ลูกพูดติดอ่าง พ่อแม่ควรทำอย่างไร?
เชื่อหรือไม่ว่าในส่วนพัฒนาการด้านการพูดของเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-6 ขวบ พบว่ามีปัญหาร้อยละ 5 และเด็กชายเป็นมากกว่าเด็กหญิง 3-4 เท่า ลักษณะการพูดไม่คล่องของเด็กในวัยนี้เป็นการพูดไม่คล่องแบบ Normal Dysfluency ทำให้เกิดอาการพูดซ้ำ ๆ และพูดอึกอัก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เด็ก 1 ใน 20 คน จะมีปัญหาพูดติดอ่าง บางคนแสดงความยากลำบากในการเปล่งคำพูดออกมาทางสีหน้า แต่ส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้เอง ซึ่งจะมีเพียง 1 ใน 100 คนที่มีปัญหาติดอ่างค่อนข้างนาน โดยทางการแพทย์ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่อาจสัมพันธ์กับความเครียด แรงกดดันจากครอบครัว หรือการตอบสนองของพ่อแม่ที่ไม่เหมาะสมได้ค่ะ
สาเหตุ ลูกพูดติดอ่าง
แม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการพูดติดอ่าง แต่ก็อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพูดติดอ่าง ได้แก่
พันธุกรรม
เด็กมากกว่าร้อยละ 70 ที่พูดติดอ่างจะมีสมาชิกในครอบครัวเคยพูดติดอ่างมาก่อน
ปัจจัยทางระบบประสาทและสมอง
สมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว รวมถึงบริเวณที่ชื่อ Wernicke’s area ทำงานมากกว่าปกติ หรือในเด็กที่ได้รับการบาดเจ็บของสมอง ทำให้อวัยวะที่เกี่ยวกับการพูดขาดการประสานงานกัน หรือมีระดับของการสื่อประสาทที่ชื่อว่า Dopamine มากกว่าคนปกติ
ปัจจัยด้านอารมณ์และจิตใจ
นั่นคือ เด็กมีความเครียดหรือวิตกกังวล เช่น ย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน เป็นต้น
ปัจจัยทางด้านพัฒนาการและการเรียนรู้
เด็กอาจถูกผู้ใหญ่เร่งรัดให้พูดเร็วเกินความพร้อมทางภาษาของเด็กหรือเกิดการเรียนรู้ที่ผิด
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องของครอบครัว เช่น ดุด่าเมื่อเด็กพูดไม่คล่อง ทำให้เด็กไม่กล้าพูด
อาการ พูดติดอ่าง
คนที่พูดติดอ่างจะมีอาการพูดไม่ทันความคิด พูดตะกุกตะกัก พูดไม่คล่อง ขาดความต่อเนื่องในการพูด มีการพูดซ้ำ ๆ มากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นพูด
การพูดซ้ำ
ยกตัวอย่าง เช่น
- พูดซ้ำเสียง เช่น “ป-ป-ป-ปาก”
- พูดซ้ำพยางค์ เช่น “แตง-แตง-แตง-แตงโม”
- พูดซ้ำคำ เช่น “พ่อ-พ่อ-พ่อ-ขอตังค์หน่อย”
- พูดซ้ำวลี เช่น “ไปกิน-ไปกิน-ไปกิน-ไปกินข้าว”
- พูดซ้ำประโยค เช่น “เสือวิ่ง-เสือวิ่ง-เสือวิ่งมา”
การพูดลากเสียง
เช่น “ส____________หวัดดีครับ”
หยุดพูดหรือพูดไม่ออกเป็นบางช่วง
เช่น “ไป______บ้านยาย”
มีคำ “เอ้อ” “อ้า” แทรกในระหว่างการพูด
เช่น “วันนี้หนู อ่า…อ่า…ไป ไป ซื้อขนมกับเพื่อนมาค่ะ”
ตอบสนองต่อคำถามช้า
หรือมีการลังเลที่จะพูดการพูดติดอ่างอาจมีพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก แกว่งแขน กะพริบตาถี่ๆ ไม่สบตาคู่สนทนา
มีอาการมากขึ้นเมื่อมีความคับข้องใจ
เด็กบางคนมีอาการพูดติดอ่างเพราะแม่เพิ่งคลอดน้องออกมาใหม่ พ่อต้องจากไปทำงานไกลๆ หรือเพราะย้ายบ้าน
มีความวิตกกังวล
ผู้ที่ติดอ่างบางคนมักมีความกลัว กังวล หรือความเครียด เมื่อต้องพูดต่อหน้าคนอื่น และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าตนเองจะพูดผิด แต่เมื่อร้องเพลง กระซิบ อ่านออกเสียงจะพูดได้คล่องขึ้น
การแก้ไข ลูกพูดติดอ่าง
พ่อแม่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเมื่อลูกพูดติดอ่างได้ดีที่สุดค่ะ เพราะใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด การแสดงออกหรือท่าทีของพ่อแม่จึงสามารถส่งผลต่อความมั่นใจในการพูดของลูกได้ โดย
พ่อแม่ควรเข้าใจลูก
โดยธรรมชาติของเด็กเล็กจะเรียนรู้จากการลอกเลียนแบบเป็นสำคัญ หากที่บ้านพ่อแม่พูดคุยกันอยู่เสมอ ชวนลูกพูดอยู่ตลอด ลูกจะเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร และคำศัพย์ต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรืออาจใช้แฟลชการ์ดเข้ามาเป็นตัวช่วยก็ได้ค่ะ เมื่อถึงช่วงวัย 2-6 ขวบที่ลูกพัฒนาด้านการสื่อสารอาจมีการพูดติดอ่าง เพราะดึงคำศัพท์มาใช้ไม่ทันใจที่อยากพูด หากพ่อแม่ที่ใกล้ชิดกับลูกอยู่แล้ว จะรู้ใจลูกได้ว่าลูกต้องการสื่อสารอะไร สามารถช่วยเสนอคำศัพท์ที่เหมาะสมให้ลูกได้ค่ะ
สนใจฟังสิ่งที่ลูกพยายามสื่อสาร
หลายครั้งที่ลูกพยายามพูดให้ทันพ่อแม่ เพราะกลัวว่าจะไม่มีช่องว่างให้ตัวเองได้พูด พ่อแม่ลองสำรวจตัวเองดูค่ะ ว่าพูดเร็วไปหรือเปล่า ออกคำสั่งจนไม่ฟังสิ่งที่ลูกต้องการไหม หรือไม่เว้นช่องว่างให้ลูกได้มีโอกาสพูดหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจไปกระตุ้นให้ลูกต้องพูดให้ไวขึ้นเพื่อที่จะแสดงความต้องการของตัวเองให้พ่อแม่รับรู้ จึงเกิดอาการพูดติดอ่างขึ้นค่ะ
ไม่เร่งเร้า หรือกดดันเมื่อลูกพยายามสื่อสาร
หากลูกมีอาการพูดติดอ่าง พ่อแม่จะต้องไม่สร้างความกดดันด้านท่าที สีหน้าที่ไม่พอใจ หรือทำบรรยากาศให้ตึงเครียด เพราะยิ่งมีความเครียด ความกดดัน จะยิ่งทำให้ลูกประหม่าในการพูด และทำให้เกิดความไม่มั่นใจที่จะพูด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการพูดติดอ่างของลูกในระยะยาวได้ค่ะ
ให้กำลังใจเมื่อลูกติดขัด
หากวันไหนหรือครั้งไหนที่ลูกสามารถพูดอย่างไม่ติดขัด พ่อแม่ต้องรีบชื่นชมถึงความพยายามของลูก และไม่พูดจี้จุดสิ่งที่ลูกยังทำไม่ดี สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยเสริมแรงให้ลูกมีกำลังใจที่จะพัฒนาทักษะการพูดของตัวเองให้ดีขึ้นได้ค่ะ
ชวนลูกเล่นและทำกิจกรรมที่ใช้ทักษะการพูด
ไม่ว่าจะใช้วิธีเล่านิทาน พูดคุย อ่านหนังสือ เล่นบทบาทสมมติ หรือสอนด้วยรูปภาพ จะช่วยทำให้ลูกรู้จักคำศัพท์มากขึ้น และสามารถนึกคำที่จะใช้สื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้นค่ะ ซึ่งวิธีการชวนลูกเล่นจะทำให้ลูกรู้สึกสนุก ผ่อนคลาย และไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกสอนหรือถูกฝึกอยู่
ลูกพูดติดอ่างพ่อแม่รู้สึกกังวลเป็นเรื่องปกติ วิธีแก้ไขก็คล้ายกับเรื่องอื่น ๆ คือ ทำตามความรู้สึกของพ่อแม่ได้เลยค่ะ ถ้าการพูดติดอ่างของลูก ทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่สบายใจ นั่นแปลว่าควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งลูกได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญการแก้ไขการพูดที่ผิดปกติได้เร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เพราะมีหลายเทคนิคที่จะช่วยให้ลูกพูดได้คล่องขึ้น และผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้ลูกและพ่อแม่เข้าใจปัญหาและปรับตัวได้ดีขึ้นด้วยค่ะ