เนื่องจาก “อารมณ์” จะส่งผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออก เด็กที่เข้าใจอารมณ์ของตัวเองจะไม่ค่อยแสดงออกโดยใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว และท้าทาย เพราะเมื่อเขาเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง เขาก็จะหาทางออกที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้เช่นกัน ดังนั้น การสอนลูกให้รู้จักอารมณ์ของตัวเองจะช่วยให้ลูกมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีทักษะในการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ และพ่อแม่จะได้เบาใจว่าลูกจะรับมือกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้
สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ของตัวเอง
การสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง พ่อแม่สามารถสอนได้ตั้งแต่ยังเล็กเพื่อช่วยให้ลูกทำความเข้าใจภาวะอารมณ์ของตัวเอง และเลือกคำศัพท์ที่จะใช้อธิบายอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง ด้วยวิธีการเหล่านี้ค่ะ
ให้คำศัพท์ด้านอารมณ์แก่ลูก
พ่อแม่ต้องสอนคำศัพท์ด้านอารมณ์พื้นฐานให้กับลูก หากลูกอยู่ในช่วงก่อนวัยเรียนคำศัพท์ก็จะแยกอารมณ์ง่าย ๆ เช่น สุข โกรธ เศร้า และกลัว แต่ถ้าลูกโตขึ้นมาหน่อยจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้คำศัพท์ความรู้สึกที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น หงุดหงิด ผิดหวัง และประหม่า เพื่อให้ลูกนำไปใช้สะท้อนอารมณ์ที่เกิดขึ้นของลูกได้
เชื่อมโยงคำศัพท์กับประสบการณ์จริงของลูก
การที่พ่อแม่คอยเล่าถึงความรู้สึกของตัวเอง หรือสะท้อนความรู้สึกของคนอื่นให้ลูกฟังเป็นการสอนให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจ โดยการถามลูกว่า “ตอนนี้ลูกคิดว่าเขารู้สึกอย่างไร” หรือลูกอาจสังเกตสีหน้า และท่าทางของพ่อแม่เวลาที่เล่าถึงความรู้สึกต่าง ๆ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่พ่อแม่พบเจอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าคนอื่นก็มีความรู้สึกเช่นกัน หากลูกรู้ว่าการผลักเพื่อนลงไปที่พื้นอาจทำให้เพื่อนโกรธและเศร้า ลูกก็อาจเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น
เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
พ่อแม่หรือผู้ที่ดูแลลูกเป็นหลักจะเป็นตัวอย่างได้ดี เพราะเด็กเรียนรู้จากการลอกเลียนแบบค่ะ ลูกจะเฝ้าดูพ่อแม่อยู่ตลอดเวลาราวกับกล้องวงจรปิด ดังนั้นคงไม่ดีแน่ถ้าลูกเห็นคุณโยนโทรศัพท์ลงพื้นหลังการสนทนาที่ดุเดือด หรือพ่อขับรถบนถนนแล้วมีรถปาดหน้าอย่างกระชั้นชิด พ่อก็อาจจะพูดขึ้นมาว่า “มันทำให้พ่อโกรธมากที่ขับรถปาดหน้าแบบนี้ และพ่อก็ตกใจและกลัวเพราะมันอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีคนบาดเจ็บได้” ลูกก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงของอารมณ์ สถานการณ์ และวิธีการแสดงออก
พูดคุยเรื่องความรู้สึกในชีวิตประจำวัน
สิ่งสำคัญต่อมาคือ พ่อแม่ควรถามลูกในแต่ละวันด้วยว่า “ตอนนี้ลูกรู้สึกอย่างไร” เพื่อให้ลูกได้ลองสำรวจอารมณ์ตัวเองในขณะนั้น หรือหากพ่อแม่สังเกตเห็นอารมณ์แบบไหนในตัวลูกก็สามารถสะท้อนให้ลูกฟังได้ เช่น ตอนนี้ลูกดูมีความสุขจังเลยที่จะได้กินไอศกรีม เป็นต้น
วิธีสอนลูกให้จัดการอารมณ์ของตัวเอง
อารมณ์มีสองด้าน คืออารมณ์เชิงบวก และอารมณ์เชิงลบ แต่ส่วนใหญ่อารมณ์ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาและควรได้รับการจัดการที่ดีคืออารมณ์เชิงลบ เพราะมักจะตามมาด้วยพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พ่อแม่สามารถช่วยสอนให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้
พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน
ในสถานการณ์ที่ลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากอารมณ์เชิงลบพ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ก่อนโดยไม่อารมณ์เสียไปกับลูกด้วย และการที่พ่อแม่ใจเย็นก็ไม่ได้แปลว่าพฤติกรรมก้าวร้าวนี้ลูกสามารถทำได้
สะท้อนอารมณ์ให้ลูกฟัง
หากลูกกำลังขวางปาสิ่งของ หรือทุบตี ให้เข้าไปกอดหรืออุ้มลูกออกจากตรงนั้น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อลูกพร้อมจึงบอกกับลูกว่า “แม่รู้ว่าหนูโกรธ” “พ่อรู้ว่าหนูอึดอัดใจ” ประโยคเหล่านี้จะช่วยบอกว่าตอนนั้นอารมณ์ของลูกเป็นอย่างไร เพราะเด็กหลายคนไม่เข้าใจอารมณ์ของตัวเอง หรือลูกก็รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรแต่ไม่รู้เรียกว่าอะไร จึงเล่าออกมาไม่ถูก การที่พ่อแม่เรียกชื่ออารมณ์จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่า เขารู้สึกอย่างไร ทำให้ในอนาคตเขาสามารถเรียกความรู้สึกนี้ และบอกเล่าให้คนอื่นฟังได้ การที่เรารู้และบอกเล่าความรู้สึกได้เป็นสิ่งที่จะทำให้เราจัดการกับอารมณ์ของเราได้ดีขึ้น
พ่อแม่ต้องรับฟังความรู้สึกและเรื่องราวของลูก
“ไหนลองเล่าให้แม่ฟังสิ” หรือ “ลองบอกพ่อสิมันเป็นอย่างไร หนูโกรธเรื่องอะไร” เป็นการสร้างความรู้สึกว่าพ่อแม่รับฟัง พ่อแม่เห็นว่าเขาสำคัญ พ่อแม่รักเขา การรับฟังลูก ให้ลูกได้เล่าเรื่องออกมา จะทำให้ลูกได้เรียบเรียงความรู้สึก ความคิดที่มันยุ่งเหยิงอยู่ในสมองออกมาเป็นคำพูด จึงได้จัดระเบียบของความคิด และทำให้เกิดความเข้าใจตัวเองที่มากขึ้นส่งผลให้อารมณ์ที่มันมีมากก็จะสงบลงได้
ถามถึงความคาดหวัง และวิธีการแก้ไขปัญหาที่ลูกต้องการ
เมื่อลูกเล่าเรื่องราวเสร็จแล้วพ่อแม่สามารถถามต่อว่า เช่น ลูกคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร? (เป็นการฝึกลูกให้รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน) ลูกอยากจะทำอย่างไร? หรือลูกต้องการอะไร? เพื่อให้ลูกได้ทบทวนว่าเขาต้องการเห็นว่าภาพมันเป็นอย่างไร แม้ว่าการแก้ปัญหาของลูกจะเป็นวิธีดีหรือไม่ดีพ่อแม่ก็ต้องรับฟังก่อน เพื่อช่วยหาความต้องการที่แท้จริงของลูก รวมไปถึงช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม
ช่วยลูกคิดหาทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิม
หากสิ่งที่ลูกเห็น หรืออยากให้เกิดขึ้น มันไม่ได้ส่งผลดีอะไร พ่อแม่สามารถกระตุ้นด้วยคำถาม “มีวิธีดีกว่านี้อีกไหม” แล้วจึงค่อยเสริมความคิดของคุณลงไป เช่น “อืม…พ่อว่าเรื่องนี้เราควรจะแก้ปัญหาแบบนี้… ที่ลูกโกรธเรื่องนี้เราควรจัดการแบบนี้ดีกว่า…” เวลาคุณทำแบบนี้ คุณกำลังสอนวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
การสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง และวิธีการรับมือ บางครั้งพ่อแม่ก็ต้องอาศัยจังหวะที่ดีในการเข้าหาลูก หากอารมณ์ของลูกยังรุนแรงอยู่อาจให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเองสักพัก สนับสนุนให้ลูกขอเวลานอก หรืออยู่กับตัวเองเงียบ ๆ เมื่อลูกรู้สึกพร้อมจึงค่อยพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพ่อแม่เองก็จะได้ทบทวนอย่างรอบคอบ และลูกเองก็พร้อมที่จะเล่าหรือรับฟังความเห็นค่ะ