๊กใส่ฟักทอง ลักษณะอุจจาระจะนิ่ม ๆ จนถึงขั้นเหลว เพราะมีน้ำปนอยู่มาก หากสังเกตผ้าอ้อมจะเห็นว่า เนื้ออุจจาระอยู่ตรงกลาง มีน้ำอยู่รอบๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่อาการท้องเสียของทารกที่กินนมแม่!

อุจจาระทารก อายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์

ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ จะถ่ายโดยมีเนื้ออุจจาระมากขึ้น และถ่ายท้องได้ 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อวัน ทารกบางคนถ่ายน้อย ๆ แต่ถ่ายบ่อย ๆ หลังจากดูดนมแม่ทุกครั้ง เป็นสัญญาณที่ดีว่าทารกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอ ลักษณะอุจจาระคล้ายเม็ดมะเขือปนอยู่ มีสีเหลืองทอง

อุจจาระทารก อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงอุจจาระทารกในช่วงนี้จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น ลักษณะอุจจาระจะมีเนื้อมากขึ้น จากที่เคยเละเป็นโจ๊ก จะคล้ายกับยาสีฟันเหนียว ๆ สีอุจจาระมีตั้งแต่สีเหลืองทองจนถึงสีออกเขียวปนเหลือง สีของอุจจาระทารกในช่วงนี้จะเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทาน ส่วนจำนวนครั้งก็จะลดลงเหลือ 1-2 ครั้ง

วิธีสังเกตลูกท้องเสีย เพราะไม่สบาย

ทารกที่กินแต่นมแม่อย่างเดียว อุจจาระไม่ควรมีเลือดสีแดงปนหรืออุจจาระมีกลิ่นเหม็นเน่า หากพบว่าอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรนำลูกไปหาหมอ

ในบางครั้งถึงแม้ว่าลูกถ่ายบ่อย แต่ไม่มีไข้ ยังกินได้ปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส น้ำหนักตัวก็ขึ้นตามปกติ ท้องไม่อืด ไม่ได้อาเจียน ลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าลูกท้องเสีย ซึ่งแม่เพียงแค่ปรับวิธีอุ้มลูกเข้าเต้าให้ลูกได้รับน้ำนมแม่ส่วนหลังเพิ่มมากขึ้น เพียงเท่านี้การถ่ายของลูกก็จะดีขึ้นได้ค่ะ

Exit mobile version