ลูกขี้งอน พร้อม 10 เคล็ดลับ รับมือ

ลูกขี้งอน พร้อม 10 เคล็ดลับ รับมือ
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2023 03 24

ลูกของคุณมักแสดงอาการขี้งอน น้อยใจ และอ่อนไหวกับการที่คุณขัดใจ ตักเตือน ตำหนิ หรือห้ามไม่ให้ลูกทำอะไรบางอย่างอยู่เสมอหรือเปล่า ???? เพราะพฤติกรรมเชิงลบเหล่านี้ลูกทำเพื่อแสดงว่าพวกเขาไม่พอใจ โกรธ หรือหงุดหงิดกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งเขาไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้อย่างชัดเจน และบางครั้งอาจซ่อนมาด้วยการเรียกร้องความสนใจ และความไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเองด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้ในระยะยาวคงไม่ดีแน่ พ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นลูกขี้งอน และหาวิธีรับมือที่ดี

อาการ ลูกขี้งอน

อาการขี้งอน หรือน้อยใจ เป็นอารมณ์ฉุนเฉียวแบบเงียบ ๆ เป็นหนึ่งในพฤติกรรมของเด็กจำนวนมาก เด็กที่มักทำหน้าบูดบึ้ง เจ้าอารมณ์และแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้าที่บึ้งตึง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการตอบสนองเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวของพวกเขา เพื่อแสดงว่ากำลังโกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิด หรือมากกว่านั้น

พฤติกรรมขี้งอนเป็นเรื่องปกติมากในเด็กเล็กและวัยรุ่น แต่ในเด็กบางคน อาจเป็นอาการของบุคลิกภาพผิดปกติ และความผิดปกติทางอารมณ์ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ควรเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลจะต้องมีวิธีจัดการพฤติกรรมเหล่านี้ในทางบวก เพราะการพยายามให้เหตุผลหรือตำหนิพวกเขาในขณะที่เขากำลังหงุดหงิด อาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง และทำให้พวกเขาต้องแสดงพฤติกรรมเชิงลบที่มากขึ้นไปอีก

ทำไม ลูกขี้งอน?

หากคุณถามตัวเองว่า “ทำไมลูกถึงอารมณ์เสียตลอดเวลา?” แสดงว่าคุณควรทำความเข้าใจที่มาของอารมณ์ที่เกิดขึ้นของลูกเสียก่อน เพื่อที่จะได้รับมือได้อย่างละมุนละม่อม ต่อไปนี้คือสาเหตุบางประการที่คุณอาจคาดไม่ถึง

ลูกไม่รู้คำศัพท์มากพอ

ลูกยังไม่สามารถแสดงความรู้สึกผ่านคำพูดได้ ไม่รู้คำศัพท์ และคำพูดเกี่ยวกับอารมณ์ของตัวเอง จึงแสดงความไม่พอใจหรือหงุดหงิดด้วยการงอน แบบต่าง ๆ ที่ลูกคุ้นเคย

ลูกขาดทักษะในการจัดการอารมณ์

ลูกขาดทักษะการจัดการด้านอารมณ์ จึงทำให้ไม่สามารจัดการความรู้สึกด้านลบได้อย่างถูกวิธี

ลูกไม่กล้าสื่อสารออกมา

ลูกกลัวที่จะสื่อสารกับคุณโดยตรง หรือลูกรู้สึกไม่สนิทใจที่จะเปิดเผยความรู้สึกทั้งที่สามารถใช้คำพูดสื่อสารได้ดี อาจเป็นเพราะพ่อแม่เข้มงวดเกินไป

เรียกร้องความสนใจ

ลูกทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณ แม้จะต้องทำพฤติกรรมเชิงลบ เพื่อจะได้รับการตอบสนองเชิงลบของพ่อแม่กลับมาก็ตาม แต่อย่างน้อยก็แสดงว่าพ่อแม่ให้ความสนใจกับตนเอง

กำลังทดสอบพ่อแม่

ลูกกำลังใช้วิธีนี้จัดการหรือทดสอบคุณอยู่ หากพ่อแม่มักปล่อยให้ลูกทำอาการแงงอนและตอบสนองลูกโดยการตามใจทุกอย่าง หรือแม้แต่พ่อแม่เองที่เป็นต้นแบบของพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ลูกเกิดการเลียนแบบ

วิธีรับมือ ลูกขี้งอน

มีหลายวิธีในการจัดการกับลูกขี้งอน น้อยใจ และอ่อนไหว บางวิธีอาจช่วยให้พ่อแม่รับมือได้ดีขึ้น และมีเคล็ดลับบางอย่างป้องกันไม่ให้ลูกขี้งอนได้ คือ

ใช้เวลาคุณภาพกับลูกมากขึ้น

พ่อแม่บางคนอาจไม่มีเวลาอยู่กับลูกมากนัก เพราะต้องทำงานประจำ แต่ลูก ๆ ก็ยังต้องการความเอาใจใส่ เล่นด้วยกัน ทานข้าวร่วมกันจากพ่อแม่อยู่ดี ดังนั้นพฤติกรรมขี้งอนหรือน้อยใจของลูกส่วนหนึ่งก็มาจากต้องการเรียกร้องความสนใจ และอาจรู้สึกไม่เชื่อมั่นว่าตนเองมีคุณค่ามากพอสำหรับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ให้ความสนใจในสิ่งอื่นมากกว่า ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการที่แม่เพิ่งคลอดน้อง หรือมีพี่น้องคนอื่น ๆ หากเป็นเช่นนี้พ่อแม่ควรเพิ่มเวลาคุณภาพให้กับลูกมากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง
เวลาคุณภาพ คืออะไร ต้องทำงานทั้งวัน ทำอย่างไรให้พ่อแม่มีอยู่จริง

ทำบ้านให้น่าอยู่

บ้านควรเป็นที่ที่ลูกรู้สึกปลอดภัย และมีอิสระในการแสดงความรู้สึก ดังนั้น พ่อแม่ควรทำบรรยากาศให้ผ่อนคลาย ปลอดภัย และไม่เข้มงวดจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่อลูกมีพฤติกรรมเชิงลบ พ่อแม่ควรสื่อสารกับลูกอย่างนิ่มนวล หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือโต้แย้งในบ้าน และพยายามทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันความรู้สึกต่อคนในครอบครัว

ชี้นำด้วยภาพ

พ่อแม่ลองใช้วิธีนี้ดูค่ะคือ เรียกชื่อลูกให้หันมา แล้วเลียนแบบท่าทางที่ลูกกำลังทำหน้าบึ้งตึง หรือปากคว่ำอยู่ แล้วใช้นิ้วมือเปลี่ยนมุมปากให้ยกขึ้นเป็นรอยยิ้ม เพราะภาพที่มองเห็นมักจะใช้ได้กับเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหว การทำเช่นนี้อาจส่งผลให้ลูกทำแบบเดียวกัน และถึงแม้จะใช้ไม่ได้ผลเสมอไป แต่พ่อแม่ก็สามารถลองทำดูได้ตลอดเวลา

เพิกเฉยต่อพฤติกรรมเชิงลบ

หากนอกเหนือจากการขี้งอน น้อยใจ หน้าบูด แล้วยังมีการโวยวาย กระทืบเท้า พ่อแม่อาจใช้การเพิกเฉย คือไม่ตอบสนองใด ๆ แม้กระทั้งการตอบสนองในเชิงลบ เช่น การดุ ว่ากล่าว หรือตำหนิ แล้วปล่อยให้ลูกได้ทำตามที่ต้องการ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น และก็จะค่อย ๆ ลดนิสัยนี้ลงในที่สุด

ส่งเสริมให้ลูกสื่อสารด้วยคำพูด

ให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ด้านอารมณ์ตามวัยอย่างเหมาะสม  พยายามกระตุ้นให้ลูกแสดงความรู้สึกผ่านคำพูด และสิ่งสำคัญคือต้องสอนว่าการสื่อสารด้วยคำพูดนั้นเป็นสิ่งที่ดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะทำให้พ่อแม่สามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง และตรงกับความต้องการของลูก

ให้ลูกได้ระบายความคิดและอารมณ์ด้วยวิธีอื่น

หากเป็นเด็กที่เขียนได้แล้วอาจลองให้ระบายความรู้สึกต่าง ๆ ผ่านการเขียนไดอารี่ อาจรู้สึกปลอดภัย และเป็นอิสระกว่า แต่หากเป็นเด็กเล็กที่ยังเขียนไม่ได้ พ่อแม่อาจลองจัดมุมศิลปะให้ลูกได้ขีดเขียน วาดรูป หรือระบายสีเพื่อเป็นการผ่อนคลายความรู้สึก

พ่อแม่ต้องใจเย็น

พ่อแม่เองก็ต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ อย่าแสดงอาการหงุดหงิด โกรธเคือง หรือดุด่าลูกเมื่อลูกแสดงอาการแง่งอน น้อยใจ หรืออ่อนไหว เพราะอาจยิ่งทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย จนไม่อยากจะพูดคุยหรือระบายความไม่พอใจออกมา

ทบทวน และตรวจสอบสิ่งที่ทำให้ลูกเครียด

บางครั้งการที่ลูกไม่มีสมดุลระหว่างการเล่น และการเรียนก็อาจส่งผลให้ลูกเครียด และมักมีอารมณ์หงุดหงิดกับสิ่งรอบตัว พ่อแม่ควรต้องสังเกตและจัดสมดุลให้ลูก เพราะการเล่นคือ วิธีการระบายอารมณ์ที่ดีที่สุดของเด็กเล็ก

ตอบสนองอย่างสอดคล้องกัน

ไม่ว่าพ่อแม่จะใช้วิธีใดในการตอบสนองต่ออาการแงงอนของลูก สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจำไว้ก็คือ ทั้งพ่อและแม่ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการงอน เช่น ปู่ย่า ตายาย และพี่เลี้ยงเด็ก จะต้องร่วมกันแก้ไขในแนวทางที่สอดคล้องกัน เช่น ถ้าแม่เพิงเฉยต่อพฤติกรรมแงงอนของลูก พ่อก็ต้องไม่โอ๋ หรือตอบสนองอย่างตามใจแก่ลูก เป็นต้น ไม่เช่นนั้นอาการเหล่านี้ก็จะคงอยู่ไปอีกนานแสนนาน

ให้ลูกทานอาหารที่ดีมีประโยชน์

จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ขาดสารอาหารมักมีอารมณ์แปรปรวน ดังนั้น พ่อแม่ควรดูแลเรื่องโภชนาการสารอาหารที่เหมาะสมแก่ลูกเพื่อให้มีพฤติกรรมที่กระฉับกระเฉง และมีสุขภาพดีด้วย อาทิ เมนูไข่ต่าง ๆ ที่ทำได้หลากหลายเมนู และมีประโยชน์มากทีเดียวค่ะ

จริง ๆ แล้วอารมณ์ด้านลบมักถูกมองเป็นผู้ร้ายเสมอ แต่บางครั้งอารมณ์เหล่านี้ก็แสดงให้เราเห็นถึงปัญหา หรือข้อผิดพลาดบางอย่างได้ด้วยเหมือนกันนะคะ การที่ลูกสะท้อนอารมณ์ออกมาเป็นเรื่องที่ดี พ่อแม่เองอาจจะได้คิดทบทวนถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำ หรือไม่ได้ทำ เพื่อจะได้พัฒนาและปรับปรุงตนเองไปพร้อม ๆ กับลูก เพราะเราไม่สามารถหยุดอารมณ์ด้านลบได้อย่างสมบูรณ์ ทำได้เพียงเป็นแบบอย่าง และช่วยลูกรู้จักการสื่อสารที่ดีขึ้นก็จะช่วยลดอาการของลูกขี้งอนลงได้ค่ะ


Mommy Gift

155,943 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save