จากปฐมวัยสู่ผู้ใหญ่ที่ดี ต้องปลูกฝังอะไรบ้าง?

จากปฐมวัยสู่ผู้ใหญ่ที่ดี ต้องปลูกฝังอะไรบ้าง
การเลี้ยงลูก

พัฒนาการทุกย่างก้าวสำหรับลูกน้อย คือสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อาจจะละลายตาได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งการเจริญเติบโตจากวัยทารก สู่ความเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนาน ผ่านช่วงวัยสำคัญๆ ตั้งแต่แรกเกิด หรือในช่วงปฐมวัย ก้าวเข้าสู่วัยเด็ก เปลี่ยนผ่านไปวัยรุ่น เพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป…

พัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้ง 5 ด้าน มีอะไรบ้าง

พัฒนาการทั้ง 5 ด้านของเด็กปฐมวัย ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนสำคัญของการพัฒนาในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

ด้านการเคลื่อนไหว (Gross Motor)

โดยการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การคลาน ลุกนั่ง ยืน เดิน วิ่ง เป็นต้น

ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญา (Fine Motor)

เช่น การใช้มือหยิบจับสิ่งของ การแยกแยะขนาด และรูปทรงได้ (ยกตัวอย่างการเล่นต่อบล็อก เป็นต้น)

ด้านการเข้าใจภาษา (Receptive Language)

สามารถรับฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เช่น เมื่อคุณแม่พูดว่า “หม่ำๆ” เด็กๆ ก็สามารถเข้าใจได้ว่า คุณแม่หมายถึงการกินอาหาร นั่นเอง

ด้านการใช้ภาษา (Expressive Language)

สามารถพูดโต้ตอบเป็นคำๆ หรือเป็นประโยคได้

ด้านการช่วยเหลือตนเอง และสังคม (Personal and Social)

เช่น สามารถใส่ถุงเท้า รองเท้าเองได้ แต่งตัวเองได้ เลือกเสื้อผ้าสวมใส่เองได้ และสามารถช่วยเหลือหยิบจับทำสิ่งต่างๆ ตามวัยของตนเองได้ เช่น มีหน้าที่ให้อาหารแมว รดน้ำต้นไม้ในกระถางเล็กๆ ช่วยคุณแม่ถือของเล็กๆ น้อยๆ ได้ เป็นต้น

ลักษณะของเด็กปฐมวัย

ปฐมวัย คือ ช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 5 ปี นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นของชีวิตวัยเด็ก ก่อนจะก้าวไปสู่ช่วงวัยที่เติบโตขึ้น เป็นวัยที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะมีลักษณะที่เด่นชัดตามช่วงวัยดังต่อไปนี้ คือ

ลักษณะของเด็ก วัยแรกเกิด – 3 ปี

ลักษณะของเด็กวัยแรกเกิด-3 ปี จะมีลักษณะ ดังนี้

ด้านความคิด

  • เด็กปฐมวัย เป็นวัยแห่งการเริ่มต้นการรับรู้ เรียนรู้ รู้จักคิด และทำความเข้าใจ

ด้านการสื่อสาร

  • การพูดซ้ำ ๆ เพื่อย้ำความต้องการของตนเอง หรือเพื่อบอกเล่าในสิ่งที่ตนเองได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการฝึกใช้คำพูดของตัวเด็กเอง และอาจหมายถึงสิ่งที่เด็กๆ ต้องการในเวลานั้นๆ ด้วยเช่นกัน
  • การพูดกับตนเอง เกิดขึ้นได้ทั้งยามที่เด็กอยู่ตามลำพัง และเมื่อมีเด็กคนอื่นๆ อยู่ด้วย

ด้านการแบ่งปัน

  • เด็กในวัยนี้จะยึดเอาสิ่งต่างๆ รอบกายว่าเป็นของตนเอง เช่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ ที่พวกเขาคุ้นเคย ว่าเป็นสิ่งของของตนเอง และไม่ยอมแบ่งปันให้ใคร

ลักษณะของเด็ก วัย 3 – 5 ปี

ลักษณะของเด็กวัย 3-5 ปี จะมีลักษณะ ดังนี้

ลักษณะทางกาย

  • ชอบการเคลื่อนไหว ไม่ชอบอยู่นิ่ง คล่องแคล่ว ว่องไว
  • กล้ามเนื้อเจริญเติบโตรวดเร็ว แข็งแรง โดยเฉพาะเด็กหญิง จะเจริญเติบโตเร็วกว่าเด็กชาย
  • การทำงานของระบบประสาท เช่น ดวงตา และมือ ยังไม่ค่อยสัมพันธ์กัน และยังไม่สามารถบังคับมือให้จับดินสอ เขียนหนังสือได้ถนัดนัก
  • กระดูกบางส่วนยังไม่แข็งแรงพอ เช่น กระโหลกศีรษะ นิ้วมือ นิ้วเท้า แขน ขา มือ และเท้า เป็นต้น

ลักษณะทางอารมณ์

  • เด็กปฐมวัยจะมีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา และมักจะเป็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น เวลาไม่พอใจก็จะร้องกรี๊ด ร้องไห้ ทุบ ตี เตะ หยิก หรือขว้างปาข้าวของ เป็นต้น
  • เมื่อพูดได้คล่องขึ้น การแสดงออกของอารมณ์อาจเปลี่ยนมาใช้คำพูดประกอบการกระทำด้วยเช่นกัน
  • มีอารมณ์อิจฉาริษยา โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าตนไม่มีความสำคัญ หรือสำคัญน้อยกว่า เช่น รู้สึกว่าพ่อแม่สนใจน้องมากกว่า ก็จะรังแกน้อง หรือแย่งสิ่งของจากน้อง เป็นต้น
  • เด็กวัยนี้จะแสดงอารมณ์รักออกมาในรูปของการกอด จูบ หอมแก้ม โดยเฉพาะเด็กๆ มักจะชอบใจ พอใจคนที่ตามใจ คนที่เล่นด้วย คนที่ทำให้สนุกสนาน คนที่ให้ของเล่น หรือขนม
  • เด็กในวัยนี้จะแสดงอารมณ์กลัวออกมาในรูปของการถอยหนี ตัวสั่น ร้องไห้ เช่น กลัวสัตว์บางชนิด กลัวฟ้าผ่า กลัวเสียงนกร้อง กลัวแม่หรือพ่อจากไป กลัวผี กลัวยักษ์ ฯลฯ
  • มีความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น กระตือรือร้น ช่างซักช่างถาม เริ่มที่จะเข้าใจและเรียนรู้เหตุและผล

ลักษณะทางสังคม

  • เด็กปฐมวัยจะสื่อสารกับผู้อื่นได้ อาจมีเพื่อน 1 – 2 คน แต่มิตรภาพไม่แน่นอน ส่วนใหญ่มักชอบเล่นกับเพื่อนในห้อง เป็นกลุ่มเล็กๆ และเป็นเพศเดียวกันมากกว่าเพื่อนต่างเพศ แต่ก็สามารถแยกแยะ และเล่นกับเพื่อนต่างเพศได้เช่นกัน วัยนี้อาจมีการทะเลาะกับเพื่อนบ้าง แต่จะโกรธไม่นาน สักพักก็จะลืม
  • ชอบการเล่นบทบาทสมมุติ (Role Play) แสดงเป็นคนอื่นที่ตนสนใจ เช่น เด็กบางคนเห็นพระสงฆ์แล้วรู้สึกสนใจ จึงชอบเล่นเป็นพระสงฆ์ บางคนชอบฮีโร่ ก็จะแสดงเป็นซุปเปอร์แมน หรือฮีโร่ที่พวกเขาสนใจ เป็นต้น

ลักษณะทางสติปัญญา

  • เด็กๆ ในช่วงวัยนี้สามารถมองเห็นภาพ และรูปทรงได้ชัดเจนขึ้น สามารถแยกแยะขนาด รูปร่าง รูปทรง และความแตกต่างของวัตถุได้
  • เด็กในวัย 2 – 4 จะเริ่มรู้จักเหตุ และผล เข้าใจคำสั่ง คำอธิบายของผู้ใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง
  • เด็กๆ ในวัยนี้จะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ และจดจำได้ มีความเข้าใจในภาษามากขึ้น รู้จักใช้คำพูดเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนเองมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ร่างกายและพัฒนาการต่าง ๆ กำลังเจริญเติบโต ดังนั้น การได้รับโภชนาการอาหารที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามอ่านบทความเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยได้ที่นี่

เด็กปฐมวัยควรปลูกฝังอะไรบ้าง

ทักษะสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้กับลูก ในช่วงปฐมวัย ได้แก่

การมีวินัย และความรับผิดชอบ

การปลูกฝังความมีวินัย และการรู้จักรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมาย จะทำให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น รู้จักการปฎิบัติตามหน้าที่ กติกา กฎ และระเบียบวินัย รู้จักการปฏิบัติตนให้ถูกกาลเทศะ ส่งผลให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติสุข เมื่อเขาเติบโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับของสังคม

การรู้จักปรับตัว

เด็กๆ จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจว่า ครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง หรือเครือญาติไม่ใช่สังคมเดียวที่เขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมด้วย แต่ยังมีสังคมของคนแปลกหน้าอื่นๆ ให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วย เช่น เพื่อน และครูที่โรงเรียน ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ รู้จักเห็นอกเห็นใจ รู้จักการเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะทำให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

ความคิดสร้างสรรค์

การมีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยรู้จักการพัฒนาความคิด รู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มีมุมมองต่อสรรพสิ่งรอบกายในทางที่ถูกที่ควร กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างขณะเดียวกันก็รู้จักที่จะผ่อนปรน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และสามารถลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม เมื่อเขาเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่กล้าแสดงออก ไม่ปลีกตัวเองออกจากสังคม หรือเก็บตัว

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถือเป็นทักษะสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็กๆ ทำให้เด็กๆ รู้จักการคิดอย่างมีเหตุผล และสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ เมื่อเติบโตขึ้นจะมองปัญหาได้รอบด้าน อละรู้วิธีแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ทำให้เป็นคนมีเหตุผล ไม่หนีปัญหา และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง โดยไม่หวั่นกลัว

ความภาคภูมิใจในตนเอง

ความภาคภูมิใจในตนเอง หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่เด็กๆ เกิดมามีครอบครัวฐานะร่ำรวย มีทุกสิ่งพร้อมสมบูรณ์ มีพ่อแม่และญาติพี่น้องที่รักและตามใจเขาทุกอย่าง แต่ความภาคภูมิใจที่คุณพ่อคุณแม่ต้องส่งเสริม ให้มีขึ้นในลูกปฐมวัยก็คือ ความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ มีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น และกล้าหาญ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพต่อไป นั่นเอง

สรุป

ปฐมวัยนับเป็นก้าวแรกแห่งการเจริญเติบโตของทารกเพื่อที่จะก้าวไปสู่ความเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น และเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพต่อสังคมต่อไป ดังนั้นจึงนับว่าเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการ และปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับลูกๆ ในวัยนี้ นั่นเอง


waayu

329,526 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save